นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 18
เรื่อง: นิภาพร ทับหุ่น
ภาพ: กิตตินันท์ รอดสุพรรณ
เสน่หา
ท่าระแนะ
พ้นโค้งน้ำที่ถูกเบียดเสียดด้วยกอจากผืนใหญ่คือภาพ “สวนสาธารณะแห่งรากไม้” ที่เลื้อยขดลดหลั่นแผ่ซ่านออกไปราวกับศิลปินระดับโลกมาระบัดระบายพู่กันไว้ก็ไม่ปาน ที่นั่นคือลานตะบูน และที่นั่นมี “รักษ์”
ทุกสิ่งที่อยู่บนโลกนี้ล้วนมีความหมายวันหนึ่งอาจไม่มีค่าสำหรับใคร แต่อาจกลายเป็น “สมบัติล้ำค่า” สำหรับบางคนเมื่อวันเวลาเหมาะสมเดินทางมาถึง
เช่นเดียวกับ “ลานตะบูน” ในชุมชนท่าระแนะ ตำบลหนองคันทรง อำเภอเมือง จังหวัดตราด ที่เคยเป็นเพียง “ที่พักสายตาชั่วคราว” ให้ชาวบ้าน ทว่าวันนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแนว “อันซีน” ที่สำคัญ และกำลังได้รับความสนใจจากคนรักธรรมชาติทุกคน
สายชล สุเนตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๒ บ้านท่าระแนะ เล่าให้ฟังว่า ก่อนท่าระแนะจะมีชื่อเสียงในฐานะแหล่งท่องเที่ยวในแบบ “นิเวศพิพิธภัณฑ์” ท่าระแนะเคยเป็นชุมชนโบราณ
ริมน้ำที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า ๑๐๐ ปี โดยมี “คลองเจ๊ก” เป็นท่าน้ำรับสินค้าจากสำเภาของชาวจีนและไทย ต่อเมื่อเวลาผ่านไป ท่าน้ำถูกทิ้งร้าง เรือผุพัง จนเป็นที่มาของคำว่า “ระแนะ” อันหมายถึงเศษเรือนั่นเอง
อู่ข้าวอู่น้ำของชาวบ้านท่าระแนะอยู่ที่ป่าชายเลน เพราะที่นี่เป็นทั้งแหล่งเพาะพันธุ์ปูเป็นบ้านปลา และเป็นป่าที่มีพืชพรรณมากมาย ชาวท่าระแนะตระหนักรู้ในคุณค่าของทรัพยากรรอบกาย จึงช่วยกันดูแลและให้ความ “รักษ์” กันเป็นอย่างดี จนที่สุดแล้วเป็นชุมชนต้นแบบเรื่องการอนุรักษ์ที่โด่งดังในระดับประเทศ
ทุกสิ่งที่อยู่บนโลกนี้ล้วนมีความหมายวันหนึ่งอาจไม่มีค่าสำหรับใคร แต่อาจกลายเป็น “สมบัติล้ำค่า” สำหรับบางคนเมื่อวันเวลาเหมาะสมเดินทางมาถึง
อู่ข้าวอู่น้ำของชาวบ้านท่าระแนะอยู่ที่ป่าชายเลนเพราะที่นี่เป็นทั้งแหล่งเพาะพันธุ์ปู เป็นบ้านปลาและเป็นป่าที่มีพืชพรรณมากมาย
เมื่อเป็นที่รู้จักมากก็ย่อมมีผู้คนสนใจเข้ามาเยี่ยมเยือนมากมาย วินาทีนี้ผู้ใหญ่สายชลเริ่มคิดว่า น่าจะจัดการท่องเที่ยวในชุมชนเพื่อกระจายรายได้ให้กับชาวบ้าน พร้อมๆ กับใช้การท่องเที่ยวเป็นกุศโลบายในการฝังรากแห่งรักษ์ให้กับทุกคน
อย่างที่บอกว่า การท่องเที่ยวในชุมชนท่าระแนะเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ฉะนั้นจึงมีครบทั้งโฮมสเตย์ วิถีชีวิต และกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งหลักๆ แล้วจุดหมายของหลายคนอยู่ที่การนั่งเรือท้องแบนไปชม “ลานตะบูน”
“ที่นี่มีป่า ๓ ชั้น ป่าชั้นแรกจะมีต้นลำพูที่มีหิ่งห้อยเกาะเยอะเลย โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคม นอกจากลำพูก็มีโกงกาง แสม ต้นไม้
