นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 66
เรื่อง: ศิริวรรณ เต็มผาติ
ต้นไม้สามารถมีอายุยืนยาวได้อย่างน่าทึ่ง จะว่าไปแล้วมันมีอายุยืนยาวได้มากกว่าคนหรือสัตว์อื่นๆ ทั้งหลายบนโลกใบนี้เสียอีกต้นไม้สามารถเจริญเติบโตมีอายุเป็นหลักร้อยไปจนถึงหลักพันปีได้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และบางสายพันธุ์มีความโดดเด่นเหนือสายพันธุ์อื่น จนทำให้ติดลิสต์ต้นไม้ที่ยังมีชีวิตอยู่และมีอายุยืนยาวที่สุดในโลก
เริ่มต้นด้วยต้นสนบริสเติลโคนที่ The Great Basin Bristlecone (ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Pinus longaeva) ซึ่งตั้งอยู่ใน White Mountain แคลิฟอร์เนีย ได้รับการยอมรับให้เป็นต้นไม้ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยมีอายุมากถึง ๔,๘๕๔ ปี นั่นหมายถึงว่า มันเริ่มมีชีวิตมาตั้งแต่ยุคสมัยอียิปต์โบราณที่เริ่มสร้างปิรามิดกีซ่ากันเลยทีเดียว เพื่อให้จำกันง่ายขึ้น จึงมีคนตั้งชื่อฉายาให้มันว่า ‘Methuselah’ ซึ่งตั้งตามชื่อปรมาจารย์ที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลว่าเป็นผู้มีอายุยืนยาวที่สุด ต้นเมธูเซลาห์ถูกพบเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๗ และได้รับการตรวจสอบโดยสถาบัน Tree-Ring Research ที่ University of Arizona ต้นไม้สายพันธุ์นี้ทนทานต่อสภาพอากาศที่แปรปรวน รวมถึงอุณหภูมิที่สุดขั้ว ระดับความสูงสุดๆ เหนือน้ำทะเล และค่า PH ที่มีความต่างกันมาก ต้นไม้สายพันธุ์นี้จะเติบโตอย่างช้าๆ เพื่อให้ตัวมันเองมีชีวิตอยู่อย่างยั่งยืน
ต้นเมธูเซลาห์มีอายุยืนยาวแม้ว่าจะเผชิญอุณหภูมิที่หนาวจัด กระแสลมแรง และด้วยความที่มีอัตราการเติบโตช้ามากๆ มันก็เลยสร้างเนื้อไม้ที่แข็งแรง อาการสโลว์ไลฟ์ของเขานั้น ถึงขนาดที่ว่าในบางปีที่โตช้าเอามากๆ ก็จะไม่มีวงปีเพิ่มขึ้นเลย ต้นสนบริสเติลโคนยังมีคุณสมบัติต้านแมลง เชื้อรา การผุ แถมยังมีคุณสมบัติที่ค่อนข้างไม่ลามไฟง่ายด้วย ความสูงที่วัดได้เมื่อปีที่ผ่านมาคือราว ๑๕ 15 เมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๓.๘๕ เมตร
ต้นเมธูเซลาห์ครองแชมป์คุณทวดต้นไม้มานานหลายปี แต่เมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง ตำแหน่งแชมป์ก็ถูกโค่นอย่างไม่เป็นทางการโดยสนไซปรัสพาตาโกเนีย (Patagonian Cypress) ที่มีชื่อว่า Alerce Milenario (หรือ Gran Abuelo แปลว่า ‘คุณทวด’) ซึ่งได้รับการประเมินว่ามีอายุ ๕,๔๘๔ ปี สนต้นนี้ตั้งอยู่ใน Alerce Costero National Park ในประเทศชิลี แม้ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างแน่ชัด เนื่องจากขณะนั้นผลการวิจัยอายุต้นไม้ต้นนี้ทำโดยนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและนักวิจัยเพียงรายเดียว ซึ่งยังไม่ได้มีการตรวจสอบโดยนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆ แต่กระนั้นมันก็กลายเป็นข่าวที่กล่าวขวัญถึงไปทั่วในวงการ
แต่ไม่ว่าใครจะเป็นแชมป์จริง ใครจะเป็นตัวรอง คำถามที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนได้ตั้งข้อสงสัยคือ ท่ามกลางสภาวะอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงเช่นนี้ จะส่งผลต่อคุณทวดต้นสนทั้งสองต้นนี้อย่างไรบ้าง ไฟป่าเกิดขึ้นบ่อยครั้งในแคลิฟอร์เนีย ส่วนที่ชิลีอุณหภูมิก็สูงเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งนั่นหมายความว่า ต้นไม้ต้องการน้ำเพิ่มมากขึ้น พวกเขาคาดหวังว่าข่าวการมีต้นไม้อายุยืนยาวมากกว่า ๕,๐๐๐ ปี จะทำให้คนหันมาสนใจและหาทางแก้ไขวิกฤตด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น
