Sunday, January 19, 2025
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

๒ ร้านอาหารสุดเก๋าในเชียงใหม่ สไตล์ อนุรักษ์

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 4
เรื่องและภาพ: ทีมงานนิตยสารอนุรักษ์

๒ ร้านอาหารสุดเก๋าในเชียงใหม่ สไตล์ อนุรักษ์

จังหวัดที่ได้ชื่อว่าโรแมนติกสุดๆ ของเมืองไทย ไม่ว่ามุมไหนก็มีเสน่ห์ แม้แหล่งฮิปๆ ในตัวเมือง จะถูกความทันสมัยปกคลุมราวหมอกหนา ทว่าเราพยายามมองหา สถานที่ที่มีความสวยงามในความน่า “อนุรักษ์” มาฝากคนที่มักทิ้งรองเท้าอีกคู่ไว้ที่เชียงใหม่แม้เมืองนี้มีอายุกว่า ๗๐๐ ปี แต่เป็นเมืองที่ไปทีไรก็ไม่เคยเก่า…

เชียงใหม่ เมืองที่มีอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอเราเลยคิดว่า ไม่น่าจะต้องแนะนำสถานที่ใหม่ๆ กันมากนัก เพราะน่าจะมีอยู่ในไกด์บุ๊ค ที่อัพเดตกันอยู่เรื่อยๆ แต่อนุรักษ์ขออาสาแนะนำที่เก๋าๆ ในเชียงใหม่ ที่ใครอาจหลงลืม เพราะบางที่ที่เราเรียกรถสามล้อให้ไปส่ง ยังไม่อาจไปส่งให้ถึงที่ได้ หรือบางที่ก็อยู่ห่างเมืองออกไป แต่มีต้นไม้ใหญ่สวยงาม ให้เราออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ ไปดูกันว่า ที่ไหนมีอะไรอร่อยบ้าง

ยิมคานา ไม้ฉำฉา และราดหน้าปลาเต้าซี่

พลัดหลงออกนอกเมืองโดยเจตนา และพบว่าไม่ผิดหวัง เมื่อมาเจอต้นฉำฉาสูงใหญ่แผ่กิ่งก้านสะดุดตามากๆ ภายในสนามกอล์ฟอันเป็นที่ตั้งของ สโมสรยิมคานา เชียงใหม่และหากไม่มีเชื้อของการควานหาของอร่อยถูกปากอยู่ในตัวแล้วละก็ คงไม่ได้มาเจอที่นี่ได้ง่ายๆ เพราะมองจากด้านนอก ใครจะรู้ว่าภายในสโมสรทีม่ สี นามกอลฟ์ แห่งนื้แอบซ่อนอาหารอร่อยๆ ไว้มากมายหลายอย่าง

ก่อนอื่น มาทำความรู้จัก ยิมคานา ที่ถือว่าเป็นสโมสรกีฬาแห่งแรก และขึ้นชื่อว่าเป็นสนามกอล์ฟประวัติศาสตร์ ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยด้วย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๔๑ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และปัจจุบัน ยังมีกีฬาของผู้ดีอังกฤษคงไว้อย่างเหนียวแน่นทั้ง สควอทซ์ คริกเก็ต เทนนิส โปโล และกอล์ฟ จนถึงวันนี้ มีอายุร้อยกว่าปีภายในพื้นที่กว้างกว่า ๑๓๐ ไร่ ที่โดดเด่นสะดุดตาคือ ต้นฉำฉา หรือต้นก้ามปูใหญ่ที่โตมาพร้อมๆ กับที่ดินผืนนี้ รวมทั้งต้นยางอีก ๖ ต้นใหญ่ ซึ่งอยู่รายรอบ ที่เพิ่งได้รับรางวัลต้นไม้ใหญ่สวยงาม ที่ได้รับการดูแลอย่างดีไปเมื่อไม่นานนี้ด้วย

จากประวัติการก่อตั้ง ที่ดินผืนนี้เจ้าพระยาทรงสุรเดช ได้ซื้อร่วมกับชาวอังกฤษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้จัดการบริษัทสัมปทานป่าไม้ของบริษัทบอมเบย์ เบอร์ม่า, บริษัทบอร์เนียวข้าราชการกรมป่าไม้ของไทย และที่มาจากประเทศอังกฤษ สนนราคาของพื้นที่แห่งนี้ในตอนนั้น ราคาเพียง ๒,๕๐๐ รูปี โดยเป้าหมายในตอนนั้นคือ ใช้เป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ในกลุ่มพ่อค้าวาณิชจากต่างชาติหรือที่คนเมืองล้านนาไทย เรียกอย่างเข้าใจง่ายๆ ว่า “ฝรั่ง” ซึ่งขณะนั้น มีวัฒนธรรมแปลกแยกจากสังคมล้านนาไทยค่อนข้างสูงต่อมาสถานที่แห่งนี้ ได้รับชื่อว่า “สโมสรเชียงใหม่ ยิมคานา” (The Chiang Mai Gymknana Club) โดยตั้งใจจะใช้เพื่อส่งเสริมกีฬาทุกชนิดในภาคเหนือของไทย และให้เป็นที่พบปะสังสรรค์ของสมาชิกและครอบครัวหลายคนลงความเห็นว่า เชียงใหม่ ยิมคานาน่าจะเป็นคลับแห่งแรกของประเทศ และของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ว่าได้