ที่อยู่ในดินเลนอ่อนๆ ส่วนป่าชั้นที่ ๒ เป็นป่าตะบูน ต้นป่าโปง ป่าฝาด และป่าชั้นสุดท้ายคือป่าเสม็ด เสม็ดขาว ป่าเป้ง รู้จักไหม ต้นเป้งที่เอาใบมาทำไม้กวาด ลูกมันเป็นอาหารของลิงของนกได้ ส่วนริมคลองจะเป็นป่าจาก นี่คือนิเวศของป่า ๓ ชั้น” ผู้ใหญ่สายชลเล่า
ระหว่างนั่งเรือท้องแบนอยู่นั้น ผู้ใหญ่ก็ชี้ชวนให้ดูพืชพรรณหลายอย่าง รวมถึง “ต้นร้อยรู” กาฝากชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณทางยาและหายากขึ้นทุกวัน จึงเพิ่มกิจกรรมปลูกต้นร้อยรูเข้าไปในโปรแกรมการท่องเที่ยวพร้อมๆ กับการให้บริการ “ชาร้อยรู” และนิยามสรรพคุณว่า “จิบชาร้อยรู อยู่ได้ร้อยปี”
ไม่เพียงต้นร้อยรูเท่านั้นที่หายาก ผู้ใหญ่บอกว่า “หอยพอก” ที่เคยมีมากก็เป็นอีกหนึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่ลดจํานวนลงไปอย่าง รวดเร็ว ชาวบ้านจึงต้องพยายามทําทุกวิถีทาง เพื่อรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้คงอยู่กับชุมชนต่อไป
“เราเอาสิ่งที่มีในชุมชนมาเป็นการ ท่องเที่ยว อย่างคนเฒ่าคนแก่เขามีกลุ่ม จักสานเล็กๆ เราก็ดึงเขาเข้ามา เอาผลิตภัณฑ์มาวางให้นักท่องเที่ยวดูและซื้อไปเป็นของฝากคนแก่พอขายของได้ก็มีกําลังใจ หรืออย่างคนพิการที่เคยใช้ชีวิตคนเดียวเหงาๆ แต่เขามีความสามารถในการมัดปูด้วยมือเดียวภายในเวลาไม่ถึง ๒๐ วินาที พอเราให้เขามาทํากิจกรรมตรงนี้ มันก็เหมือนว่าเราได้ช่วยคนพิการให้เขามีชีวิตชีวา มีคุณค่า และมี รายได้ ถ้าไม่มีกิจกรรม เขาก็อยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย แต่พอมีกิจกรรม เขาจะรู้สึกมีคุณค่าแล้วเราก็ให้นักท่องเที่ยวช่วยกันปล่อยปู เป็น กิจกรรมที่ช่วยคืนชีวิตให้กับธรรมชาติด้วย”
ภาพประกอบอาจไม่สอดคล้องกับเรื่องเล่าเท่าไร เพราะตอนนี้เบื้องหน้าของเราคือ รากไม้สีขาวที่ทอดตัวยาวคดเคี้ยวไปมา คะเน ด้วยสายตาแล้วคงเป็นลานที่กว้างใหญ่กว่า ไร่แน่ๆ ซึ่งผู้ใหญ่สายชลสําทับว่าเป็นเรื่องจริง
ต้นตะบูนแต่ละต้นสูงใหญ่จนไม่อาจ คาดเดาอายุที่แน่นอนได้ ยามน้ําลดเช่นนี้รากไม้จะโผล่พ้นผิวดิน งดงามเกินจินตนาการจริงๆ ถ้าไม่บอกว่าธรรมชาติจัดสรรก็อาจจะ คิดไปไกลว่ามีใครมา “สร้าง” มันขึ้นมาก็เป็นได้
“ลองถอดรองเท้าแล้วลงไปเดินบนรากไม้ดูสิ รากไม้แข็งแรงรับน้ําหนักได้ ผมคิดว่า มันน่าจะเป็นสปาเท้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อันนี้ผมตั้งเองเฉยๆ เพื่อให้มันน่าสนใจนะ” ผู้ใหญ่สายชลบอกพลางหัวเราะ
ความสุขของคนที่นี่เสียงดังดีจริงๆ ไม่ เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ลานตะบูนแห่งนี้จะกลายเป็น ปลายทางที่หลายคนปักหมุดว่าจะต้องมา สัมผัสให้ได้สักครั้งในชีวิต อย่างน้อยๆ ก็มาเพื่อให้ได้เห็น ให้ได้รู้ว่า “รักษ์แท้” นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร