Thursday, December 12, 2024
ภูมิปัญญาไทย บทความแนะนำ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง…น้ำพระทัยดั่งสายฝนฉ่ำเย็นต่อสรรพสัตว์

“ข้าพเจ้าอยากจะเล่าโครงการปล่อยช้างคืนสู่ธรรมชาติ
ข้าพเจ้าพูดเล่นเท่านั้นเอง พูดเล่นกับพวกที่อยู่ข้างเคียง
บอกว่าไปไหนพระเจ้าอยู่หัวทรงล้อว่า มีแต่ปล่อยไก่เท่านั้นเอง
พระราชินีปล่อยไก่ที่โน่น…ปล่อยไก่ที่นี่
เลยบอกแหม…ถ้าได้ปล่อยช้างคืนสู่ธรรมชาติบ้างก็ดี
แล้วทุกคนเลยช่วยกันจัดให้ข้าพเจ้าได้ปล่อยช้าง
ได้ทราบว่าเป็นที่สนใจของชาวต่างประเทศมาก
ในการปล่อยช้างเป็นอิสระ
ปีพ.ศ. ๒๕๔๐ ปล่อย ๓ เชือก
ปีพ.ศ.๒๕๔๑ ปล่อย ๒ เชือก
ปีพ.ศ.๒๕๔๒ ปล่อย ๒ เชือก
แล้วดูได้ผลดี รู้สึกเขาสดชื่น ดูปรับตัวเข้ากับป่าได้เป็นอย่างดี…”

กระแสพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒

ฉันพบกระแสพระราชดำรัสนี้โดยบังเอิญ และคิดว่าเป็นกระแสพระราชดำรัสที่น่ารักมาก จนเกิดความสงสัยว่ายังมีสัตว์ชนิดอื่นที่ได้รับพระเมตตาอีกไหมหนอ ยิ่งค้นก็ยิ่งพบจนในที่สุดก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางในครั้งนี้


โครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติ

ท้องฟ้าเหนือป่าซับลังกาหมาดฝนไปแล้ว แต่เมฆดำยังลอยคุมเชิงอยู่ห่างๆ ฉันโดดขึ้นซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์เจ้าหน้าที่อาสาฝ่ายติดตามช้างชาวปะกาเกอะญอ “คุณอนันต์ ประเสริฐวิมล” มุ่งหน้าสู่พื้นที่เลี้ยงช้าง ซึ่งลึกเข้าไปในป่าราว ๑๐ กิโลเมตร

เมื่อ ๑ สัปดาห์ ก่อนหน้า…

            หลังจากส่งจดหมายขอเข้าไปสำรวจและเก็บภาพนิ่งช้างในโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติ ฉันก็ได้รับการติดต่อกลับจาก “คุณเปรมจิตร เหมวัฒน์” ผู้จัดการมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ซึ่งแนะนำว่า พื้นที่ดำเนินโครงการนั้นมีหลายที่ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง ป่าสงวนแห่งชาติแม่ยาว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่วะ-แม่มอก และอุทยานแห่งชาติภูพาน แต่พื้นที่ที่มีการดำเนินการอย่างครบวงจรที่สุดเหมาะแก่การเก็บข้อมูล คือ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา” อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ที่นี่มีพื้นที่สำหรับเลี้ยงช้างแปดหมื่นไร่ มีช้างในความดูแลไม่ต่ำกว่า ๕๐ ตัว อาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มๆ แต่ก็มีบางตัวที่ชอบอยู่เดี่ยวๆ แบบช้างอินดี้ก็มีเหมือนกัน

กำเนิดโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติต้องเล่าย้อนไปถึงตอนที่ ภายหลังจากรัฐบาลยกเลิกสัมปทานป่าไม้ในช่วงพุทธศักราช ๒๕๓๓-๒๕๓๔ และให้งานชักลากไม้ในป่าเป็นอาชีพผิดกฎหมาย ทำให้ช้างเลี้ยงจำนวนมากตกงานกลายเป็นช้างเร่ร่อนในเมืองใหญ่ ด้วยทรงห่วงใยถึงวิถีชีวิตที่ผิดธรรมชาติของสัตว์ป่า อันเป็นเหตุแห่งการสูญพันธุ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงจึงทรงพระราชดำริในการแก้ปัญหาช้างไทย ภายใต้แนวคิด “ช้างเลี้ยงก็คือช้างป่า”

โครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติในพระราชดำริพระบรมราชชนนีพันปีหลวงจึงถูกก่อตั้งขึ้นในพุทธศักราช ๒๕๔๐ เพื่อสนองพระราชปณิธาน ต่อมาพระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิขึ้น โดยมุ่งหมายให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่สนับสนุนและดูแลโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติต่อไปในระยะยาว และได้พระราชทานชื่อว่า “มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ” เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕

นิเวศน์ในมูลช้างมีทั้งสิ่งมีชีวิตกลุ่มฟังก์ไจ และแมลงต่างๆ ที่ทั้งอาศัย และมาเอาไปเป็นอาหารด้วย

เสียงว. แจ้งว่าจุดแรกที่พบช้างห่างจากสำนักงานมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติไปราว ๘ กิโลเมตร ตลอดเส้นทางถนนลูกรังมีมูลช้างทั้งเก่าและใหม่เป็นหลักฐานว่า พวกช้างใช้เส้นทางนี้ในการหากินเป็นประจำ

ที่ก.ม.๘ ห่างจากหอคอยส่องสัตวืไปราว ๓๐๐ เมตร “พังวาสนา” ที่กำลังกินหญ้าสบายอารมณ์ คงผิดกลิ่นคนเมือง โดยเฉพาะคนเมืองคนนั้นเป็นหมอสัตว์ด้วย จึงรีบกันลูกให้เข้าไปในดงทึบ

ไกลขนาดซูมสุดพลังกล้องพังวาสนายังผิดกลิ่นมนุษย์เมือง

“ขั้นตอนการปล่อยช้างคืนสู่ธรรมชาติ ขั้นตอนแรกจะต้องจัดหาช้าง ตรวจสุขภาพและระวังโรค ปรับพฤติกรรมให้เกิดการอยู่ร่วมกันแบบรวมโขลง ตรวจสอบว่าช้างอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถปล่อยช้างคืนสู่ป่าได้หรือยัง หลังจากปล่อยช้างก็ติดตามผลหลังการปล่อยเป็นขั้นตอนสุดท้าย” คุณอนันต์เล่า

จันดีลงไปอาบโคลน คนทั่วไปนั้นคิดว่าผิวหนังของช้างนั้นกร้านหนาแต่ที่จริงแล้วไวต่อแสงมากจึงมักเกิดผิวไหมจากแดดเผาเสมอ โคลนจึงทั้งช่วยป้องกันแสงและแมลงด้วย

เราเดินทางกันต่อไปอีกระยะหนึ่งก็พบกับเจ้าถนน เจ้าหน้าที่เรียกหล่อนว่า “จันดี” เจ้าตัวนี้ใบหูพับม้วนลงมามาก ขมับและเชิงกรานจมลึกแสดงว่าอายุไม่น้อยแล้ว

“คนที่ซื้อมาบริจาคบอกว่าจันดีอายุประมาณ ๓๐ ปี แต่ดูแล้วเห็นพ้องกันว่าน่าจะ ๖๐ ปี ซึ่งก็นับว่าเป็นบั้นปลายชีวิตแล้ว”

