เรื่อง / ภาพ ดร. ณัฐธัญ มณีรัตน์
เนื่องจากเทศกาลถือศีลกินผักหรือที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปว่า “ประเพณีกินเจ”
เพิ่งผ่านพ้นไป ประเพณีดังกล่าว ถือความไม่เบียดเบียนชีวิตเป็นสำคัญ
ไม่เอาชีวิตผู้อื่นมาจุนเจือชีวิตเรา ไม่เอาเลือดเนื้อชีวิตอื่นมาเป็นเลือดเนื้อเรา
ด้วยแนวคิดแห่งเมตตาธรรมนี้ทำให้น้อมระลึกถึงพระโพธิสัตว์แห่งความกรุณาที่ชาวพุทธมหายานหรือแม้แต่ชาวไทยพุทธรู้จักเป็นอย่างดี พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหรือพระโพธิสัตว์กวนอิม
ก่อนอื่นควรทราบความหมายของคำว่าโพธิสัตว์กันก่อน พระโพธิสัตว์คือผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ อนิยตโพธิสัตว์ คือ พระโพธิ์สัตว์ที่ยังไม่ได้รับการลัทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า ถือว่ายังไม่เที่ยงต่อการตรัสรู้ อาจถอนหรือเปลี่ยนภูมิได้ และ นิยตโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่ได้รับการลัทธพยากรณืจากพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งแล้วว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์จึงถือว่าถือว่าเป็น ผู้ที่สืบสานพุทธวงศ์มิให้สูญหายไป
ตราบเท่าที่ยังมีสรรพสัตว์ผู้ตกทุกข์อยู่ในห้วงวัฏสงสาร ตราบนั้นย่อมต้องมีผู้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้เข้าสู่พระนิพพานต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากนี้พระโพธิสัตว์ตามคติมหายานยังแบ่งออกได้เป็นสองประเภท คือ พระมานุษยโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์ที่เพิ่งจะบำเพ็ญบารมี และยังคงต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ (ภพภูมิต่าง ๆ )
บางครั้งก็เกิดในสุคติภูมิ (มีโลกสวรรค์เป็นต้น) บางครั้งก็อาจจะไปเกิดยังทุคติภูมิ เรียกว่า อยู่ในขั้นสั่งสมบารมี เนื่องจากพระโพธิสัตว์ยังมีอาสวะกิเลสอยู่ก็อาจพลั้งเผลอทำอกุศลกรรมไปได้ และพระธยานิโพธิสัตว์ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า พระเทวโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีโดยครบถ้วนสมบูรณ์พร้อม สามารถที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทุกเมื่อ แต่ด้วยความกรุณาที่พระองค์มีต่อสรรพสัตว์จึงทำให้พระองค์ยังไม่ตรัสรู้ ในขั้นนี้เราอาจเรียกว่า พระโพธิสัตว์ มหาสัตว์
พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นั้น พระนามของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายนัยด้วยกัน เมื่อกล่าวโดยรูปศัพท์แล้ว คำว่า “อวโลกิเตศวร” มาจากคำสันสกฤตสองคำ คือ อวโลกิต กับ อิศวร แปลได้ว่าผู้เป็นใหญ่ที่ทอดทัศนาโลก อันหมายถึงเฝ้าดูแลสรรพสัตว์ที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์นั่นเอง
สร้อยพระนามของพระโพธิสัตว์องค์นี้ คือ สมันตมุข หมายถึง ปรากฏพระพักตร์อยู่ทุกทิศอาจแลเห็นทั้งหมด (เหมือนดังรูปสลักที่ปราสาทบายน) ทรงเป็นผู้ที่สามารถบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ คือ อาจจะเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อใดก็ได้ แต่ทรงยับยั้งไว้เนื่องจากความกรุณาสงสารต่อสรรพสัตว์ สำหรับคำว่า อิศวร นั้น เป็นเสมือนกับฐานันดรที่ติดมากับพระนามของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญยิ่ง
