นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 72
เรื่อง: ธีรภาพ โลหิตกุล
ภาพ: ธีรภาพ / กิติมาภรณ์
กังวานแว่วกระดิ่งหวาน
บ้านเขาลอยมูลโค
เงียบสงบ ศานติ มิใช่เงียบสงัด วังเวง
สงบนิ่ง ด้วยศรัทธา สมาธิ จิตมุ่งมั่น
ไม่ใช่มิไหวติง ด้วยเคร่งเครียด คุกรุ่น
คือความรู้สึกที่ผมสัมผัสได้ เมื่อแรกไปเยือนโรงผลิตกระดิ่ง หรือกระดึง หรือระฆังขนาดเล็ก ของคุณสมาน มูลยิ่ง วัย ๗๔ ปี กับคุณวันเพ็ญ มูลยิ่ง วัย ๖๗ ปี ณ บ้านเลขที่ ๔๐ หมู่ ๗ บ้านเขาลอยมูลโค ตำบลดอนตะโก อำเภอเมืองราชบุรี ซึ่งชาวเมืองโอ่งทราบกันดีว่า ประชากรหลักของชุมชนนี้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขชาวไท-ยวน หรือไทโยนก หมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ไต ที่อพยพมาจากเวียงเชียงแสนในดินแดนล้านนา เมืองที่เคยเป็นที่ตั้ง “เวียงโยนกนาคนคร” มาก่อน อพยพมาไกลมาก มาตั้งถิ่นฐาน ณ บ้านเขาลอยมูลโค ลุ่มน้ำแม่กลอง ตั้งแต่เมื่อ ๒๐๐ กว่าปีก่อน
จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณสมานกับคุณวันเพ็ญจะพูดภาษาไทยถิ่นราชบุรีกับผู้มาเยือน แต่จะ “อู้คำเมือง” ยามพูดคุยกันเองในครอบครัว คำเมืองเหนืออย่าง “ลำขนาด” (อร่อยมาก) “ยะก๋าน” (ทำงาน) “มะเนง” (กระดึง, กระดิ่ง) ถูกถ่ายทอดสู่รุ่นลูกอย่าง คุณโสภี (อ้อย) แม้วันนี้อาจจะยัง “อู้บ่จ้าง” (พูดไม่เก่ง) แต่ก็ฟังคำที่พ่อและแม่พูดได้เข้าใจดี ในขณะที่คุณวันเพ็ญยังทำอาหารไปถวายพระที่วัดเขาลอยมูลโคทุกเช้า เหมือนกับที่บรรบุรุษทำสืบทอดกันมา
และแน่นอน งานทำกระดิ่งหรือกระดึงเป็นอาชีพเลี้ยงชีวิตมานานร่วมกึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ก่อนที่ทั้งสองท่านจะแต่งงานกัน ก็ถือเป็นมรดกตกทอดทางภูมิปัญญาจากบรรพชน ด้วยชาวล้านนาหรือชาวเหนือรับเอาวัฒนธรรมศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจากมอญและพม่า ที่ถือว่ากระดิ่ง กระดึง หรือมะเนง เป็นสัญลักษณ์มงคล เป็นบ่อเกิดเสียงแห่งสมาธิ ปัญญา ความดีงาม ความสงบร่มเย็น ความเป็นสันติสุข นิยมนำไปแขวนประดับฉัตรครอบยอดพระเจดีย์อย่างที่เราพบเห็นตามวัดในภาคเหนือ ที่สร้างด้วยศิลปะมอญ-พม่า หลายวัด อาทิ วัดจองกลาง แม่ฮ่องสอน วัดแสนฝาง เชียงใหม่ ฯลฯ
ในขณะที่วัดในภาคกลางไม่มีธรรมเนียมสร้างฉัตรครอบยอดพระเจดีย์ แต่นิยมแขวนกระดิ่งไว้ตามชายคาโบสถ์ วิหาร ดังนั้น ตลอดเวลาเกือบ ๕๐ ปี ที่คุณสมาน คุณวันเพ็ญ ยึดอาชีพนี้ มีร้านสังฆภัณฑ์ในกรุงเทพฯ สั่งทำมาไม่เคยขาด ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ต้องแบกกระดิ่งหนักอึ้งข้ามนาปีนเนินไปส่งของขึ้นรถไฟเข้า กทม. จนถึงวันนี้ที่มีระบบสั่งและชำระเงินออนไลน์ ทำให้การสั่งซื้อของลูกค้าสะดวกสบายขึ้น ยอดจองกระดึงขนาดต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ล่าสุดมีวัดใหญ่แห่งเมืองแม่กลอง คือวัดสวนแก้วอุทยาน จังหวัดสมุทรสงคราม สั่งกระดิ่งหรือมะเนงน้อยไปประดับพระอุโบสถหลังใหม่ถึงกว่า ๓๐๐ ใบ