นับว่าเป็นโชคดีของจันดีที่ได้อยู่อย่างมีความสุขในป่าที่เป็นบ้านอย่างแท้จริงในช่วงสุดท้ายของชีวิต เมื่อเจ้าหน้าที่ส่งเสียงไล่ “ฮึ่ยๆ” ให้พ้นไปจากถนน นางช้างจึงเดินลงไปเล่นโคลนที่สระตื้นๆ ข้างทาง พ่นน้ำสีส้มแดงเป็นฝอยกระจาย ราวกับว่างวงยาวนั้นเป็นฝักบัวอันใหญ่ ทั้งกลิ้งทั้งเกลือกสบายใจเฉิบ ใครเห็นแล้วไม่เอ็นดูก็นับว่าใจแข็งอย่างที่สุด

พี่เห็นหนูด้วยเหรอ

ภายในโครงการนั้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการปลูกหญ้าและพืชอาหารอื่นๆ ไว้ ส่วนแหล่งน้ำนั้นก็ไม่ยากอยู่ภายในป่านั่นเอง สำหรับช้างหน้าใหม่ก็จะใช้วิธีล่ามให้ใกล้แหล่งน้ำหน่อย ช้างก็จะเรียนรู้ว่ามีแหล่งอาหารที่ไหนบ้าง

“กลัวที่สุดคือเสียงโทรศัพท์” เจ้าหน้าที่ชาวปะกาเกอะญอพูดเป็นเสียงเดียวกันเมื่อเริ่มต้นเล่าถึงปัญหาการทำงาน ก่อนจะขยายความเมื่อเห็นฉันทำท่างงว่า “เพราะนั่นหมายความว่า ช้างได้เข้าไปทำลายพืชผลของชาวบ้าน แล้วเขาโทรมาให้ให้เราไปจัดการ กลางวันไม่เท่าไร แต่ถ้าเป็นกลางคืนนี่ถึงหลับๆ อยู่ก็ต้องไป”

สำหรับกรณีที่ช้างได้เข้าไปทำลายพืชผลของชาวบ้านจริง เจ้าหน้าที่ฝ่ายติดตามช้างจะต้องเข้าไปสำรวจว่าพวกช้างเข้าไปถึงไหนกันแล้ว ถ้ากำลังจะออกนอกเขตก็ต้องไปตามกลับมา ทางหน่วยติดตามได้ใช้วิธีแก้ไขโดยเข้าไปประเมินความเสียหาย แล้วส่งเรื่องไปเบิกจ่ายตามจริงที่สำนักงานมูลนิธิ  มีการทำรั้วกั้นแต่ยังล้อมได้ไม่รอบ เพราะต้องรองบประมาณด้วย คนทั่วไปมักเข้าใจว่าปล่อยเข้าป่าแล้วก็แล้วไป แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ทางโครงการยังต้องดูแลอยู่

“เวลากลับบ้านก็คิดถึงเจ้าพวกนี้เหมือนกัน” คุณอนันต์บอกยิ้ม

ไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนจะรู้ตัวหรือไม่ว่า นอกเหนือจากความภูมิใจที่ทำให้ประชากรช้างเพิ่มจำนวนขึ้นเพื่อสนองตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สิ่งนั้นคือ “ความผูกพัน”


การกลับมาของนกกระเรียนพันธุ์ไทย

จากหลักฐานภาพถ่ายนกกระเรียนเดินตามคนที่ถูกถ่ายเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๕ หลังจากนั้นบันทึกทางปักษีวิทยาเกี่ยวกับนกกระเรียนพันธุ์ไทยก็ได้ขาดหายไป

            มีคำถามมากมายว่าทำไมถึงสูญพันธุ์ ซึ่งมีเพียงข้อสันนิษฐานว่า ความที่เป็นนกผัวเดียวเมียเดียวโอกาสในการจับคู่ผสมพันธุ์จึงน้อย พฤติกรรมการทำรังวางไข่บนดินทำให้มีศัตรูเยอะ ไปจนถึงฝั่งกัมพูชามีความอุดมสมบูรณ์กว่า พอบินไปหากินแล้ว ขากลับต้องรวบรวมแรงบินขึ้นภูมิประเทศที่สูงกว่าพวกนกจึงถอดใจ ซึ่งก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แต่ไม่ว่าจะเพราะเหตุใดก็ตาม จะทำอย่างไรให้นกกระเรียนพันธุ์ไทยเหล่านี้กลับมาโบยบินเหนือน่านฟ้าไทยอีกครั้ง สถานที่ที่จะให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ดีที่สุดเห็นจะเป็น “สวนสัตว์นครราชสีมา”

