นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 36
เรื่อง/ภาพ: ธีรภาพ โลหิตกุล
ซูตองเป้ อวิชชา อกาลิโก
และคำขอโทษ
“ซูตองเป้ มิตรภาพ อธิษฐาน กาลเวลา” ภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน) กำกับการแสดงโดย บัณฑิต ทองดี ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ อาจไม่ใช่หนังส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ดีที่สุด แต่กล่าวได้ว่าก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทางการท่องเที่ยวแพร่กระจายไปหลายจังหวัด นั่นคือปรากฏการณ์สะพานไม้ในท้องนา หรือ “ซูตองเป้ ฟีเวอร์“
แหล่งท่องเที่ยวไหนมีท้องนา จะต้องมีสะพานไม้ให้หนุ่มสาวไป “เซลฟี” ไม่งั้นตกยุค แต่ในความเป็นจริง “ซูตองเป้” คืออะไร มีความหมายอย่างไร
สะพานซูตองเป้ ตั้งอยู่ที่บ้านกุงไม้สักตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนห่างจากใจกลางเมืองไปเพียง ๘ กิโลเมตรโครงสร้างสะพานเป็นไม้ พื้นปูด้วยไม้ไผ่สานกว้างราว ๒ เมตร ยาวถึง ๕๐๐ เมตร จึงทำสถิติเป็นสะพานไม้ไผ่ที่ยาวที่สุดของไทย แต่ถ้าเป็นสะพานไม้สักต้องยกให้ “สะพานอูเบ็ง” ในเมืองอมรปุระของพม่า ด้วยสถิติยาวกว่า ๑,๒๐๐ เมตร หรือกว่า ๑ กิโลเมตร
บนเนินสูงเหนือบ้านกุงไม้สัก สำนักสงฆ์ที่ตั้งอยู่คือ “สวนธรรมภูสมะ” สถานปฏิบัติธรรมภายใต้การดูแลของพระปลัดจิตตพัฒน์อคฺคปัญโญ ประธานสงฆ์สวนธรรมภูสมะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ก่อให้เกิดศรัทธาร่วมทั้งพระภิกษุ สามเณร ชาวบ้าน และคณะนักท่องเที่ยว ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสะพานทอดข้ามแม่น้ำสะงา ข้ามทุ่งนาของชาวบ้านเชื่อมต่อ “สวนธรรมภูสมะ” กับหมู่บ้านกุงไม้สักเพื่อให้พระภิกษุสามเณรเดินบิณฑบาตตลอดจนชาวบ้านได้สัญจรไป-มา
รวบรวมศรัทธาชาวบ้าน นำพาพระภิกษุสามเณร ชาวบ้าน ร่วมกันสร้าง ได้วางเสาเอกเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๔ พร้อมคณะ
ศรัทธาชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ร่วมกันอธิษฐานและร่วมเป็นเจ้าภาพ บริจาคจตุปัจจัยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น ๒ เดือนกับ ๑๒ วัน เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๔
เล่าขานกันว่า พระปลัดจิตตพัฒน์อคฺคปัญโญ อธิษฐานว่าจะสร้างพระพุทธรูปบนเนินเขา คือ “พระเจ้าพาราซูตองเป้” และสร้างสะพานซูตองเป้ให้สำเร็จในปีเดียว ซึ่งปรากฏว่าเพียง ๘ เดือน ก็สำเร็จดั่งที่ได้อธิษฐานไว้ จึงได้ชื่อว่า “ซูตองเป้” เป็นภาษาไทใหญ่ แปลว่า อธิษฐานสำเร็จสัมฤทธิผล