ต้นไม้ที่มีอายุยืนยาวรั้งอันดับ ๓ นั้นคือต้น Sarv-e Abarqu เป็นต้นสนในอิหร่าน ที่ประมาณการกันว่ามีอายุอย่างต่ำ ๔,๐๐๐ ปี และมีหลายสำนักบันทึกไว้ว่าเป็นต้นไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชีย
อันดับ ๔ คือต้น Llangernyw Yew เป็นต้นสนยิวที่ปลูกบนสนามหญ้าของโบสถ์ St. Dygain’s Church ในเมืองเวลส์ ประเทศอังกฤษ มีอายุราว ๔,๐๐๐ ปี ซึ่งนั่นหมายถึงว่ามันถูกปลูกมาตั้งแต่ยุคสำริด และนั่นทำให้ในคราที่มีพิธีเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกของควีนอลิซาเบธที่ ๒ เมื่อปี ๒๐๐๒ ต้นไม้ต้นนี้ก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 50 Great British trees โดย Tree Council
อันดับ ๕ คือ Gran Abuelo ในชิลี มีอายุ ๓,๖๒๒ ปี เป็นตระกูลสนไซปรัสพาตาโกเนียเช่นกัน
อันดับ ๖ คือ The Senator เป็นต้นสนอายุ ๓,๕๐๐ ปี ในรัฐฟลอริดาที่เคยเผชิญกับไฟป่าและพายุเฮอริเคนมาแล้ว
อันดับ ๗ คือ Olive Tree of Vouves นี่คือหนึ่งในเจ็ดของต้นโอลีฟที่เชื่อกันว่ามีอายุอยู่ระหว่าง ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปี อยู่ที่เกาะ Crete ในประเทศกรีก
อันดับ ๘ Jōmon Sugi อยู่บนเกาะยากูชิมะ ญี่ปุ่น เป็นสนสึกิที่อายุมากสุดและใหญ่สุด มีอายุอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปี ผู้เชี่ยวชาญบางรายเชื่อว่าน่าจะมีอายุเก่าแก่มากกว่า ๓,๐๐๐ ปีเลย นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ยูเนสโกยกให้ยากูชิมะเป็นหนึ่งในสถานที่มรดกโลก
อันดับ ๙ มีชื่อต้นว่า Chestnut Tree of One Hundred Horses อยู่ที่ Mount Etna ใน Sicily orH
ประเทศอิตาลี จัดเป็นต้นเกาลัดที่ใหญ่สุดและมีอายุมากสุดในโลก เชื่อกันว่ามีอายุราว ๒,๐๐๐-๔,๐๐๐ ปี
อันดับ ๑๐ มีชื่อว่า General Sherman เป็นต้นซีคัวยายักษ์อายุราว ๒,๓๐๐-๒,๗๐๐ ปี มีความสูง ๘๒.๕๐ เมตร มีฐานลำต้นกว้างเกือบ ๑๑ เมตร อยู่ในแคลิฟอร์เนีย แม้ทางการจะมีการล้อมรั้วเอาไว้ แต่ที่นี่ก็กลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่คนนิยมไปเที่ยวชมและถ่ายรูปกันมาก
หากไม่นับความเป็นต้นไม้ต้นเดียวแล้ว กลุ่มต้นไม้ (Clonal Colony ต้นไม้ที่ไม่ได้มีระบบรากเดียวและมีมากกว่าหนึ่งลำต้น) ที่เก่าแก่สุดและใหญ่สุดในโลกคือ ต้นสน Pando ซึ่งอยู่ใน Fishlake National Forest ในยูท่าห์ กลุ่มวงศ์วานของสนที่นี่ มีอายุตั้งแต่หลายพันปี ไปจนถึง ๑๔,๐๐๐ ปี (แม้ว่าตัวอย่างวงปีที่ศึกษาได้ระบุว่าแต่ละต้นมีอายุมากกว่า ๑๓๐ ปี) ถูกยกให้เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ยังมีชีวิตอยู่และมีอายุยืนยาวมากที่สุดในโลก ลำดับถัดมาคือ กลุ่มสน Huon บน Mount Read ที่แทสมาเนีย มีอายุประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปี โดยการตรวจสอบ DNA ของเกสร แม้ว่าต้นไม้แต่ละต้นจะมีอายุไม่เกิน ๔,๐๐๐ ปีก็ตาม
ที่มา:
https://www.treesatlanta.org/news/the-oldest-tree-in-the-world/
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_oldest_trees
https://www.treehugger.com/the-worlds-oldest-living-trees-4869356