นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 70
เรื่อง/ภาพ: ชาธร โชคภัทระ
เมื่อพูดถึงคำว่า “ท่องเที่ยว” ภาพที่เราเห็นคงจะเป็นการออกเดินทางไปเก็บเกี่ยวความสุขและประสบการณ์ใหม่ๆ ในวันพักผ่อนสบายๆ ได้ชื่นชมธรรมชาติสวยๆ ลิ้มรสอาหารอร่อย นอนในโรงแรมหรู หรือได้ขึ้นเครื่องบินเหินฟ้าสู่แหล่งท่องเที่ยวที่เราไม่เคยสัมผัส ทว่าในอีกมุมหนึ่ง “การท่องเที่ยว” ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ตั้งแต่เราก้าวเท้าออกจากบ้านจนกลับเข้าบ้าน ล้วนส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ทั้งทางตรงและทางอ้อม เทรนด์ใหม่ที่ทั่วโลกกำลังจับตาจึงต้องยกให้ “การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ” (Low Carbon Tourism) ซึ่งถือเป็นการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้
คาร์บอน มาคู่กับโลกร้อน
โลกของเราเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เพราะเป็นที่อยู่อาศัยของสรรพชีวิตนับร้อยล้านชนิด แถมยังมีกระบวนการดูแลเยียวยาตัวเองให้อยู่ในภาวะสมดุลมาได้นับล้านปี ทว่าหลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (ช่วงปี ค.ศ. ๑๗๕๐-๑๘๕๐) เป็นต้นมา อุณหภูมิโลกก็ร้อนขึ้นเรื่อยๆ ไม่น้อยกว่า ๑.๒ องศาเซลเซียส เป็นผลโดยตรงจากการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” (Green House Gas) ปล่อยก๊าซเผาไหม้เชื้อเพลิงคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทำลายชั้นโอโซนจนเกิดภาวะ “โลกร้อน” (Global Warning) นี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะทุกกิจกรรมของเราล้วนมีส่วนทำให้เกิดโลกร้อน แค่เปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดโทรทัศน์ ใช้รถยนต์ จุดเตาแก๊สปรุงอาหาร เผาเศษขยะหน้าบ้าน หรือแม้แต่หายใจเข้าออก ก็ล้วนปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกแล้ว จนเรียกกันว่า “รอยเท้าคาร์บอน” หรือ Carbon Footprint นั่นเอง
ลองนึกดูว่านักท่องเที่ยว ๑ คน กับการท่องเที่ยว ๑ ทริป จะปล่อยคาร์บอนได้มากแค่ไหน? เราต้องนั่งรถยนต์ เช่าโรงแรม มีที่พัก แน่นอนว่าย่อมเกิด Carbon Footprint ทั้งการใช้เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น การซักทำความสะอาดเครื่องนอน ใช้เครื่องบิน ๑ ครั้ง ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณเทียบเท่ารถยนต์ใน ๑ ปี จะกินอาหารอร่อยสักมื้อ ก็ต้องผ่านกรรมวิธีปรุงด้วยเครื่องมือทันสมัย หม้อหุงข้าว เตาก๊าซ เตาอบ วัตถุดิบชั้นเลิศที่ผ่านการนำเข้าและเพาะเลี้ยงโดยเทคโนโลยีอีก การเดินทางท่องเที่ยวแต่ละครั้งจึงเกิดรอยเท้าคาร์บอนปริมาณมหาศาล แถมยังเกิดมลพิษทางอากาศ เสียง ขยะ น้ำเสีย ฯลฯ เห็นหรือยังว่า “การท่องเที่ยว” พ่วงมาด้วยปัญหาอีกด้านที่ใครหลายคนไม่อยากพูดถึง
เที่ยวสนุก แต่โลกทุกข์ร้อน
มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทำการศึกษาใน ๑๖๐ ประเทศพบว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ ๔.๕ กิกะตัน หรือราวๆ ๔,๕๐๐ ล้านตันต่อปี คิดเป็น ๘ เปอร์เซนต์ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศโลก และยังพบว่า Carbon Footprint ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก ๓.๙ กิกะตัน สู่ ๔.๕ กิกะตัน ในปี ค.ศ. ๒๐๑๓ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น ๖.๕ กิกะตัน ในปี ค.ศ. ๒๐๒๕
