เรื่อง / ภาพ ดร. ณัฐธัญ มณีรัตน์
ยังมีข้อสงสัยสำหรับพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
โดยเฉพาะชาวพุทธไทยว่า
พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นี้
เป็นชายหรือหญิงกันแน่
ทั้งนี้ถ้าท่านมีความสนใจในเรื่องลัทธิมหายานบ้าง คงจะอดคิดกังขาไม่ได้เพราะชาวจีนทั่วไปบูชาปฏิมาของพระโพธิสัตว์องค์นี้ ในรูปแบบที่เป็นสตรีเกือบทั้งหมด และเรียกนามพระองค์ว่า “กวงซีอิมเนี้ย” ซึ่งคำว่า “เนี้ย” ก็บ่งชัดว่า เป็นสตรีเพศ หาใช่บุรุษเพศไม่ อันที่จริงพระโพธิสัตว์ ถึงขั้นอวโลกิเตศวรแล้วย่อมเป็นบุรุษเพศทั้งนั้น ปฏิมาของพระองค์ในประเทศจีนสมัยก่อนสมัยราชวงศ์ถัง คือก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ขึ้นไปล้วนสร้างเป็นรูปมหาบุรุษ ประดับด้วยอลังการวิภูษิตาภรณ์อย่างกษัตริย์อินเดียโบราณทั้งสิ้น
แม้รูปปฏิมาที่สร้างขึ้นในอินเดียเอง ก็เป็นรูปมหาบุรุษ แต่ภายหลังเกิดการนิยมสร้างเป็นรูปสตรีนั้น เข้าใจว่า เพราะปณิธานของพระอวโลกิเตศวรต้องการจะโปรดสัตว์ ทุกภพทุกภูมิ และทรงเสด็จมาโปรดสัตว์เหล่านั้น ตามสภาวรูปแห่งสัตว์นั้นๆ ด้วย เช่น ถ้ามีสตรีตกทุกข์ พระองค์ก็แบ่งภาคมาในรูปสตรีมาโปรดนี้ ดังปรากฏในสัทธรรมปุณฑริกสูตร
อีกประการหนึ่ง เห็นจะเป็นด้วยสตรีเพศอันเป็นเพศมารดาสัญลักษณ์แห่งความเมตตาปราณี ซาบซึ้งยิ่งกว่าบุรุษเพศเช่น ความรักของมารดาที่แสดงต่อบุตรธิดา ย่อมประณีตกว่า เห็นได้ชัดกว่าความรักของบิดา ด้วยบิดาเป็นชาย ย่อมต้องธำรงไว้ ซึ่งความเข้มแข็งองอาจ
ข้อนี้จึงเป็นเหตุให้คนทั้งหลายนิยมสร้างปฏิมาพระอวโลกิเตศวรเป็นหญิง อีกประการหนึ่ง ด้วยพระองค์ก็ทรงมีพระกรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้นในสรรพสัตว์ ดุจมารดาเมตตารักถนอมในบุตรธิดาของตนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปฏิมาของพระอวโลกิเตศวร ถ้าจะสร้างให้ถูกคุณลักษณะแล้ว ช่างผู้สร้างต้องสามารถสร้าง จนกระทั่งสามารถดึงดูดจิตใจบันดาลให้ผู้บูชาให้เห็นพระปัญญาคุณ พระสันติคุณ และพระกรุณาธิคุณทั้ง ๓ ประการนี้ ในพระเนตรและพระพักตร์ของรูปปฏิมาจึงจัดว่าถูกต้องด้วยคุณลักษณะของพระโพธิสัตว์โดยแท้
ในสัทธรรมปุณฑริกสูตร (เมี่ยวหวบเน่ยฮั่วเก็ง) ภาคสมันตมุขปริวรรต (โผมิ้งพิ่ง) ซึ่งเป็นพระสูตรที่สำคัญในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนิกชนมหายานโดยเฉพาะชาวจีนและประเทศในเอเชียตะวันออก สันนิษฐานว่ารจนาขึ้นหลายร้อยปีหลังพุทธปรินิพพาน บ้างก็ว่าแต่งขึ้นในราว พ.ศ. 300 เป็นอย่างเร็ว แต่ต้นฉบับสันสกฤตที่ค้นพบในเนปาลล้วนมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 แต่พระนาคารชุนพระเถระองค์สำคัญของอินเดียได้อ้างถึงข้อความจากสัทธรรมปุณฑรีกสูตรอยู่หลายตอน เพราะฉะนั้นต้นฉบับเดิมย่อมต้องมีอยู่แล้วในพ.ศ. 693 จึงสันนิษฐานได้ว่าสัทธรรมปุณฑรีกสูตรน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่าพุทธศตวรรษที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ความคิดแบบมหายานพัฒนาขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้วในอินเดีย