“มาช่วงเดือนกันยายนนะ จะได้เห็นนกวางไข่” คุณหมอวิชิต กองคำ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์วิจัยและสุขภาพสัตว์ประจำสวนสัตว์นครราชสีมา (ในขณะนั้น) ให้คำแนะนำ ทำให้ฉันต้องอดใจรอ รอจนกระทั่งสายฝนสั่งลาในช่วงปลายเดือนกันยายนเริ่มหนาเม็ดเป็นสัญญาณว่าถึงกำหนดเวลานัดแล้ว

            เรื่องราวการคืนชีพนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่จริงต้องเล่าเป็น ๒ ช่วง

            เริ่มต้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๐ ทางสวนสัตว์นครราชสีมาได้นกพ่อแม่พันธุ์มาจากกัมพูชา ๑๐ คู่ เพื่อทำการขยายพันธุ์ โดยทีมวิจัยได้รับความร่วมมือจาก “กองทุนอินเตอร์ เนชันแนล เครน ฟาวเดชั่น” (International Crane Foundation; ICF) ซึ่งก่อตั้งโดยด็อกเตอร์จอร์ช อชิบาล์ด (Dr.George Archibald) และในที่สุดก็ได้ปล่อยนกกระเรียนชุดแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๔

            หลังจากที่ปล่อยชุดแรกไปแล้ว สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงมีพระราชเสาวนีย์ถึงนกกระเรียนที่ปล่อยไปแล้วให้ติดตามดูแลให้ดี เพื่อว่าในอนาคตให้นกกระเรียนสามารถกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมป์ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงน้อมรับพระราชเสาวนีย์และติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

            น่าเสียดายที่ในช่วงเวลาที่ฉันไปถึงนั้นคุณหมอวันชัย สวาสุ ซึ่งเป็นผู้ปลุกปั้นโครงการมาตั้งแต่ตันได้ย้ายไปประจำการที่จังหวัดอื่นแล้ว คุณหมอวิชิตจึงได้มอบหมายให้ “คุณธนัท อุตริเศษ” ทีมงานดูแลนกกระเรียนพันธุ์ไทยเป็นผู้ไขความกระจ่างในการเพาะเลี้ยง

            “ขั้นตอนของการดำเนินงานนั้นขั้นแรกคือ สำรวจพื้นที่ในประเทศไทย ที่คัดเลือกพื้นที่ชุ่มน้ำมาก็จะมี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย จังหวัดเชียงราย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อ่างเก็บน้ำสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์ และ อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี ซึ่งจากที่เราลงพื้นที่สำรวจพบว่าพื้นที่ที่เหมาะสมมีที่เดียว คือ จังหวัดบุรีรัมย์

            “มาถึงขั้นตอนที่สองคือกระบวนการขยายพันธุ์ ซึ่งของเราจะใช้วิธีผสมแบบธรรมชาติ โดยเราจับคู่ให้แล้วปล่อยให้เขาอยู่ในคอกผสมพันธุ์ วางไข่ฟักเองแล้วค่อยไปแยกลูกออกมาฝึก

            “กระบวนการที่สาม เป็นกระบวนการหนึ่งในการเพาะขยายพันธุ์ คือ การผสมเทียม วิธีนี้เราจะใช้ในกรณีที่นกตัวนั้นๆ ไม่สามารถจับคู่เองได้ เช่น ตัวเมียไม่ยอมรับตัวผู้ ตัวผู้ไม่ยอมรับตัวเมีย และตัวเมียวางไข่ไม่มีเชื้อ

