Monday, September 9, 2024
ภูมิปัญญาไทย ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

ปริศนาผ้าซิ่นอีสาน

เรื่อง: นัทธ์หทัย วนาเฉลิม

ซิ่นไหมคำ ราชสำนักจำปาสัก

ปริศนาผ้าซิ่น

อีสาน

          ปกติพวกเราซื้อผ้ามาเพียงแค่ใช้ แต่เรากลับไม่รู้เรื่องเล่าหลังกี่เลย วันนี้ทีมงานนิตยอนุรักษ์จึงได้รวบรวมเรื่องราวในจักรวาลผ้าทออีสานแบบย่อส่วนมาไว้ที่นี่แล้ว

ที่เส้นขอบฟ้าเราไม่อาจทราบได้ว่าการเดินทางจะพาเราไปพบกับอะไรบ้าง…ที่สนามบินทาซเคนท์ (Tashkent) ประเทศสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ฉันพบผู้โดยสารหญิงที่แต่งตัวสวยงามด้วยเสื้อผ้าลายพรรณพฤกษาสลับกับลายเรขาคณิต เมื่อเข้าไปใกล้ๆ จึงพบว่า เป็นเทคนิค “มัดหมี่” แบบอีสานบ้านเฮา แผ่นดินอีสานของประเทศไทยและประเทศอุซเบกิสถาน อยู่ห่างกันนับพันไมล์ เหตุใดจึงมีความคิดภูมิปัญญาที่ตรงกันได้


          เรื่องนี้ต้องย้อนไปเมื่อพันปีที่แล้ว ชาวอุซเบกิสถานรวมถึงประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย เรียนรู้กรรมวิธีมัดหมี่จากประเทศอินเดีย ผ่านการค้าขายและเผยแผ่ศาสนามาตามเส้นทางสายไหม ซึ่งเรื่องนี้มีหลักฐานยืนยันว่าชาวอินเดียรู้จักการทอผ้ามัดหมี่มากว่าพันปีแล้ว เป็นภาพจิตรกรรมผ้านุ่งลวดลายมัดหมี่ของชายหญิงบนผนังถ้ำอชันตา (Ajanta caves) ลวดลายที่สร้างขึ้นประกอบด้วย เส้นตรงเส้นทะแยง หักมุม สลับฟันปลา และลวดลายที่เลียนแบบสิ่งต่างๆ ที่พบในธรรมชาติอย่าง ก้อนเมฆ คลื่น ดอกไม้

สาวๆ ชาวอุซเบกิสถานนำผ้าที่ทอด้วยที่นิคมัดหมี่ไปตัดเย็บเป็นเสื้อคลุมตัวโก้

          หากจะกล่าวถึงอัตลักษณ์ในผ้าซิ่นอีสานเล่ากันอยู่ ๓ วันก็ไม่จบ หากจะเรียกว่า “จักรวาลซิ่นอีสาน” ก็เห็นจะไม่เกินจริง ในครั้งนี้จึงขอยกตัวอย่างเพียงกลุ่มซิ่นในตระกูลไท-ลาว มาพอสังเขป เช่น

ซิ่นหมี่คั่นโบราณ ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าเฮือนคำมุ
ซิ่นทิวมุกหัวจกดาว ภาพโดย คุณปิยะวัฒน์ พรหมภา

          “หมี่ข้อ” มีริ้วลายแนวตั้งแบบหมี่คั่น แต่มีความแตกต่างตรงมีการทอเส้นพุ่งเป็นขีดสั้นๆ ขวางในริ้วแนวตั้ง คล้ายลายบนข้อนิ้วมือ เป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งที่นิยมมากสำหรับแม่หญิงอีสาน