สโมสรยิมคานาในปัจจุบัน ถือเป็นที่พบปะสังสรรค์ของเหล่าก๊วนนักกอล์ฟ ทั้งชาวฝรั่ง ไทย จีน ญี่ปุ่น ที่นิยมมาออกรอบที่สนามกอล์ฟ ๙ หลุม ที่เขียวชอุ่มแห่งนี้และระหว่างพักจากกีฬาโปรด ก็มีร้านอาหารภายในสโมสร ที่มีอาหารอร่อยๆ เสิร์ฟ ทั้งแบบจานเดียวง่ายๆ อย่าง ข้าวอบสับปะรดราดหน้าปลาเต้าซี่ ที่เข้มข้นในรสชาติ อาหารที่นี่ปรุงในแบบเชฟรุ่นเก๋า ที่ไม่ยอมให้มีการผิดเพี้ยน ทั้งในเรื่องเครื่องปรุง และไม่ยอมอ่อนด้อยในรสชาติ ให้คนชิมออกปากตำหนิเมนูมีทั้ง ไทย จีน ญี่ปุ่น จานที่ควรลองคือไก่แช่เหล้า เสิร์ฟพร้อมยำ แมงกะพรุนในนํ้ามันงา, เนื้ออบ เสิร์ฟฟร้อมยอดคะน้าอ่อนนํ้ามันหอย, สลัดกุ้งทอด และซุปเยื่อไผ่ที่เคี่ยวจนข้น โรยหน้าด้วยเนื้อปูชิ้นใหญ่ๆ

เครื่องดื่มก็มี ชา กาแฟ นํ้าผลไม้ หากใครอยากหลบความวุ่นวายในเมืองเชียงใหม่แต่แสวงหาที่สงบร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่สวยๆ ให้ชื่นชม สมความเป็นชาวอนุรักษ์ละก็ ยิมคานาน่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่คุณต้องการสโมสรเชียงใหม่ ยิมคานา ๓๔๙ ถ.เชียงใหม่-ลำพูน โทร. ๐ ๕๓๒๔ ๑๐๓๕

ระมิงค์ ที เฮาส์ ชาหอม ในสวนสวย

อาคารเก่าอายุร้อยกว่าปี ที่ใครไม่สังเกตก็อาจผ่านไปเฉยๆ ได้ ระมิงค์ ที เฮาส์ ตั้งอยู่เชิงสะพานแม่ข่า ท่าแพ อาคารสวยหลังนี้เดิมเป็นบ้านไม้ติดลำนํ้าแม่ข่า สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ บ้านไม้สัก ๒ ชั้น หลังใหญ่นี้ได้รับอิทธิพลตะวันตก แบบเรือนขนมปังขิงที่มีลวดลายไม้ฉลุต่างๆ ประดับอยู่ตามองค์ประกอบอาคาร ทั้งภายใน และภายนอกส่วนตรงกลางบ้าน เป็นโถงโล่งอยู่ตรงกลางเนื่องจากคนโบราณ จะปลูกบ้านให้มีหลังคาสูง เพื่อให้ลมพัดผ่าน และไหลเวียนได้ดี ด้านหลังของบ้านเป็นสวน ซึ่งปัจจุบัน ใช้เป็นที่นั่งจิบนํ้าชา ดูคล้ายนั่งในสวนในอังกฤษ ทั้งยังมีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา

บ้านหลังนี้ เดิมเป็นของขุนอนุกรบุรี ต้นตระกูลนิมากร เป็นคนไทยเชื้อสายจีนได้บรรดาศักดิ์เป็นขุน ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก่อนหน้านี้ เคยเปิดเป็นร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างชื่อร้าน “หนิ่มเฉี่ยวฉวด” หลังจากขุนอนุกรฯเสียชีวิต ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ จึงยกบ้านหลังนี้ให้ลูกชาย คือ นายบรรยงค์ นิมากร เปิดเป็นคลินิก ชื่อว่า “คลินิกหมอสมโพธิ” ภายหลังขายให้คุณนิตย์ วังวิวัฒน์ เจ้าของกิจการชาระมิงค์ หลังจากนั้น มีคนมาเช่าทำเป็นร้านอาหารอิตาเลี่ยน ก่อนจะปรับปรุงครั้งใหญ่อีกครั้ง ตั้งแต่เดือน ก.พ. ๒๕๔๕ ถึงเดือน ก.ค. ๒๕๔๖ สภาพก่อนปรับปรุงนั้นเสื่อมโทรมมาก คุณนิตย์ และคุณเพ็ญพรรณ (ภรรยา) เล็งเห็นว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านเก่าควรจะรักษาไว้ จึงได้ทำการบูรณะปรับปรุงโดยอาจารย์ศิริพร กรรณกุลสุนทร อาจารย์พิเศษ คณะออกแบบ ม. เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นผู้ออกแบบ ส่วนที่เป็นไม้เก่าและผุพัง ก็ให้ช่างแกะสลักให้กลมกลืนกับของเดิมมากที่สุด