            “หลังจากได้ลูกแล้วเราจะแยกเขาออกมาเลี้ยง ใช้เวลาในการฝึกราว ๗ เดือน กระบวนการต่อไปคือ นำนกออกสู่พื้นที่ธรรมชาติ ปรับสภาพยังพื้นที่ที่ปล่อย ทำการตรวจเลือด ตรวจโรค ตรวจเพศ และสุดท้ายคือ การปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ”

เวลาจีบกันเขาจะมีท่าเต้น ที่เปลี่ยนท่ากันโดยพร้อมเพรียงราวกับส่องกระจก

เมื่อแสงสว่างจากจอโปรเจกเตอร์ดับลงแสดงถึงความเข้าใจดีของทุกคน คุณธนัทจึงได้นำฉันไปชมภายในคอกอนุบาลเป็นกรณีพิเศษ ตลอดทางร่มครึ้มด้วยกิ่งใบของต้นฉำฉา เสียงร้อง “แปร๋แปร๋” ที่ได้ยินเพียงแว่วๆ ค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเป็นระยะ

            “เสียงอย่างกับแตรแหนะ” ฉันนนึกนินทาเจ้านกอยู่ในใจ

            ทั่วไปแล้วนกตัวผู้มักจะมีขนที่สวยสะดุดตา และเสียงร้องที่ไพเราะเพื่อมัดใจตัวเมีย แต่สำหรับนกกระเรียนแล้วแทบจะแยกความแตกต่างจากทางกายภาพไม่ออกเลยว่าใครเป็นตัวผู้ ใครเป็นตัวเมีย จะพอเดาได้ก็ช่วงเดือนพฤษภาคมที่มีการจับคู่ทำรังวางไข่ โดยแยกได้จากพฤติกรรมการ “จีบ” โดยนกกระเรียนตัวผู้และตัวเมียจะมีท่วงท่าร่ายรำสวยงามอย่างกับเต้นบอลลูมเลยทีเดียว

            ภายในคอกอนุบาลที่พยายามจำลองสภาพแวดล้อมอย่างธรรมชาติ ตามนกกระเรียนอาศัยให้ได้มากที่สุดทั้งต้นไม้และแอ่งน้ำ คุณธนัทอธิบายว่า

            “นกกระเรียนเป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ อย่างฤดูที่พวกสัตว์น้ำอุดทสมบูรณ์จะมีกุ้งหอย ปู ปลาขนาดเล็กเยอะ เขาก็จะกินพวกนี้เป็นส่วนใหญ่ แต่พอเข้าฤดูแล้งสัตว์น้ำเล็กๆพวกนี้หายากเขาก็จะกินพืช ซึ่งจากการที่เราสำรวจหลักๆ คือจะกินหญ้าแห้วที่เป็นพืชเฉพาะถิ่น นกกระเรียนจะอาศัยโปรตีนจากตรงนี้กินเพื่อประทังชีวิตไปก่อน พอถึงฤดูฝนอาหารเริ่มอุดมสมบูรณ์ก็จะจับคู่ เข้าวัฏจักรของเขาต่อไป”

            ฉันโหย่งปลายเท้าให้เกิดเสียงดังน้อยที่สุด แต่ก็พลาดจนได้ เสียงกิ่งไม้แห้งแกรบกราบทำให้ทั้งพ่อแม่นกรีบต้อนเจ้าตัวเล็กเข้าบังไพรสุดมุมกรง เจ้าตัวพ่อยืดตัวเต็มความสูง กระพือปีกเสียงพั่บพั่บกรีดเสียงดังก้อง จนเราต้องพากันถอยฉากออกมาสังเกตการณ์ต่อนอกกรง

            “สถานการณ์ตอนนี้ถือว่าปลอดภัยหรือยัง หรือต้องมีจำนวนเท่าไร”

