เมื่อราว พ.ศ. 2500 สถาปนิกหนุ่มชาวไทยท่านหนึ่งเพิ่งเดินทางกลับมายังบ้านเกิด หลังจากสำเร็จการศึกษามาจากประเทศอังกฤษ บ้านเมืองเราในยุคสมัยนั้นการไปชมงานแสดงศิลปะถือเป็นกิจกรรมที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่ค่อยเก็ท แต่สำหรับนักเรียนนอกหัวคิดทันสมัยที่ได้รับการบ่มเพาะนิสัยใส่ใจวัฒนธรรม กิจกรรมพรรค์นี้นับเป็นเรื่องน่าหลงใหลใคร่สัมผัสเป็นอย่างยิ่ง จากการข้องเกี่ยวกับวงการศิลปะอยู่เสมอๆ สถาปนิกผู้ซึ่งภายหลังได้รับตำแหน่งเป็นนายกสมาคมโฆษณา จึงเริ่มรู้จักมักจี่กับคนคอเดียวกัน อย่างบรรดาศิลปินสมัยใหม่ยุคบุกเบิกที่มีแนวทางศิลปะล้ำยุคดั่งผู้มาก่อนกาล และเริ่มมีผลงานภาพวาดในรูปแบบต่างๆเช่น คิวบิสม์ แอปสแตรกต์ อิมเพรสชั่นนิสม์ ฝีมือศิลปินไทยรวมถึงศิลปินต่างชาติ สะสมไว้ในบ้านพักส่วนตัวสไตล์ล้ำโลกที่ลงแรงออกแบบเองบนที่ดินแปลงสวยย่านหัวหมาก
และแล้ววันเวลาก็ผ่านล่วงเลยไปอีกกว่า 60 ปี บ้านหลังงามแห่งนี้ก็ตกทอดไปสู่ทายาทผู้ซึ่งลงหลักปักฐานอยู่ในต่างจังหวัด เมื่อบ้านไม่ได้ถูกใช้สอยบ่อยอย่างที่เคย เลยถูกประกาศขายผ่านทางโลกออนไลน์โดยมีการโพสต์รูปถ่ายมุมต่างๆทั้งภายนอก ภายในเอาไว้ เพื่อประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ที่กำลังมองหาบ้านเก๋ๆในทำเลดีๆแบบนี้
สำหรับทายาทเหตุการณ์แปลกประหลาดมันเกิดขึ้นตรงนี้แหละ แทบจะทันทีที่มีการโพสต์รูปประกาศขายบ้าน ก็มีผู้สนใจมากหน้าหลายตาติดต่อเข้ามาทันใดว่าจะขอซื้อภาพวาด ใช่แล้ว อ่านไม่ผิดหรอก คนขายจะขายบ้าน แต่คนซื้อจะซื้อภาพ เหตุทั้งปวงเกิดมาจากหนึ่งในรูปถ่ายบรรยากาศภายในบ้านดันไปถ่ายติดภาพวาดภาพหนึ่งซึ่งถูกวางพิงกำแพงไว้บนพื้นในมุมมืดๆ เห็นแค่เล็กๆ ไกลๆ คนถ่ายก็ไม่ได้เน้นให้ความสลักสำคัญอะไร ซึ่งในมุมมองทายาทภาพวาดภาพนี้รวมถึงผลงานศิลปะชิ้นอื่นๆก็เป็นเพียงข้าวของจิปาถะในบ้านที่เห็นกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกก็เท่านั้น
ด้วยความฉงนสงสัย ว่าทำไมภาพวาดเก่าๆ ฝุ่นเขรอะเกรอะกรังภาพนี้ถึงได้มีออร่าพลุ่งพล่านเด่นตระหง่านทะลุรูปถ่ายออกมาจนมีผู้สนใจไวขนาดนี้ ทายาทจึงลองค้นคว้าดูซิว่าบิดาผู้ล่วงลับ ท่านเก็บสมบัติพัสถานอะไรไว้กันแน่ โชคดีที่บริเวณมุมขวาล่างของภาพวาดมีลายเซ็นภาษาอังกฤษเขียนไว้ว่า Damrong W 1961 จึงไม่ยากที่จะสืบดูให้รู้ว่าศิลปินผู้นี้เป็นใคร
ค้นไปค้นมาจนในที่สุดก็ถึงบางอ้อว่าลายเซ็นที่เห็นเป็นของ ดำรง วงศ์อุปราช ส่วนเลข 1961 นั้นเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากปี ค.ศ. ที่วาดภาพนี้ขึ้นมา ซึ่งตรงกับปีพ.ศ. 2504 เมื่อปะติดปะต่อพอจะได้เค้าราง ลำดับต่อไปที่ยากกว่าคือการพิจารณาว่าภาพที่ว่ามีคุณค่า มีความสำคัญแค่ไหน เพราะถึงจะเป็นผลงานฝีมือศิลปินที่เก่งกาจมีชื่อเสียง แต่ก็ไม่ใช่ทุกชิ้นจะมีความพิเศษเท่ากันหมด ทุกศิลปินมีผลงานชิ้นที่แรง ชิ้นที่เบา ชิ้นที่เก๋า ชิ้นที่เกร่อ ซึ่งจำเป็นจะต้องดูให้ออก ต้องแยกแยะให้ได้
ภาพวาดสีน้ำมันบนบอร์ดชิ้นนี้ถึงมีลายเซ็นศิลปินเขียนไว้ทนโท่ แต่หากมองผ่านๆอาจจะงงๆว่าดำรงยังไง เพระสำหรับใครที่พอจะเคยเห็นผลงานจิตรกรรมฝีมือท่านมาบ้าง ภาพนี้นับว่ามีเนื้อหาแปลกตากว่าชิ้นอื่นๆแทบทั้งหมด ผลงานที่สาธารณชนคุ้นชินมักเป็นภาพหมู่บ้านชาวประมง หมู่บ้านในชนบทอันห่างไกล แต่ไฉนภาพนี้วาดซะกลางเมืองเลย โดยเป็นภาพตรอกยาวๆเป็นมิติลึกเข้าไปสุดตา ทั้งซ้าย และขวาของทางสัญจรล้วนรายล้อมแน่นขนัดไปด้วยบ้านไม้สีน้ำตาล มุงหลังคาด้วยสังกะสีวาวๆสะท้อนแสงของท้องฟ้า ฉากหลังของภาพมองเห็นยอดไม้ และภูเขาทองสูงตระหง่านใหญ่โตโผล่พ้นบ้านเรือนขึ้นมา
ดำรงให้ความสำคัญกับรายละเอียดปลีกย่อยในภาพมาก โดยจะเห็นได้จาก รายละเอียดของกระดานไม้แต่ละแผ่นที่ประกอบกันเป็นผนังบ้าน สายไฟพาดผ่านระโยงระยาง ข้าวของเครื่องใช้จิปาถะที่เลือกมาประกอบเช่น ผ้า โต๊ะ เก้าอี้ จาน โอ่ง ลังไม้ จักรยาน
ซิกเนเจอร์อีกประการในจิตรกรรมรูปทิวทัศน์ฝีมือดำรง คือการถ่ายทอดวิถีชีวิตแบบไทยๆอันดูสงบ เรียบง่าย งดงามลงไปในเนื้อหาโดยไม่พึ่งพาการวาดผู้คนใดๆประกอบลงไป ผลงานภาพภูเขาทองชิ้นนี้ก็เช่นกัน ถึงจะเป็นฉากชุมชนกลางเมืองใหญ่อันแน่นขนัดไปด้วยบ้านเรือน และร่องรอยกิจกรรมประจำวันของมนุษย์ ที่มีทั้งจานเปล่าที่วางอยู่บนโต๊ะ ผ้าที่ตากแดดรอแห้ง หรือจักรยานที่จอดพิงกำแพงไว้ แต่เรากลับไม่เห็นหน้าค่าตาชาวบ้านชาวช่องเลยซักกะคน ถึงภาพจะเหมือนเป็นเมืองร้าง แต่เราไม่รู้สึกถึงความเวิ้งว้างว่างเปล่า กลับเกิดมโนภาพว่าอีกไม่กี่นาทีข้างหน้าเราคงเห็นผู้คนเดินสวนผ่านตรอกนี้มา เจ้าของจักรยานจะหวนกลับมาขี่ต่อไปยังจุดหมายถัดไป หรือจานเปล่าที่เพิ่งใช้เสร็จจะมีใครมาเก็บไปล้าง
ภาพนี้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษอีกจุดตรงที่ดำรงได้บรรจงซ่อนตัวละครเอาไว้หนึ่งคนอย่างแนบเนียน และไม่ดึงดูดความสนใจ ดูเผินๆภาพนี้เหมือนฉากเปล่าๆที่ไม่มีใคร แต่หากเล็งไปที่บริเวณหลืบมืดระหว่างบ้าน 2 หลังด้านซ้ายจะเห็นหลัง และบั้นท้ายของสตรีที่ไว้ผมประบ่า สวมเสื้อสีขาว กระโปรงสีน้ำเงิน กำลังเดินหลบหายเข้าไป
หากจะประเมินความสำคัญของภาพภูเขาทองโดยพิจารณาจากสไตล์การวาด และห้วงเวลาที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา ต้องบอกเลยว่าผลงานชิ้นนี้ไม่ธรรมดา ดำรงซึ่งพื้นเพเป็นเด็กชนบทจากเชียงราย ฉายแววความสามารถทางด้านศิลปะจนได้ทุนการศึกษา จึงเดินทางมากรุงเทพฯเมื่อ พ.ศ. 2497 เพื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง ณ ห้วงเวลานั้น หากมีเวลาว่างนอกเวลาเรียน ดำรงมักจะวาดภาพในแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ แสดงอารมณ์ ผ่านทีแปรง หรือเกรียงปาดสีเร็วๆหนาๆ โดยเนื้อหามักเป็นแนวทิวทัศน์ในเมืองที่เห็นรอบตัว เช่น ภาพโรงไฟฟ้า วัด บ้านริมคลอง ผลงานในยุคนี้ดำรงได้อิทธิพลมาเต็มๆจาก ทวี นันทขว้าง ผู้ซึ่งดำรงไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ร่วมกับเพื่อนๆเช่น เปรื่อง เปลี่ยนสายสืบ ปรีชา บางน้อย นพรัตน์ ลิวิสิทธิ์ ทวี รัชนีกร และ อินสนธิ์ วงศ์สาม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 ดำรงสอบเข้าคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ จึงย้ายมาเรียนต่อที่นี่อีก 5 ปี ทำให้ได้พบ และกลายเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี
ในช่วงเวลาระหว่างนี้เอง ขณะที่ดำรงยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรชั้นปีที่ 3 ดำรงเริ่มตกผลึกกับแนวทางศิลปะของตน โดยการนำเอาความเป็นไทยมาผสมผสานกับรูปแบบเทคนิคของศิลปะสากล ถ่ายทอดความสงบ บริสุทธิ์ผ่านปลายพู่กัน เกิดเป็นภาพบ้านเรือนชนบท ที่มีสีสันกลมกลืนสวยงาม ละเอียดลออ องค์ประกอบของภาพถูกจัดวางอย่างซับซ้อน เต็มไปด้วยข้าวของ มิติมากมาย แต่กลับดูไม่วุ่นวาย เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาทั้งที่ไม่มี ผู้คน หรือสิ่งมีชีวิตใดๆในภาพเลย
ด้วยคุณภาพอันสูงส่ง ผลงานชุดนี้นำพาให้ดำรงคว้ารางวัลสูงสุดระดับประเทศทั้งๆที่ยังไม่ทันจะเรียนจบ ด้วยการชนะเลิศรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทองจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2503
ผลงานชุดบ้านเรือนในยุคนี้ ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนเป็นอย่างมาก มีนักสะสมโดยเฉพาะชาวต่างชาติมาจับจองจนดำรงขายหมดอย่างรวดเร็ว เพื่อนำรายได้มายังชีพ และจ่ายค่าเล่าเรียน ขนาดศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ยังถูกอกถูกใจจนขอซื้อไว้เอง 1 ภาพ และนำมาแขวนประดับห้องทำงานเอาไว้ดูทุกๆวัน ซึ่งภาพนี้ปัจจุบันก็ยังอยู่ในคลังสะสมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป พีระศรี อนุสรณ์
ถึงจะเป็นที่ต้องการของตลาดแต่ผลงานจากยุคนี้ก็มีจำนวนไม่มากเนื่องจากแต่ละชิ้นมีรายละเอียดเยอะ ใช้เวลาสร้างสรรค์ยาวนาน อีกทั้งดำรงยังวาดภาพสไตล์นี้อยู่เพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เพราะหลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2505 ดำรงได้รับทุนจาก บริติช เคาน์ซิล เพื่อไปเรียนต่อที่อังกฤษ ก่อนจะเดินทางไปยังฝรั่งเศส อิตาลี และภายหลังยังได้ไปเรียนที่อเมริกาอีก ซึ่งผลงานตั้งแต่ยุคที่ดำรงไปต่างประเทศนั้นได้กลับกลายเป็นแบบนามธรรมอย่างเต็มตัว ดูแตกต่างจากชุดบ้านเรือนที่ได้รับรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติอย่างสิ้นเชิง
กว่าดำรงจะกลับมาวาดภาพทิวทัศน์บ้านเรือนที่เคยสร้างชื่อเสียงให้อีกครั้ง วันเวลาก็ผ่านไปอีก 14 ปี เมื่อดำรงเดินทางไปญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2519 และได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานขนาดไม่ใหญ่แต่อัดแน่นไปด้วยความปราณีตบรรจงพิถีพิถันในทุกๆขั้นตอนของศิลปะแดนอาทิตย์อุทัย ดำรงจึงเริ่มวาดภาพบ้านเรือนโดยหันมาใช้ปากกาสีลงเส้นทีละเส้นอย่างละเอียด รู้สึกได้ถึงความสงบ บริสุทธิ์ งดงาม มีสมาธิ เสมือนเป็นการวาดภาพรูปธรรม ให้มีอารมณ์อย่างนามธรรม ซึ่งภายหลังดำรงได้สร้างสรรค์ผลงานในลักษณะนี้ต่อๆมาจนกลายเป็นภาพจำที่สาธารณชนคุ้นตา
นี่แหละคือสาเหตุที่ทำไม ภาพภูเขาทอง ที่ดำรงวาดขึ้นมาในปี พ.ศ. 2504 ถึงมีความสำคัญนักสำคัญหนา ก็เพราะเป็นหนึ่งในผลงานที่มีเนื้อหาแปลกตาที่สุด จากผลงานชุดที่หายากที่สุด สร้างสรรค์โดยดำรงในห้วงวัยหนุ่มที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพละกำลังวังชา และความคิดคำนึงลึกล้ำจนประสบความสำเร็จเป็นศิลปินที่ชนะรางวัลสูงที่สุดไง จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ภาพภูเขาทองชิ้นนี้ จะสามารถสำแดงพลังพวยพุ่งทะลุทะลวงฝุ่นที่จับหนาไปกระแทกตาเหล่าผู้ที่เข้าใจคุณค่าของงานศิลปะ จนมีผู้คนมากมายมาคอยเทียวไล้เทียวขื่อโทรจีบเจ้าของภาพ ที่จริงๆกะจะขายบ้านไม่ได้จะขายภาพจนสายแทบไหม้
เรื่อง: ตัวแน่น
ภาพ: ตัวแน่น / ภาพจากหนังสือที่รฦกเนื่องในการพระราชทานเพลิงศพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดำรง วงศ์อุปราช