“ดินที่นำมาปั้นขึ้นรูปกระดิ่ง ก็ดินจากในนาของเรา ฝีมือในการทำก็สืบทอดจากมรดกภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายเรา เป็นงานทำที่บ้านเราเอง เราขยันได้เท่าไหร่ ก็ทำได้จำนวนมากเท่านั้น ไม่ต้องตอกบัตรเข้า-ออกงานเหมือนพนักงานบริษัท หรือเซ็นชื่อเข้างานเหมือนข้าราชการ เรากำหนดเวลาทำ เวลาเลิกของเราเอง บางวันคุณสมานตื่นแต่ตีสี่ สักตีสี่ครึ่งก็เข้ามานั่งทำกระดิ่งแล้ว หากไม่มีธุระอย่างไปงานบวช งานแต่ง แกก็จะนั่งอยู่ในโรงกระดิ่งนี่แหละ ไม่เคยไปไหน อย่างร้านอาหารในราชบุรีนี่ แกรู้นะว่ามีร้านไหนดัง ร้านไหนอร่อย แต่แกไม่เคยไปกินข้าวนอกบ้านเลย วันๆ นั่งทำกระดิ่งไปเรื่อย แกรักชอบงานนี้”
คุณวันเพ็ญเล่าไปพลาง มือก็ขึ้นรูปกระพรวน (หรือลูกมะโห้ ในภาษาไท-ยวน) ไปพลาง เพราะนอกจากกระดิ่งแล้ว กระพรวนแขวนคอสัตว์เลี้ยงขนาดต่างๆ ก็มียอดสั่งจองมาเป็นระยะๆ เช่นกัน
“แต่หมดรุ่นผมก็ไม่มีใครสานต่อแล้ว งานนี้เป็นงานประณีต ทำยาก หมดรุ่นเราก็ไม่มีใครสืบทอด ความจริงอ้อย-ลูกสาวผมเขาก็สนใจเรียนรู้ แต่เขาต้องดูแลลูก ดูแลน้องชายที่ป่วยติดเตียง เลยให้เขาจัดการเรื่องรับออร์เดอร์และดูแลระบบบัญชีออนไลน์ ซึ่งผมและคุณวันเพ็ญทำไม่เป็น”
คุณสมานกล่าวเสริม บอกเล่าความจริงที่น่าใจหายว่าอนาคตของภูมิปัญญาการทำกระดิ่งทองเหลืองคงเลือนหายไปพร้อมกับคนรุ่นคุณสมาน-คุณวันเพ็ญ อย่างที่ไม่มีใครปฏิเสธหรือแข็งขืนความจริงข้อนี้ได้
กระดิ่ง กระดึง มะเนง คือระฆังขนาดเล็กทำด้วยโลหะ ข้างในมีลูกตุ้ม เรียกกันว่า “ลูกฟัด” ที่ปลายมีใบโพธิ์ห้อยอยู่ เมื่อลมพัดตัวตุ้มจะกระทบกระดิ่งทำให้เกิดเสียงดังกังวานแว่วหวาน เป็นเสียงแห่งความสงบศานติ แต่ต้องผ่านขั้นตอนการผลิตอันประณีตโดยช่างที่มีทักษะสูง นับจากการขึ้นรูป หรือการปั้นหุ่นดินเป็นหุ่นแม่พิมพ์ การกลึงขี้ผึ้ง การเผาเบ้าหลอมทองเหลือง การขัดเงากระดิ่ง และการติดลูกฟัด หรือลูกตีที่ทำให้เกิดเสียงอันไพเราะ เป็นเสน่ห์ของกระดิ่งทองเหลืองบ้านเขาลอยมูลโค
ซึ่งตามตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมา ชุมชนนี้แต่ดั้งเดิมทำไร่ ทำนา และเลี้ยงวัว ต่อมาเกิดน้ำท่วมหมู่บ้าน ต้องอพยพวัวไปอยู่ในที่ปลอดภัย ทำให้วัวหลงฝูงและสูญหายไปมาก “ลุงแก้ว” เจ้าของวัวคอกใหญ่ จึงนำไม้ไผ่มาทำเป็นเกราะสวมใส่คอวัว หวังว่าวัวเดินหลงไปทางไหนก็จะได้ยิน แต่เกราะนั้นเสียงเบาและไม่ทนทาน จึงพัฒนาไปสู่การทำ “ลูกมะโห้” หรือลูกกระพรวนทองเหลืองที่เสียงดังกังวานกว่า นานวันเข้าก็ต่อยอดไปสู่การทำกระดิ่งทองเหลืองตามมรดกตกทอดทางภูมิปัญญาที่บรรพชนมอบไว้ให้
นานวันเข้าก็เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง กระทั่งในปี ๒๔๔๒ กระดิ่งทองเหลืองของชุมชนชาวไท-ยวน บ้านเขาลอยมูลโค ก็ได้รับการขึ้นบัญชีเป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ” จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เป็นความภาคภูมิใจของชาวชุมชนยิ่งนัก
หากไปเยือนหมู่บ้านวัฒนธรรมแห่งนี้ หนทางอาจซับซ้อนสักนิด บรรยากาศอาจแลดูเงียบๆ สักหน่อย ทว่าเป็นความเงียบสงบ ศานติ มิใช่เงียบสงัด วังเวง อารมณ์สงบนิ่งด้วยศรัทธา สมาธิ จิตมุ่งมั่น ไม่ใช่มิไหวติงด้วยเคร่งเครียด คุกรุ่น อย่างที่ผมได้ประจักษ์แล้ว
ขอขอบคุณ:
- องค์การบริหารส่วนตำบลดอนตะโก และวัฒนธรรมจังหวัดราขบุรี
- คุณสมาน-คุณวันเพ็ญ มูลยิ่ง บ้านเลขที่ ๔๐ หมู่ ๗ บ้านเขาลอยมูลโค ตำบลดอนตะโก อำเภอเมืองราชบุรี โทร. ๐๘-๖๘๒๘-๗๗๕๓ และคุณโสภี (อ้อย) มูลยิ่ง เบอร์โทรและไลน์ ไอดี ๐๙-๒๖๙๕-๖๔๕๓