            “จำนวนเท่าไรยังบอกไม่ได้ ด็อกเตอร์จอร์จให้ความเห็นว่านกกระเรียนสายพันธุ์ไทยเป็นสายพันธุ์ที่หากินเก่ง ปรับตัวได้ดี ถ้าตัดเรื่องคนทำร้ายออกไป ส่วนสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่ถือว่าปลอดภัย ต้องให้ได้รุ่นหลานก่อน ในจำนวนเท่านี้ หากมีโรคระบาดมาล่ะก็…” คุณธนัทจบประโยคด้วยท่าทางขนลุก

สำหรับเรื่องราวอีกช่วงที่ได้เกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องนั้น อยู่ไกลถึงกรุงเทพมหานคร…

            นกกระเรียนสายพันธุ์ไทยไปอยู่ในมหานครใหญ่ได้อย่างไรนั้น “คุณสามารถ กำลังฤทธิ์” จะเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวเมื่อครั้งติดตามคุณหมอวันชัยเข้าไปปฏิบัติงานภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

            “ผมเริ่มเข้าไปวังสวนจิตรตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ เริ่มแรกในสวนจิตรมีนกกระเรียนอยู่แล้ว ๑ ตัว โดยได้รับบริจาคมาจากท่านผู้หญิงฉัตรแก้ว วงศ์ทองศรี ทางองค์การสวนสัตว์เข้าไปดูแลจัดการพวกสัตว์ในตำหนัก เห็นว่าเขาขาดคู่ ก็เลยถวายนกกระเรียนเพศเมียไปอีก ๑ ตัว ก็มีการผสมพันธุ์กัน ผลคือไข่ไม่มีเชื้อ สรุปว่านกเพศผู้เชื้อเขาอ่อนแอ ทางองค์การสวนสัตว์ก็เลยเสนอแผนผสมเทียมในปี ๒๕๔๘ ถึง ๒๕๔๙

            “ก็ได้ลูกนก ๑ คู่ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านพระราชทานชื่อให้ว่า คุณขุนแผน และ คุณขวด พอนกอายุได้ประมาณ ๗-๘ เดือน ก็คิดว่าเป็นตัวผู้ ทางองค์การสวนสัตว์ก็เลยมอบนกเพศเมียไปอีก ๒ ตัว ท่านก็เลยตั้งชื่อว่า สร้อยฟ้า และ ศรีมาลา เลยเข้าคู่กัน

            “ในปี ๒๕๕๑ ก็ปรากฏว่าได้ลูกนกอีกตัวหนึ่ง หลังออกจากไข่ได้ ๗ วัน ทางสำนักพระราชวังจึงมอบให้มาเลี้ยงที่สวนสัตว์โคราช ตั้งชื่อว่า ‘คุณชาย’ เพราะเขามาจากในวัง ก็เลยมาเข้าคู่กับพวกที่อยู่ในสวนสัตว์โคราช ออกลูกเป็นชุดที่นำไปปล่อยที่บุรีรัมย์” แววตาขอคุณสามารถเปล่งประกายเมื่อเล่าถึงช่วงเวลานั้น

ภาพลูกนกกระเรียนสายพันธุ์ไทยตัวแรกของสวนสัตว์นครราชสีมา
ห่วงขาบอกถึงประวัติคร่าวๆ ของนกกระเรียน เช่น อายุ เพศ ปีที่ปล่อย สังกัด เป็นต้น

            รุ่งเช้าฝนที่ตกตั้งแต่เที่ยงคืนยังไม่ขาดเม็ด ผืนดินอิ่มน้ำจนขังเป็นหย่อมๆ บางแห่งเกิดเป็นตาน้ำเล็กๆ อย่างที่เรียกว่า “น้ำบุ้น” ภารกิจในการติดตามนกกระเรียนพันธุ์ไทยของฉันยังไม่จบ ครอบครัวนกกระเรียนที่อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ยังรอฉันให้ฉันแวะไปเยี่ยมเยียน ที่นั่นฉันได้นัดกับ “คุณสราวุธ วงษ์สมบัติ” ผู้ดูแลนกกระเรียนเตรียมปล่อยของโครงการวิจัยนกกระเรียนเอาไว้