ระหว่างซ่อมแซมเพื่อรักษาบ้าน เจ้าของกิจการชาระมิงค์คิดว่า บ้านหลังนี้มีชีวิตน่าจะเปิดเป็นร้านชาระมิงค์ รวมกับธุรกิจศิลาดล ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำอยู่แล้ว น่าจะนำมาผสมผสานกัน จึงใช้ชื่อร้านว่า “Raming Tea House Siam Celadon” เปิดทำการเมื่อวันที่ ๑ ส.ค. ๒๕๔๖ บ้าน Raming Tea House Siam Celadon ได้รับพระราชทานรางวัลอนุรักษ์ศิลปะ สถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราช

กุมารี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ และรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทอาคารเก่า จากสมาคมสถาปนิกสยาม และเทศบาลนครเชียงใหม่ในปีเดียวกันนั่นเอง

เราเรียกรถสามล้อจากย่านวัดเกตุให้ไปส่งที่อาคารหลังนี้ แต่เนื่องจากร้านนี้ไม่โด่งดังนักในหมู่นักท่องเที่ยว ที่มักจะไปร้านนํ้าชาอีกแห่ง ที่มีสีสันสะดุดตามากกว่าสามล้อจึงงง และพาเราหลงทาง เมื่อเจอเส้นทางวันเวย์ ก็ไม่อาจย้อนกลับได้ จึงปล่อยให้เราเดินไปหาร้านเอาเอง…นี่คือสิ่งที่อยากบอกว่า บางทีสิ่งที่มีคุณค่า แม้ตั้งอยู่ตรงหน้า บางคนก็มองไม่เห็น และหากคนรุ่นใหม่ๆ จะปล่อยให้กระแสบางอย่างพัดกลบลบรอยอดีตไปหมดในไม่ช้า คุณค่าของสิ่งที่คนรุ่นเก่าๆ สู้อุตส่าห์รักษาไว้ ก็อาจเลือนหายไปเหมือนอาคารหลังนี้ ที่หากไม่ได้รับการดูแลให้ฟื้นคืนมาอีกครั้ง ความสวยงามก็คงพลัดหลงหายไปในกาลเวลา

สิ่งที่เพิ่มเสน่ห์ให้น่าเข้าไปเยือนอาคารหลังนี้ นอกจากมนต์ขลังของบ้านหลังเก่าก็คือ กลิ่นหอมๆ ของใบชาดีมีคุณภาพ ที่ได้รับการสืบทอดมาสามชั่วอายุคนแล้ว นอกจากมีชาระมิงค์หอมๆ เสิร์ฟ ยังมีอาหารเลิศรสที่ปรุงแต่งขึ้น โดยมีชาเป็นส่วนประกอบแทรกซึมเข้าไปในรสชาติที่น่าสนใจอีกหลายเมนู เช่น ปลาทอดซอสระมิงค์ เมนูขึ้นชื่อของที่นี่ หากมาที่นี่แล้วควรสั่งเซ็ตไฮทีแบบล้านนามาลิ้มลอง แล้วนั่งในสวนให้เข้ากับบรรยากาศ ดูไปกันได้ดี Trio Set นํ้าชาในกาศิลาดล ที่มีส่วนผสมของกรีนที ใบเตย และตะไคร้ หอมกรุ่นชื่นใจ ในเซ็ตยังมีของว่างอย่างเปาะเปี๊ยะผักสด ซอสมะขาม ผสมชา,ผัดไทยรสเข้มข้น ที่มีส่วนผสมนํ้าชาเช่นกัน เค้กชาไทย และผลไม้ที่ราดซอสใบชา ที่ผ่านการเคี่ยวมาอย่างดี ได้ทั้งรสหวานชื่นใจ และหอมกลิ่นชาแทรกมาอย่างมีเสน่ห์

นี่คืออาคารเก่า ที่ยังเหลือเค้าความงดงามมีอาหารอร่อยๆ มีเครื่องดื่มชาระมิงค์ที่ขึ้นชื่อ ปัจจุบันมีกาแฟลาวิโน ที่ปลูกบนดอยแถวแม่แตงเสิร์ฟด้วย เป็นที่ที่เราแนะนำว่าชาวอนุรักษ์ที่ไปเชียงใหม่ ควรจะต้องไป (เปิดทุกวัน ตั้งแต่ ๙.๐๐-๑๘.๐๐ น. ที่ตั้งเลขที่ ๑๕๘ ถ. ท่าแพ ต.ช้างม่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โทร. ๐ ๕๓๒๓ ๔๕๑๘-๙)

About the Author

Share:
Tags: เชียงใหม่ / ฉบับที่ 4 / ยิมคานา / ระมิงค์ ที เฮาส์ / อาหาร / food / ร้านอาหาร /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