ข้อมูลสำรวจจาก Sustainable Travel International ระบุว่าในการเดินทางท่องเที่ยวแต่ละครั้ง ปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาเกิดขึ้นในทุกขั้นตอน คือ การเดินทางด้วยพาหนะต่างๆ ปล่อยคาร์บอน คิดเป็น ๔๙ เปอร์เซ็นต์ ที่พัก ๖ เปอร์เซ็นต์ อาหารและเครื่องดื่ม ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ภาคบริการ ๘ เปอร์เซ็นต์ ภาคเกษตร (พืชผักผลไม้ที่นำเข้ามาใช้) ๘ เปอร์เซ็นต์ สินค้าและการช็อปปิง ๑๒ เปอร์เซ็นต์ การก่อสร้างอาคารสถานที่เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ๖ เปอร์เซ็นต์ และอื่นๆ อีก ๑ เปอร์เซ็นต์
ด้วยเหตุนี้ “การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ” จึงเป็นการแสดงสำนึกรับผิดชอบต่อโลก พยายามหาจุดสมดุลระหว่างการเดินทางทำกิจกรรมท่องเที่ยว การดำเนินธุรกิจสร้างเม็ดเงิน และรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด จนนำไปสู่ “การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” (Net Zero Tourism หรือ Carbon Neutral) ซึ่งบริษัททัวร์จะต้องใช้เงินซื้อ Carbon Credit หรือทำกิจกรรม CSR บางอย่างเพื่อชดเชยคาร์บอนที่ปล่อยออกไปในระหว่างท่องเที่ยว ในประเทศไทยสามารถซื้อ Carbon Credit ได้ที่ TEATA หรือ สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย และ TGO หรือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
เที่ยวคาร์บอนต่ำ ทำได้ไม่ยาก
เมื่อเรารู้แล้วว่าการท่องเที่ยวส่งผลใหญ่หลวงต่อภาวะโลกร้อน จึงต้องเร่งทำให้การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเกิดผลจริง สิ่งแรกต้องเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน โดย “เปลี่ยนความคิด” (Mind Set) ที่จะท่องเที่ยวเก็บเกี่ยวความสุข โดยส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เช่น แทนที่จะขึ้นเครื่องบินก็เปลี่ยนเป็นรถบัสหรือรถไฟ อาจจะเดินทางช้ากว่าแต่ก็ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าและขนส่งปริมาณคนต่อเที่ยวได้มากกว่า แทนที่จะกินอาหารที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งก่อให้เกิด Carbon Footprint ในการขนสูงมาก ก็หันมากินอาหารที่ผลิตในท้องถิ่นเองโดยชาวบ้าน กินผัก ไข่ เนื้อสัตว์ออร์แกนิก นอกจากนี้ในการกินหรือเสิร์ฟอาหารแต่ละครั้งก็ควรมีปริมาณพอดี ไม่เหลือทิ้ง เรียกว่า “Zero Waste” เป็นต้น ถ้าใครยังคิดว่าทำแบบนี้แล้วไม่สะดวก เสียเวลา แปลว่าคุณยังเน้นความสบายส่วนตัวมากกว่าห่วงใยโลกใบนี้
หลักการง่ายๆ ของการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำที่ทำได้จริง ทั้งในส่วนของผู้จัดการท่องเที่ยว คือ บริษัทขายทัวร์ (Tour Agent) และบริษัทนำเที่ยว (Tour Operator) รวมถึงตัวนักท่องเที่ยว (Tourist) ก็คือ “ปรับ-ลด-ชดเชย” โดย “ปรับ” (Change หรือ Adapt) หมายถึงปรับแนวคิด พฤติกรรม รูปแบบ วิธีการท่องเที่ยว “ลด” (Reduce) หมายถึงลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน เพื่อลดขยะ ลดของเสีย ลดการปล่อยคาร์บอน “ชดเชย” (Carbon Offsetting) หมายถึงการทำกิจกรรม CSR หรือใช้เงินซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกไป ทั้งสามขั้นตอนส่งผลดีตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังจากท่องเที่ยวแล้ว เท่ากับเราใช้ทรัพยากรน้อยลง ใช้พลังงานน้อยลง เกิดขยะน้อยลง และปล่อยคาร์บอนน้อยเป็นเงาตามตัว