            “พอข้ามสะพานอ่างเก็บน้ำมาแล้ว ขับรถตรงไปอีกหน่อยก็จะเจอป้ายโครงการให้เลี้ยวซ้ายลงไปเลยคะ…คะ…ครับ…ตู๊ด ตู๊ด” เสียงนักวิจัยหนุ่มขาดๆ หายๆ ก่อนจะเงียบไปเพราะสภาพอากาศ

            บนถนนสาย ๒๔ ผ่านหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแสงใต้ บนสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำฉันตื่นตาตื่นใจไปกับความกว้างใหญ่และทิวทัศน์ที่เบื้องหน้า ดอกบัวบานสล้างถูกฝนซัดพริ้วพรายไปมาในน้ำ นกน้ำที่ฉันไม่รู้จักชื่อวิ่งแข่งกันบนใบบัว นี่มันสวรรค์ของนักดูนกชัดๆ ที่อีกด้านของสะพานสราวุธมารอฉันอยู่แล้ว

            “ไปพี่ ลุย”

            “โอ.เค.”

            ฉันตอบโอ.เค.ไปโดยหารู้ไม่ว่า “ลุย” ที่นักวิจัยรุ่นน้องว่าคือ ลุยน้ำ! ทันทีที่หย่อนตัวลงไป น้ำที่เย็นวาบขึ้นมาถึงต้นขามันลึกกว่าที่คิด แสร้งปั้นหน้านิ่งแต่ร้องกรี๊ดอยู่ในใจ ไม่บุกรังกระเรียนฤาจะได้ภาพลูกกระเรียน เอ้าพูดแล้วก็ไป

ลูกนกพร้อมปล่อยในสถานที่เพาะเลี้ยงในธรรมชาติเพื่อให้นกได้ปรับตัว

            พวกแพผักบุ้งเป็นอุปสรรคในการลุยน้ำอย่างมาก ยิ่งถ้าใจร้อนมันยิ่งพาลจะพันขา พาให้เราหน้าคะมำลงไปในน้ำ เดินลุยน้ำไปราว ๕๐ เมตร ก็ถึงกรงนกพร้อมปล่อย กรงที่ว่านี้มีลักษณะเป็นตาข่ายรูปโดมที่นำมาขึงไว้ นักวิจัยหนุ่มเล่าว่า ลูกนกพวกนี้พร้อมที่จะบินแล้ว ถ้าปล่อยก็พร้อมที่จะบินไปได้ และเจ้า ๒ ตัวนี้ ก็จะได้รับอิสระประมาณปลายเดือนตุลาคมที่จะมาถึงนี้เอง

            ฉันมองเจ้าสัตว์ที่ถูกเรียกว่า “ลูกนก” อย่างไม่เชื่อสายตา เพราะมันสูงท่วมหัวทีเดียว ขณะนี้สราวุธได้อยู่ในชุดปลอมตัวเป็นนกกระเรียน เพื่อให้พวกมันไม่รู้สึกแปลกปลอมและเพื่อไม่ให้ชินกับมนุษย์สัตว์ที่อันตรายที่สุดในโลกตามข้อบังคับในการทำงานวิจัย

ทางทีมวิจัยจะแยกออกมาเลี้ยงเฉพาะนกกระเรียนที่เตรียมจะปล่อย โดยใช้วิธีการแยกเลี้ยงตอนที่อายุ ๗ วัน เพราะหลังจากนี้นกกระเรียนจะฝึกได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีการจดจำลักษณะหน้าตาของพ่อแม่นกได้แล้ว ลูกนกกระเรียนวัยอนุบาลจะได้รับการฝึกที่เรียกว่า “ไอโซเลชั่น เลิร์นนิ่ง เทคนิกข์” (Isolation learning technique) ในคอกราว ๗ เดือน

ตามระเบียบของงานวิจัย หากเข้าพื้นที่งานวิจัยต้องแต่งชุดปลอมตัวเป็นนกกระเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้นกนั้นคุ้นกับมนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่อันตรายที่สุดในโลก

“การเลี้ยงโดยระบบพ่อแม่นกจำลองแบบที่ด็อกเตอร์จอร์จ ประธานที่ปรึกษาเขาใช้เลี้ยง เราได้เอามาประยุกต์ใช้กับนกของเขรา ใช้เวลา ๗ เดือน และกระบวนการต่อไป คือ การเอานกออกสู่พื้นที่ธรรมชาติ คือ ที่นี่อย่างน้อยก็ต้อง ๔-๕ เดือน ที่อยู่ในกรง ณ พื้นที่จริงที่จะปล่อยเพื่อให้ปรับสภาพอากาศ อาหาร หลังจากตรวจเพศ ตรวจโรค เสร็จแล้ว เราก็จะทำการใส่รหัส อาจเป็นไมโครชิป แล้วติดห่วงขา ห่วงสี ระบุว่าใส่สีนี้หมายเลขอะไร อายุเท่าไร มันจะมีประวัติ พอทำเสร็จแล้วเราก็ปล่อย” นักวิจัยหนุ่มเล่าพลางหว่านอาหารไปด้วย

คุณพ่อป้ายแดงคุมเชิงระวังภัยให้กับเมียและลูกที่เพิ่งฟัก

เจ้านกขายาวย่างเท้าเข้ามาจิกกินทีละเม็ดๆ จากกรงนกพร้อมปล่อย เราขึ้นฝั่งกันชั่วคราวเดินข้ามคันนาไปยังแปลงนาข้างๆ เพื่อไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่ป้ายแดง ที่กรงพ่อแม่-แม่พันธุ์ พวกมันหวงลูกมาก เจ้าตัวพ่อปรี่เข้ามาประจันหน้าโชคดีที่มีกรงขวงอยู่ไม่อย่างนั้นต้องมีเลือดตกยางออกแน่ ไม่ว่าจะมุมใด เจ้าตัวพ่อเป็นต้องมาสำแดงฤทธิ์ไล่ให้ออกไปห่างๆ ส่วนเจ้าตัวแม่ก็คอยกางปีกป้องเจ้าตัวเล็ก จนฉันเป็นฝ่ายอ่อนใจล่าถอยไปเอง ครอบครัวนกจึงกลับคืนสู่ความสงบอีกครั้ง

“นกใช้เขตพื้นที่ในนาข้าวในการหากินแล้วมีปัญหากับชาวบ้านบ้างหรือไม่”

“นกของเราจะใช้เขตพื้นที่ในการหากิน แม้จะไม่ได้เสียหายในปริมาณมาก แต่ว่าที่เราทำก็เพื่อป้องกันปัญหาในส่วนนั้นจะบานปลาย จึงต้องดึงประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น ให้เขาทำข้าวแบรนด์นกกระเรียนไปเลย เขาก็ได้ประโยชน์จากการที่นกเข้าไปอยู่ในพื้นที่น้ัน”

“แล้วจากที่ให้ชาวบ้านเขามีส่วนร่วม เขารักนกมากขึ้นอย่างไร”

“จากการที่ลงพื้นที่เพื่อสำรวจพฤติกรรมวางไข่ พบว่าเขาเฝ้าได้ดีกว่าเราอีก มีความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของนกมากกว่าเราเสียอีก”

ได้ยินแบบนี้ก็ทำให้ฉันรู้สึกสบายใจขึ้นมากว่านกกระเรียนพันธุ์ไทยจะต้องได้กลับมาโบยบินอย่างสง่างามเหนือน่านฟ้าไทยอีกครั้ง ท่ามกลางม่านฝนภาพนกกระเรียนที่เยื้องย่างสบายอารมณ์ยิ่งทำให้ฉันมั่นใจ

About the Author

Share:
Tags: สัตว์น้ำ / ฉบับที่ 70 / สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ / ธรรมชาติ / สิ่งแวดล้อม / สัตว์ป่า / ต้นไม้ / ป่า /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