คัมภีร์สัทธรรมปุณฑรีกสูตรมีแนวคิดเด่นชัดในเรื่องของการใช้กุศโลบายหรืออุบายซึ่งถือเป็นอุดมคติของพระโพธิสัตว์และลักษณะแห่งความสมบูรณ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ มหาปรัชญา มหากรุณา มหาอุบาย ซึ่งแสดงออกถึงความเป็นมหายานที่คำนึงถึงผลในการเผยแผ่ธรรมจึงมีแนวคิดนอกกรอบปรากฏอยู่ทั่ว นอกจากนี้ยังแสดงถึงอุดมการณ์ของพระโพธิสัตว์ที่ที่เปี่ยมด้วยมหากรุณาจิต ในสัทธรรมปุณฑริกสูตรนี้มีภาคที่กล่าวถึงพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์โดยเฉพาะ ในภาคสมันตมุขปริวรรตซึ่งจะแสดงมโนทัศน์และจรรยานุภาพของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้อย่างเด่นชัด ซึ่งในพระสูตรได้กล่าวไว้ดังนี้
ครั้งนั้น พระอักษยมติ โพธิสัตว์มหาสัตว์ ได้ลุกจากอาสนะ ห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า คุกเข่าขวาลงที่พื้นดิน ประคองอัญชลีต่อพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เพราะเหตุไรจึงเรียก พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ ว่าอวโลกิเตศวร เมื่อพระโพธิสัตว์ได้กราบทูลดังนั้น พระผู้มีพระภาค จึงตรัสกับพระอักษยมติโพธิสัตว์มหาสัตว์ ว่า ดูก่อนกุลบุตร สัตว์จำนวนหลายร้อยพันหมื่นโกฏิ ที่รวมกันอยู่ในที่นี้ ย่อมคล้อยตามความทุกข์สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด ถ้าได้ฟังชื่อของ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ ก็จะหลุดพ้นจากกองทุกข์นั้นได้ ดูก่อนกุลบุตร สัตว์เหล่าใด ท่องจำ นามของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ ถ้าสัตว์เหล่านั้น ตกลงในกองไฟใหญ่ เขาทั้งหมดจะรอดพ้นจากกองไฟใหญ่นั้นได้ด้วยเดชของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ ดูก่อนกุลบุตร ถ้าสัตว์ทั้งหลาย ถูกกระแสน้ำพัดพาไป พึงกระทำการเพรียกพระนาม ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ แม่น้ำทั้งปวงเหล่านั้น จะให้ความรักเอ็นดูแก่สัตว์เหล่านั้น ดูก่อนกุลบุตร ถ้าสัตว์จำนวนร้อยพันหมื่นโกฏิ ลงเรือไปในท่ามกลางมหาสมุทร ทรัพย์สินที่สร้างไว้ เช่น เงิน ทอง แก้วมณี มุกดา เพชร ไพฑูรย์ สังข์ ประพาฬ มรกต สุมาร์คลวะ และมุกแดง เป็นต้น (จะเสียหาย) เรือของเขาถูกพายุพัดไปติดเกาะของรากษส ถ้าในเรือนั้น พึงมีสัตว์ผู้หนึ่ง กระทำการเพรียกพระนามของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ เขาเหล่านั้นทั้งหมด จะรอดพ้นจากเกาะของรากษสนั้น ดูก่อนกุลบุตร เพราะเหตุนี้เอง พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ จึงได้ชื่อว่า “อวโลกิเตศวร“