
นับเป็นชื่อที่มีเสน่ห์ และเปี่ยมด้วยความหมาย ที่สำคัญคือมีกลิ่นอายพื้นบ้านพื้นถิ่นสูงมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ประชากรหลักของแม่ฮ่องสอนคือชาวไทใหญ่ กลุ่มชาติพันธุ์ไท-ไตดั้งเดิม ที่อพยพมาจากรัฐฉานในพม่าและยังรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่แพ้ชาวไทลื้อเมืองน่าน ชาวไท-ยวนที่ลับแล ฯลฯ
สำหรับพระเจ้าพาราซูตองเป้บนดอยสวนธรรมภูสมะ ต่อมาได้พระนามที่เป็นทางการว่า “พระพุทธสามัคคีอธิษฐานมหาจักรพรรดิ” พระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ปางมารวิชัย เป็นพระปฏิมาประธานที่งดงามยิ่ง นอกจากนั้น ยังมี “เรือนเพาะธรรม” เป็นศาลามุงด้วยใบตองตึงสำหรับปฏิบัติธรรม จากการออกแบบอย่างเรียบง่ายทว่าสวยงามตามแนวคิดของพระปลัดจิตตพัฒน์ อคฺคปัญโญ โดยประยุกต์ความโดดเด่นของศิลปะพื้นบ้านกับศิลปะสมัยใหม่บนความพอดีได้อย่างลงตัว
ในระยะเริ่มแรก สวนธรรมภูสมะเป็นสถานปฏิบัติธรรมและอบรมธรรมะให้พุทธศาสนิกชนและนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียง จนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จึงได้ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น ๒๖ ไร่ในปัจจุบัน
ช่วงที่ผมไปเยือนสวนธรรมภูสมะ เป็นช่วงที่แวดวงพระสงฆ์เรียกช่วง “ปริวาสกรรม” ซึ่งพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับที่ประมวลศัพท์ (ป.อ. ปยุตฺโต) อธิบายว่า “ปริวาส” คือการอยู่ชดใช้ เรียกสามัญว่าอยู่กรรม เป็น “วุฏฐานวิธี” หรือระเบียบปฏิบัติสำหรับออกจากครุกาบัติ หมายความว่าพระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้

“สังฆาทิเสส” คือประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภท ครุกาบัติที่เรียกว่า อาบัติสังฆาทิเสส จัดเป็นอาบัติโทษรุนแรงรองจากปาราชิก มีทั้งหมด ๑๓ ประการคือทำน้ำอสุจิเคลื่อน แตะต้องสัมผัสกายสตรีพูดเกี้ยวพาราสีสตรี พูดจาให้สตรีบำเรอกามให้ทำตัวเป็นพ่อสื่อ สร้างกุฏิด้วยการขอ มีเจ้าภาพสร้างกุฏิให้แต่ไม่ให้สงฆ์แสดงที่ก่อน ใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล แกล้งสมมติแล้วใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล ทำสงฆ์แตกแยก (สังฆเภท) เข้าข้างภิกษุที่ทำสงฆ์แตกแยกภิกษุทำตนเป็นคนหัวดื้อ ประจบสอพลอคฤหัสถ์