ตัวอย่างง่ายๆ เพื่อช่วยกัน “ลดการใช้พลังงาน-เชื้อเพลิง” เช่น ผู้จัดโปรแกรมท่องเที่ยวจากเดิมที่ใช้รถยนต์ก็ปรับมาใช้วิธีปั่นจักรยานเที่ยวในระยะใกล้ๆ โดยมีจุดพักหรือทำกิจกรรมระหว่างทางแทน เสริมด้วยกิจกรรม CSR ปลูกป่าและเก็บขยะในชุมชน หรือเปลี่ยนจากนั่งเรือหางยาวมาเป็นการพายเรือคายัค “ลดการใช้ไฟฟ้า” เช่น จัดกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่เปิดโล่ง อาศัยแสงและลมธรรมชาติ หรือถ้าต้องเปิดไฟฟ้าก็เลือกใช้หลอดไฟ LED และเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน หรือเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด จากแสงอาทิตย์และลม “ลดการใช้พลาสติก” โดยเปลี่ยนเป็นภาชนะใช้ซ้ำแทนพลาสติกได้ อย่างปิ่นโตและแก้วน้ำ เปลี่ยนมาใช้วัสดุแทนกล่องโฟม อย่างจานกาบหมาก จูงใจให้ใช้ถุงผ้าหรือกระเป๋าตลอดการท่องเที่ยวและส่งเสริมให้ใช้ขวดน้ำประจำตัว เพิ่มจุดเติมน้ำดื่มระหว่างทางแทนการใช้ขวดพลาสติก “ลดคาร์บอนจากมื้ออาหาร” โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น จัดเซ็ตอาหารเป็นชุดเพื่อให้ปริมาณอาหารพอดีกับแต่ละคน ไม่เหลือทิ้ง ลดปริมาณเนื้อสัตว์จากฟาร์มเลี้ยง และจัดการเศษอาหารให้ถูกต้อง โดยนำไปทำปุ๋ยหรืออาหารสัตว์ เป็นต้น
เที่ยวสมดุล สนุกเต็มที่ ดีต่อโลก
ในเมืองไทยเราเริ่มมีการท่องเที่ยวคาร์บอนต่อย่างจริงจังแล้วในหลายพื้นที่ เช่น “ชุมชนบ้านถ้ำเสือ” จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำมาผสานกันอย่างกลมกลืน จนได้รับรางวัลมากมาย กิจกรรมเด่น เช่น เดินป่าศึกษาธรรมชาติ เรียนรู้ไม้ยืนต้นหลายสิบชนิด ที่สามารถดูดซับคาร์บอนมาเก็บไว้ ต่อด้วยกิจกรรมปลูกป่า ล่องแพยางในลำน้ำเพชรบุรี ชมแปลงผักออร์แกนิก ชิมอาหารท้องถิ่น และมีโฮมสเตย์อนุรักษ์พลังงานด้วย ประโยชน์จากการปลูกต้นไม้ที่นี่เพียง ๑ ต้น จะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง ๙-๑๕ กิโลกรัมคาร์บอน/ปี ช่วยผลิตก๊าซออกซิเจนให้คน ๒ คน หายใจได้ทั้งปี และทำให้อุณหภูมิโดยรอบลดลง ๒-๔ องศาเซลเซียส
อีกแหล่งท่องเที่ยวที่ประกาศตัวชัดเจนคือ “เกาะหมาก Low Carbon” จังหวัดตราด ซึ่งผู้ประกอบการบนเกาะตกลงร่วมกันเป็นธรรมนูญ ว่าจะรักษาสภาพธรรมชาติไว้ให้คงอยู่นานที่สุด ไม่เน้นปริมาณนักท่องเที่ยวแต่เน้นคุณภาพเป็นหลัก โรงแรมต่างๆ เน้นประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาเสริม ลดการใช้น้ำ การซักล้าง และนำพืชผักออร์แกนิกที่ปลูกบนเกาะมาเสิร์ฟ ไม่สนับสนุนการใช้โฟม กิจกรรมท่องเที่ยวเน้นการปั่นจักรยาน พายเรือ เล่นเรือใบ ไม่สนับสนุนเรือเฟอร์รี่มาสู่เกาะหมาก ต้องมีการแยกขยะ ห้ามทิ้งขยะหรือสารเคมีลงแหล่งน้ำ และไม่สนับสนุนกีฬาที่ใช้เครื่องยนต์เสียงดังรบกวนธรรมชาติและชุมชน เป็นต้น
การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่มีเสน่ห์น่าหลงใหล อย่าเผลอปล่อยให้มันไปทำร้ายโลกโดยไม่รู้ตัว คิดจะท่องเที่ยวสักที ก็ต้องเที่ยวอย่างชาญฉลาดแบบวิถีใหม่ จะได้ครบทั้งความสุข สนุก ความรู้ และโอบอุ้มรักษาโลกให้สวยงามเช่นนี้ตลอดไป