พุทธศาสนิกชนชาวจีนจะรู้จักพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ในพระนามว่า กวนซีอิม หรือ กวนอิม ซึ่งก็มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “อวโลกิเตศวร” ในภาษาสันสกฤต คือ ผู้เพ่งสดับเสียงแห่งโลก หมายถึง พระผู้สดับฟังเสียงคร่ำครวญของสัตว์โลก (ที่กำลังตกอยู่ในห้วงทุกข์)
คำว่า “กวนซีอิม” นี้ พระกุมารชีวะชาวเอเชียกลางผู้ไปเผยแผ่พระศาสนาในจีนเป็นผู้แปลขึ้น ต่อมาตัดออกเหลือเพียงกวนอิมเท่านั้น เนื่องจากคำว่าซีไปพ้องกับพระนามของ จักรพรรดิถังไท่จง หรือ หลีซีหมิง นั่นเอง ในขณะที่พระถังซัมจั๋ง( ท่านเฮี่ยนจัง) พระเถระชาวจีนสมัยราชวงศ์ถังได้ถอดนามของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ว่า “กวนจือไจ๋” แปลว่าผู้เพ่งไปโดยอิสระ พระนามนี้ปรากฏในคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร แต่พุทธศาสนิกชนจะรู้จักพระองค์ในชื่อกวนอิมหรือกวนซีอิมมากกว่า
พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ถือว่าเป็นพระธยานิโพธิสัตว์ ในบางครั้งจึงปรากฏสร้อยพระนามว่า มหาสัตว์ ด้วยดังที่กล่าวมาแล้วว่าพระนามว่าอวโลกิเตศวร หมายความว่า ผู้เป็นใหญ่ในการทัศนาโลก คือ พระองค์ทรงไว้ ซึ่งความกรุณาอันไพศาล ไม่มีขอบเขต ทรงคอยสอดส่องดูแลปลดเปลื้องทุกข์ของสรรพสัตว์ จีนเรียกพระองค์ว่า “กวงซีอิมพู่สัก” แปลว่าผู้สดับเสียงสัตว์โลกผู้เป็นใหญ่แต่พระถังซัมจั๋งเรียก กวนจือไจ๋ผู่สัก แปลว่าผู้ทอดทัศน(โลก)ไปโดยอิสระ ซึ่งมีผู้อธิบายถึงความแตกต่างของคำทั้งสองว่า คำว่ากวนซีอิมผู้สักเป็นการบรรยายถึงหน้าที่ที่พระองค์ปฏิบัติต่อสรรพสัตว์ คือสดับเสียงสัตว์โลกด้วยความกรุณา ส่วนคำว่า กวนจือไจ๋นั้นเป็นหน้าที่ที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อตัวเองคือทอดทัศนาโลกโดยอิสระ ไม่ปล่อยให้อารมณ์ทั้งหลายก่อกวนจิต แม้พระองค์จะกรุณาต่อสรรพชีวิต แต่พระองค์ก็ไม่ยิดติดในบุคคลใด ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ พระนามนี้ปรากฏอยู่ในปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร อันเป็นพระสูตรว่าด้วยศูนยตา เป็นบทสนทนาของพระสารีบุตร และพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
สำหรับคัมภีร์โบราณที่ปรากฏพระนามของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้มีดังนี้ ในกรุณาปุณฑริกสูดร (ปุยฮั่วเก็ง) กล่าวว่าถึง พระอวโลกิเตศวร ว่าเป็นพระธรรมกายโพธิสัตว์ สูงกว่าพระโพธิสัตว์ชั้นสามัญอื่นๆ เป็นผู้เอกชาติ ปฏิพัทธะ คือ เกิดอีกชาติเดียวก็จะบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หรืออีกนัยหนึ่งคือบำเพ็ญบารมีครบถ้วนแล้ว และจะเป็นผู้ตรัสรู้สัมโพธิญาณ หลังจากกาลแห่งปรินิพพานของพระอมิตาภะพุทธเจ้ารับสืบสนองเป็นองค์พระพุทธเจ้า ณ สุขาวดี พุทธเกษตรต่อจากพระอมิตาภะ ในอมิตายุรธยานสูตร (กวงบ้อเสียงสิ่วเก็ง) แสดงว่าพระองค์ประทับอยู่ ณ สุขาวดีโลกธาตุ ดำรงตำแหน่งเป็นพระโพธิสัตว์เบื้องขวาของพระอมิตาภะพุทธเจ้าคอยช่วยเหลือพระอมิตาภะพุทธเจ้าในการโปรดสัตว์ และตอบสนองต่อการสวดภาวนาพระนามของพระอมิตาภะ กล่าวคือ พระองค์จะรับดวงวิญญาณของผู้ที่สวดภาวนาให้ไปเกิดยังพุทธเกษตรสุขาวดี (โปรดติดตามต่อตอนหน้า)