          “หมี่คั่น” เป็นวัฒนธรรมผ้าทอที่พบในกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเหนือ ลาวเวียง (เวียงจันทน์) และ ชาวอีสาน (ที่ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษชาวลาวทั้งจากการอพยพย้ายถิ่นฐาน และจากการกวาดต้อนเข้ามาเมื่อครั้งศึกสงคราม) โดยการสร้างลวดลายมัดหมี่บนผืนผ้าให้มีลักษณะเป็นแถบลายริ้วยาวแคบๆ ในแนวตั้ง กว้างประมาณ ๑-๓ เซนติเมตร เรียงรายต่อกันตลอดผืน ในแต่ริ้วจะบรรจุลายมัดหมี่แบบต่างๆ ซึ่งเป็นแม่ลายพื้นฐาน เช่น ลายหมากจับ ลายโคม ลายขอ ลายนาค

          กล่าวถึงผ้าที่มีลักษณะเป็นริ้วเป็นแนวแล้ว นอกจากซิ่นหมี่แล้วยังมีซิ่นอีกชนิดที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย คือ “ซิ่นทิว” เป็นผ้าซิ่นเอกลักษณ์ของเมืองอุบลราชธานี ต่างจากซิ่นหมี่คั่นตรงที่เวลานุ่งจะเห็นริ้วเป็นแนวขวาง โดยใช้เทคนิคยกมุกให้ทางเส้นยืนให้นูนเด่นขึ้นมา และเพราะทอด้วยฟืมหน้ากว้างจึงไม่ต้องต่อตีนซิ่นแบบหมี่คั่นหมี่ข้อ นิยมต่อหัวซิ่นอย่างเดียวด้วยเทคนิคนิคจกดอกผักแว่น หรือจกดาว จนมีคำเรียกติดปากปากว่า “ซิ่นทิวมุกหัวจกดาว”

ผ้าซิ่นตีนแดง เทคนิคมัดหมี่ สีสันสดใส

          “ซิ่นตีนแดง” เป็นผ้าซิ่นเอกลักษณ์ของอำเภอพุทไธสง และอำเภอนาโพธิ์จังหวัดบุรีรัมย์ แม้จะเป็นซิ่นในถิ่นอีสานใต้ใกล้กับกัมพูชา แต่ก็มีประชากรจัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาวอยู่ด้วย ลวดลายนั้นไม่ต่างจากลายผ้ามัดหมี่ของชาวอีสานใต้แต่ดั้งเดิม จะต่างก็ตรงที่นิยมทอเป็นผ้าสีสดใส สีแดง สีเหลืองและสีขาว ให้รับกับตีนซิ่นสีสด ซึ่งจะแตกต่างจากผ้าทอพื้นบ้านอีสานใต้บริเวณใกล้เคียงที่มักนิยมทอสีสันเคร่งขรึม

          ในสมัยโบราณแม้จะนุ่งผ้าจะงามลายจะละเอียดยิบพริบพราวแค่ไหน แต่การเป็นผู้ดีหลวงไม่ได้วัดกันที่ตรงนี้ แม้จะมีการทอผ้าใช้ในชีวิตประจำวัน หรือบ้านผู้มีอันจะกินจะมีโฮงเมี้ยนหูก (โรงทอผ้า) เป็นของตัวเองก็ตาม เนื่องจากการเมืองการปกครองในอดีตมีกฎหมายที่ห้ามชาวบ้านธรรมดาแต่งตัวเทียมผู้มีฐานะระดับชนชั้นปกครองเด็ดขาด ใครฝ่าฝืนถือว่าผิดฮีตคอง (ประเพณี สิ่งควรไม่ควร) ของบ้านเมือง

          โดยผ้านุ่งของผู้ปกครองจะมีการใช้วัสดุพิเศษประเภทแล่งเงิน แล่งคำ ทอแทรกลงไปในผืนผ้าด้วยเทคนิคเก็บขิด โดยไหมคำฝั้นที่เป็นวัตถุดิบในการทอได้มาจาก ๒ แหล่ง คือ กรุงเทพมหานคร (นำเข้ามาจากอินเดียและจีน) และ จากฝรั่งเศสซึ่งเป็นแหล่งไหมคำฝั้นที่ดีที่สุด

กะเลิง (อ. นาแก จ.นครพนม , อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร) ในสมัยก่อนนุ่งผ้ามัดหมี่มีเชิง ไม่สวมเสื้อ ใช้แพรเบี่ยงในเวลามีงาน
ไทแดง เป็นเผ่าที่การแต่งกายมีเอกลักษณ์จากเสื้อที่สั้นและซิ่นที่นุ่งสูงถึงใต้อก จนมีคำกล่าวว่า “ซิ่นเหลือ เสื้อบ่พอ”

          สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากผ้าสมปักปูม ยกตัวอย่างอำเภอชนบทในจังหวัดขอนแก่น เป็นอำเภอที่มีชื่อเสียงเรื่องผ้าไหมมัดหมี่ มีหลักฐานว่าชาวอำเภอชนบทได้แนวคิดต่อยอดในการทอมัดหมี่ลวดลายประยุกต์ต่างๆ มากมายในปัจจุบันนั้น มาจากผ้าสมปักปูม อายุกว่า ๒๒๐ ปี ที่เจ้าเมืองคนแรก (ท้าวคำพาว) ของอำเภอชนบทได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยทายาทของเจ้าเมืองรุ่นปัจจุบันเป็นผู้เก็บรักษาไว้

ผ้ามัดหมี่ ลายหมี่คั่น

     ลวดลายที่ช่างทอนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการเนรมิตผ้าผืนงามแบ่งเป็น

          ลายพืชพรรณ เช่น ลายเครือ ลายต้นสน ลายสร้อยดอกหมาก ลายหมากจับ

          ลายสัตว์ เช่น ลายนาค ลายหางกระรอก ลายหางปลาวา ลายเกล็ดเต่า

          ลายสิ่งแวดล้อม เช่น ลายตะวัน ลายดาว ลายฟองคลื่น

          ลายสถาปัตยกรรม เช่น ลายปราสาท ลายธรรมาสน์

          ลายประยุกต์ ที่น่าสนใจคือ ลายที่ประยุกต์จากวิถีชีวิต และ ลายที่ประยุกต์จากวรรณคดีพื้นบ้าน

          จากวิถีชีวิต เช่น ลายประจำจังหวัดชัยภูมิ “หมี่คั่นขอนารี” ประกอบด้วย “ลายหมี่คั่น” ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ชาวลาวเวียงมาเป็นลายพื้นฐาน ส่วน “ลายขอนารี’”ซึ่งเดิมคือ “ลายขอกระหรี่” นั้นเป็นลายผ้ามัดหมี่ซึ่งทอที่ชาวอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ

 ซิ่นลายศรศิลป์ ภาพโดยคุณภัส แอชเวล

          “ลายขอ” นี่ก็มาจากตะขอเกี่ยวถังน้ำที่เห็นในชีวิตประจำวัน ส่วนคำว่า “กระหรี่” นี่มีที่มาจากตอนมัดลายที่มีลักษณะเป็นเครือเถาม้วนขดซับซ้อนยุ่งเหยิงเหมือนวิถีชีวิตของผู้ประกอบอาชีพนี้ แต่เมื่อจบกระบวนการก็ได้ผ้าที่สวยงามเหมือนหน้าตาของเขา กระทั่งพุทธศักราช ๒๕๑๓ จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อจากลายขอกะหรี่เป็น “ลายขอนารี” เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

          จากวรรณคดี เช่น “ลายศรศิลป์” ที่สร้างสรรค์โดย พ่อครูคมสัน จันทะวงษ์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนังอีสาน) วรรณคดีเรื่องสังสินไซ ที่วัดสนวนวารีพัฒนาราม บ้านหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

          แน่นอนว่าลวดลายบนผืนผ้าได้มาจากการสังเกต และใช้ความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา มีลายผ้าอยู่ลายหนึ่งที่พอได้ยินชื่อแล้วเป็นต้องร้อง “หา” ขอให้ทวนชื่อซ้ำ คือลาย “หมี่เอี้ยวเยี่ยวควาย”

ลายหมี่เอี้ยวเยี่ยวควาย เป็นลายที่ได้มาจากการสังเกตอากัปกิริยาของควายตัวผู้ เวลาเดินไปแล้วปัสสาวะไปด้วย จึงนำภาพสายน้ำปัสสาวะที่สะบัดไปสะบัดมา มาออกแบบเป็นลายผ้า

ซิ่นลายหมี่เอี้ยวเยี่ยวควาย ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าเฮือนคำมุ

          จากความเชื่อที่ว่าผ้าขิดเป็นของสูงในอดีต เพราะทอไว้สำหรับห่อพระคัมภีร์ พระไตรปิฎก ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนาและพิธีที่เป็นมงคลจึงถือว่าผ้าขิดนั้นสามารถปกป้องสิ่งชั่วร้าย ไสยศาสตร์ได้ จึงมีการนำผ้าขิดมาทำเป็นหมอน เป็นที่นอน เพื่อปกป้องร่างกายในขณะหลับ แต่สำหรับผู้หญิงจะมีดวงจิตอ่อนแอกว่าผู้ชายแม้เวลาที่ตื่นนอน แม่หญิงอีสานจึงมีการนำผ้าขิดมาตกแต่งบริเวณหัวซิ่น ตีนซิ่น และนำมาทำเป็นผ้าเบี่ยง (สไบ) เพื่อป้องกันคุณไสย มนต์ดำ เข้าสู่ร่างกายทางทวาเปิด

          มีนิทานเล่าว่าบ้านไหนที่มีลูกชายบวชนาค ผู้เป็นแม่จะทอผ้าขิดลายนาคสำหรับปรกศีรษะกันร้อนให้ ตามความเชื่อว่าพญานาคที่ไม่สามารถบวชได้ แต่ก็ขอมีส่วนร่วมในทางพุทธศาสนาด้วย เชื่อกันว่านาคอยู่บนผ้าปรกหัวนั้นเป็นนาคตัวผู้ คราวนี้พวกนาคตัวเมียก็อยากได้บุญบ้าง จึงปวารนาตนไปอยู่ในลายซิ่นของผู้หญิงเวลาเข้าวัดเพื่อให้ได้มีโอกาสฟังธรรมบ้าง

          นอกจากความเชื่อแล้ว ยีงมีเรื่องฮีตเกี่ยวกับผ้าซิ่นที่ควรรู้ด้วย

          “ฮีต” เปรียบได้กับจารีต ที่ชาวอีสานสั่งสอนลูกหลานซึ่งหาดปฏิบัติไม่ดี ไม่เป็นศรีแก่ตัวจะเรียกว่า “คะลำ” โดยฮีตเกี่ยวกับการนุ่งห่ม ได้แก่

        – ไม่ใช่เจ้านายห้ามนุ่งซิ่นไหมคำตีเสมอ
        – ห้ามเอาซิ่นตากไว้ที่สูงเกินศีรษะ
        – ห้ามย้อมสีไหมในวันพระ
        – ห้ามสาวไหมในวันพระถือว่าผิดศีล
        –  ห้ามสตรีมีประจำเดือนสาวไหมต่ำหูก
        –  ห้ามนุ่งผ้าใหม่ในวันอังคารและวันศีลดับ
        –  เวลาคลอดลูกให้เอาตีนซิ่นของแม่แช่น้ำกิน หรือนุ่งซิ่นของแม่คลอดลูก จะทำให้คลอดง่าย
        –  ลูกชายเวลาออกสนามรบให้เอาตีนซิ่นแม่คล้องคอจะทำให้แคล้วคลาด

ไทดำ / ลาวโซ่ง (อ.เชียงคาน จ.เลย) เอกลักษณ์การแต่งกายคือสวมชุดสีดำ มีความคิดสร้างสรรค์ในการตกแต่งชายเสื้อ
ไทพวน (อ.ตากโพธิ์ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย) ในงานบุญประเพณีผู้หญิงมักจะนุ่งผ้าซิ่นสีฉูดฉาด มีเชิง
ไทญ้อ (อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม , อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร , อ.เมือง จ.บึงกาฬ) นิยมสวมกำไลเงิน และนุ่งซิ่นลาย ชอบสไบสีแดงมากกว่าสีเหลือง)

          ในดินแดนลุ่มน้ำโขงมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานกว่า ๑,๐๐๐ ปี เป็นดินแดนที่แห่งอารยธรรม ไม่เพียงก่อเกิดอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ ยังกำเนิดกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มากมายที่มีการแต่งกายอันเป็นอัตลักษณ์ เช่น ไทพวน ไทลาว ไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ ไทดำ ไทแดง ไทญ้อ ผู้ไท แสก บรู โส้ และ กะเลิง

ผู้ไท (อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร , อ.เรณูนคร จ. นครพนม) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นที่อยู่หลากหลาย และมีประชากรที่มาก จนมีการจัดงานผู้ไทโลก

 ผู้ไท จ.กาฬสินธุ์ เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านการทอผ้าไหมแพรวา ที่หมายถึงความยาวของผ้าสไบที่ยาว ๑ วา ในภาพคือ แม่ครูคำสอน สระทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) ในชุดสตรีผู้ไทเต็มยศ

          มีคำกล่าวว่า “ทานกล้วยได้เป็นเศรษฐี ทานมัดหมี่ได้เป็นพระเจ้า”

          หนังสือผูกหรือคัมภีร์ใบลาน สร้างจากใบต้นลานซึ่งเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว จึงมีความเปราะบางมาก การห่อผ้าจะช่วยปกป้องหนังสือผูกทั้งจากความเสื่อมตามกาลเวลา และมอดแมลงต่างๆ ในเมื่อพวกผู้ชายสร้างบุญจากการบวชได้ ผู้หญิงจึงใช้วิธีทานผ้าห่อคัมภีร์เพื่อสร้างบุญบ้าง โดยหวังจะได้บรรลุธรรมในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย์

          ในวิถีชีวิตชนบทวัสดุอุปกรณ์ หรือ ผ้าคุณสมบัตินาโนเทคโนโลยีระบายอากาศใดๆ นั้นไม่มี ผ้าที่ระบายความชื้น ถ่ายเทอากาศ และงามที่สุดในบ้านคือซิ่นไหมนั่นเอง แต่ทั้งนี้ต้องเป็นผ้าใหม่ที่ยังไม่เคยใช้งานมาก่อน ภายหลังจึงมีการทอผ้ามัดหมี่หรือผ้าขิดขึ้นมาเพื่อเป็นผ้าห่อคัมภีร์ขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นผ้าห่อคัมภีร์โดยเฉพาะ

ผ้าห่อคัมภีร์ที่ทำจากผ้าซิ่นมัดหมี่
ผ้าห่อคัมภีร์ขิดที่ทอขึ้นเพื่อห่อมคัมภีร์โดยเฉพาะ

ปัจจุบันนี้ปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง จึงได้เกิด “ความตกลงปารีส” (Paris agreement) เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC) เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๖๓

          กระแสแฟชั่นนั้นมาไวไปไว ผลิตปริมาณมากในต้นทุนต่ำเพื่อให้ซื้อได้ในราคาถูก แต่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

          ส่วนสโลว์ แฟชั่น คือ แนวคิดแฟชั่นที่มาพร้อมกับความรักษ์ไลก โดยการใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นการใช้งานที่สามารถใช้งานได้บ่อย ทนทานใช้งานได้ระยะยาวเป็นแฟชั่นที่ยั่งยืน เน้นประโยชน์ใช้สอย และดีไซน์ที่คลาสสิค

