แล้วจากเป็นต้นไม้อยู่ดีๆ กลายเป็นหินได้อย่างไร? จากเอกสารของกรมทรัพยากรธรณี ผู้เขียนได้พบว่า การค้นพบไม้กลายเป็นหิน ถือเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาการเคลื่อนย้ายพื้นที่ธรณีหรือเปลือกโลก ที่สามารถมองย้อนกลับไปได้เป็นล้านๆ ปี โดย นักธรณีวิทยาผู้เชี่ยวชาญจะใช้วิทยาศาสตร์วิเคราะห์ตัวอย่างของไม้กลายเป็นหิน และวาดแผนที่ภาพบริบทแห่งธรณีวิทยาขึ้น เพื่อทำการศึกษาแบบองค์รวม โดยจะมีการศึกษาการสะสมการวางตัวของตะกอนประเภทต่างๆ รวมทั้งทิศทางน้ำที่เกิดขึ้นจากลักษณะภูมิศาสตร์ ที่ทั้งหมดก่อให้เกิดการสะสมของธรณีวิทยา ที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของแต่ละพื้นที่


ไม้ล้มโดยปรกติจะถูกย่อยสลายกลายเป็นดิน โดยส่วนย่อยสลายได้ยากที่สุด จะเป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุด ก็คือลำต้นของต้นไม้ แต่มีไม้บางต้นเมื่อล้มแล้ว เกิดถูกทับถามด้วยตะกอนกรวด หิน ดิน ทรายอย่างรวดเร็ว จนอยู่ในสภาพขาดออกซิเจน ทำให้ไม่เน่าเปื่อย แถมยังมีสารละลายซิลิกา (สารละลายเดียวกับที่นำมาใช้ทำสารกันชื้นในปัจจุบัน) ที่อยู่ในน้ำบาดาลเข้าไปแทนที่โครงสร้างเซลล์ต่างๆ ของต้นไม้ ทำให้ส่วนของไม้ที่มีสารซิลิกาเข้าไปแทนที่โครงสร้างไม้นั้น ไม่เน่าเปื่อยแต่กลายสภาพเป็นหินหรือฟอสซิลแทน จึงเรียกไม้แบบนี้ว่า ไม้กลายเป็นหิน (Petrified Wood) ซึ่งสำหรับนักธรณีวิทยานั้น เมื่อเกิดการค้นพบขุมทรัพย์นี้แล้ว ยังต้องมีการศึกษาเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม ให้เกิดความรู้ เรื่องราวที่มาที่ไป ให้ได้มากที่สุด