เรื่องตอนนี้มีแปลกกัน ในเรื่องนารายณ์สิบปาง ฉบับที่คุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ กล่าวว่า เหมรันตยักษ์ (ในรามเกียรติ์เรียก หิรันตยักษ์) มาม้วนแผ่นดินหนีบรักแร้ลงไปยังบาดาลพระนารายณ์ต้องแปลงเป็นสุกรตามไปสังหารแล้วเอาเขี้ยวงัดแผ่นดินขึ้นมาไว้ดังเก่า พระนารายณ์กลับไปตั้งพิธีอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ เกิดดอกบัวหนึ่งดอกบานตระการผุดขึ้นที่ตักพระนารายณ์ มีกุมารรูปงามโสภาอยู่ในดอกบัวนั้น จึงพาไปถวายพระอิศวร โปรดให้ชื่อกุมารนั้นว่าท้าวอโนมาตัน
ตามที่กล่าวมาคงพอจะเห็นเค้าแล้วว่า ดอกบัวเปนดอกไม้ดึกดำบรรพ์ที่มีหลักฐานในคัมภีร์ของฮินดูหรือทางฝ่ายพราหมณ์ จากการค้นคว้าของนักปราชญ์พบว่า ในคัมภีร์ฤคเวท (Rigveda) ซึ่งแต่งเป็นคำฉันท์สรรเสริญเทพเจ้า(คำว่า ฤค แปลว่า คำฉันท์) ในคัมภีร์ดังกล่าวว่ามีดอกบัวอยู่ ๒ ชนิดคือ บัวขาวกับบัวสีนํ้าเงิน (blue) บัวอย่างหลังนี้มีกล่าวถึงในรามายณะและมหาภารตะว่าเป็นบัวที่หายากและว่าพระอัศวิน (เทพฝาแฝด) ใช้มาลัยดอกบัวสีนํ้าเงินสวมพระศอ จึงมีพระนามหนึ่งว่า บุษกรราช (Pushkorraj)
บัวอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า กุมุท (Kumud) มีกล่าวถึงในคัมภีร์อถรรพเวท (Atharvaveda) กุมุทเป็นบัวดอกสีขาวเป็นบัวพิเศษที่บานด้วยแสงจันทร์ ส่วนบัวอื่นๆ บานด้วยแสงอาทิตย์ พอพระอาทิตย์ขึ้น บัวหลวงดอกสีชมพูก็จะเริ่มบาน พอพระอาทิตย์ตกดิน ดอกบัวก็จะหุบ บัวกุมุทนี้ว่ามีอยู่ในนาคพิภพด้วย และว่าจะบานในคืนวันเพ็ญเดือน ๑๒ ซึ่งเป็นวันลอยกระทง
ตามคติความเชื่อที่มีมาแต่โบราณว่า นํ้าในคืนวันเพ็ญเดือน ๑๒ จะใสสะอาดและหยุดนิ่งในตอนเที่ยงคืน จึงเข้าใจว่าแสงจันทร์ที่สว่างเต็มที่จะส่องทะลุนํ้าใสลงไปถึงนาคพิภพดอกกุมุทได้รับแสงจันทร์จึงบาน
เคยมีผู้ตั้งคำถามว่า เหตุใดการลอยกระทงจึงนิยมทำกระทงเป็นรูปดอกบัว หรือผู้ที่อ่านเรื่องนางนพมาศก็ถามว่าเหตุใดนางจึงได้ประดิษฐ์โคมเป็นรูปดอกบัว ทั้งสองคำถามล้วนเป็นเรื่องถามถึงความคิดคนอื่นซึ่งเขาก็ไม่ได้เอ่ยถึงความคิดไว้ การตอบจึงมีอยู่ทางเดียวคือเดา จะผิดหรือถูกก็ได้