          ผ้าซิ่นจึงจัดว่าเป็นสโลว์ แฟชั่น ขนานแท้ เพราะกว่าจะออกแบบลายเสร็จ กว่าจะทอเสร็จ แม้น้ำหนักตัวจะเพิ่มหรือลดผ้าซิ่นก็ยังเอาอยู่ จึงไม่ต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่บ่อยๆ ทั้งปัจจุบันยังวิธีการนุ่งที่เก๋ไก๋ อย่างนุ่งแบบทวิส แบบหางไหล แบบจีบรูด หรือดีไซน์เก๋ๆ ตัดเป็นชุดสวมแบบมิกซ์แอนด์ แมท ก็เข้าที ไม่มีเบื่อแล้ว

ผ้าปรกหัวขิดลายนาค

          ทุกวันนี้ผ้าไหมเทียมผลิตออกมาได้คล้ายไหมแท้อย่างมาก ต้องใช้การสังเกตที่ดีโดย ขั้นแรกต้องสังเกตโดยรวมผ้าไหมแท้จะมีความโปร่งกว่าไหมเทียมมาก และน้ำหนักเบากว่า อย่างที่ผู้เฒ่ามักเล่าไหมน้อย ๑ กำมือ คือ ผ้าที่ทอด้วยเส้นไหมเนื้อละเอียดสามารถกำไว้ได้ใน ๑ กำมือ

          และขั้นถัดมาคือ ดึงเอาเส้นใยทั้งแนวตั้งและแนวขวางมาจุดไฟเผาดู ไหมแท้เปลวไฟจะเป็นสีเหลือง เถ้าเป็นสีดำ ในขณะที่ไหมเทียมจะกลายเป็นก้อนติดกัน เพราะเส้นใยสังเคราะห์มีส่วนผสมของพลาสติก

          ปัจจุบันการสังซื้อสินค้าออนไลน์เป็นเรื่องที่ต้องไตร่ตรองอย่างหนัก ต้องระวังทั้งมิจฉาชีพและสินค้าที่ไม่ได้มาตราฐาน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อความรู้สึก จึงควรเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ศูนย์โอทอปประจำจังหวัด ศูนย์ศิลปาชีพประจำจังหวัด หรือ งานเทศกาลผ้าไหมประจำปี เช่น งานตรานกยูงพระราชทานที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี ประเพณีไหมและประเพณีผูกเสี่ยว จังหวัดขอนแก่น ที่จะจัดในช่วงเดือนธันวาคม

โส้ (อ.โนนสวรรค์ จ.นครพนม , อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร) สวมเสื้อสีดำ แขนกระบอก ผ่าอก ติดกระดุม สำหรับหญิงที่แต่งงานแล้วจะไม่มีผ้าแดงคาดเอว ผ้าซิ่นใช้ผ้ามัดหมี่ต่อหัว ต่อเชิง
 แสก (อ.โซ่พิสัย อ.พรเจริญ อ.เมือง จ.บึงกาฬ , อ.อาจสามารถ จ.นครพนม) สตรีชาวแสกสวมเสื้อแขนกระบอกสีดำ ผ้าถุงยาวกรอมเท้า ผ้าคาดเอวจากผ้าตีนจกหรือเข็มขัด ห่มสไบสีแดงทับ
ไทข่า/บรู (อ.ดอนตาล อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร , อ.ท่าอุเทน อ.นาแก จ.นครพนม) สวมเสื้อแขนกระบอกกุ๊นขอบแดง ประดับลายขิด สวมซิ่นยาวกรอมเท้า

About the Author

Share:
Tags: อีสาน / ผ้าไทย / ซิ่น / จก / ชาติพันธุ์ / มัดหมี่ / อนุรักษ์ / วิถีอนุรักษ์ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