Thursday, November 7, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

อินเดียใต้ อลังการงานช้าง

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 23
เรื่อง: จิระนันท์ พิตรปรีชา
ภาพ: เอกรินทร์ เอกอัจฉริยะวงศ์

แห่ช้างเสร็จแล้ว มีแสงสีและออกร้านงานวัดให้เที่ยวชมทั้งคืน

อินเดียใต้

อลังการงานช้าง

เมื่อสามสี่ปีก่อน รัฐ “เกรละ” หรือ Kerala ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศอินเดีย ได้รับการจัดอันดับเป็นรัฐที่ดีที่สุดในกลุ่มรัฐขนาดใหญ่ของประเทศ โดยวัดกันที่ความเจริญทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา รายได้เฉลี่ย และคุณภาพชีวิตของประชากร

วิถีโบราณใจกลางเมืองทันสมัย

แต่เกรละไม่ใช่ “เสิ่นเจิ้น” ของอินเดียความอุดมสมบูรณ์ทั้งด้านเกษตรและประมงทำให้ผู้คนที่นี่ยังคงใช้ชีวิตติดดินน้ำตามวิถีเก่าก่อนรักษาประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมรวมทั้งภาษาถิ่น “มาลายาลัม” ไว้อย่างครบถ้วน ที่น่าทึ่งก็คือ เกือบครึ่งของประชากรนับถือศาสนาคริสต์ มีบางส่วนที่นับถือศาสนาอิสลามและอื่นๆ แต่ก็เป็นสังคมกลมกลืนไม่มีการแบ่งแยก เทศกาลงานบุญสำคัญต่างๆของรัฐแม้จะอิงตามความเชื่อแบบฮินดู แต่ทุกฝ่ายก็เข้าร่วมอย่างแข็งขัน ทั้งยังมีสีสันเรื่องเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น จนคนอินเดียจากรัฐอื่นๆ ต้องมาเที่ยวชม

แต่งองค์ทรงเครื่องให้ช้าง
อาบน้ำขัดสีฉวีวรรณให้ช้างก่อนเริ่มพิธี

เทศกาลปุรัม (Pooram) คืองานแห่ช้างบูชาเทพ ซึ่งจัดขึ้นในหลายๆ เมืองพร้อมกันในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ทำนองเดียวกับลอยกระทง-สงกรานต์บ้านเรา แต่งานใหญ่ที่สุดคือที่เมืองทริสซูร์ (Thrissur) โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๔๑ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พิธีกรรมท่ามกลางฝูงชนแน่นขนัด

เมื่อถึงกำหนดวันเทศกาลประจำปี วัดฮินดู ๑๐ แห่งในทริสซูร์จะจัดขบวนช้างแต่งเครื่องทรงสีทองอร่าม แห่แหนมาที่วัดวาดักคุณาธารซึ่งเป็น “วัดกลาง” ของเมือง เพื่อทำพิธีสักการบูชาพระศิวะ

ตลอดทางจะมีวงมโหรีพื้นเมือง “เมลัม” บรรเลง และหยุดเดินเป็นระยะเพื่อตั้งแถวหน้ากระดานให้ชาย ๔ คนบนหลังช้างแต่ละเชือกลุกขึ้นแสดงลีลาโบกพัดชูร่มอย่างพร้อมเพรียง พิธีบูชาจะมีกำหนดขั้นตอนต่างๆ ไปจนเสร็จสิ้นในช่วงย่ำรุ่งของวันถัดไป โดยมีการจุดพลุสว่างไสวหูดับตับไหม้เป็นสัญญาณของการสิ้นสุดเทศกาลปุรัม

วงมโหรีเมลัมเดินนำขบวนช้าง

แม้เทศกาลปุรัมจะเป็นงานช้างและงานวัดในศาสนาฮินดู แถมยังมีลักษณะพิเศษเฉพาะถิ่น แต่ความภาคภูมิใจของชาวเมืองนี้ไม่ได้จบลงที่ความยิ่งใหญ่อลังการเพียงเท่านั้น เบื้องหลังของงานคือการร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนโดยไร้เส้นแบ่งทางศาสนา ปะรำพิธีและซุ้มไฟประดับสำเร็จด้วยฝีมือช่างชาวมุสลิม ในขณะที่โบสถ์คาทอลิกต่างๆ ร่วมสนับสนุนการประดิษฐ์ร่มและพัดโบกที่ใช้ในพิธี ความสามัคคีกลมเกลียวในสังคมพหุวัฒนธรรมเช่นนี้ นับเป็นแบบอย่างในอุดมคติสำหรับอินเดียและประเทศอื่นๆ ที่ยังคงมีการแบ่งแยกขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติศาสนา

อลังการงานศิลป์
ลีลาโบกพัดชูร่มด้วยการทรงตัวที่ยอดเยี่ยม

อิสลามิกที่เป็นคนขับรถตุ๊กๆ นายหนึ่ง (สังเกตจากสติกเกอร์ท้ายรถ) ทำหน้าแปลกใจเมื่อโดนถามว่า “ไปร่วมพิธีปุรัมรึเปล่า?” เขาตอบยิ้มๆ ว่า “แน่นอน ต้องไปสิ… นี่คือเทศกาลของทุกคนที่เป็นชาวเกรละ” แล้วย้อนถามเราว่า “คนไทยนับถือพุทธใช่ไหม? แล้วทำไมคุณต้องมางานนี้ด้วยล่ะ?”

About the Author

Share:
Tags: งานช้าง / elephant / animal / Kerala / เกรละ / อินเดีย / เทศกาลปุรัม / สัตว์ / Pooram / สัตว์ป่า / ช้าง / อินเดียใต้ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