Wednesday, December 11, 2024
สัมภาษณ์ บทความแนะนำ

ดร. เบิร์ดแมน บันทึกป่าของหมอหม่อง

บันทึกป่าของหมอหม่อง ดร. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์


คุณหมอโรคหัวใจ ทว่ามีความหลงใหลในธรรมชาติ

และทำทุกวิถีทาง เพื่อการอนุรักษ์อย่างแท้จริง

“ผมดูนกมา ๓๐-๔๐ ปี ก็จะบันทึกเรื่องราวการเดินทางของตัวเองมาตลอด ตอนแรกๆ เขียนบันทึกแบบธรรมดาทั่วไป ว่าเจอนกอะไร จนวันหนึ่งผมไปห้องสมุดเจอหนังสือชื่อ Travel Diaries of a Naturalist เขียนโดย ปีเตอร์ สก็อต เขาเป็นผู้ก่อตั้งกองทุนสัตว์ป่าโลก เป็นหนังสือเกี่ยวกับการเดินทางไปทั่วโลก แต่มีเสน่ห์ตรงรูปประกอบที่เป็นภาพวาด มีทั้งภาพนก ภาพธรรมชาติ ภาพใต้น้ำ ผมเลยเกิดแรงบันดาลใจ อยากบันทึกด้วยวิธีการแบบนี้บ้าง จึงเริ่มบันทึกเรื่องราวในป่าและเขียนภาพตั้งแต่ปี ๒๕๒๗-๒๕๒๘”

หลงใหลในภาพวาด

“ช่วงนั้นผมยังเป็นนักศึกษา แต่ก็ออกไปเที่ยวตามธรรมชาติค่อนข้างบ่อย ก็จะพกสมุดบันทึก ปากกาสเก็ตช์ แล้วก็สีน้ำไปด้วยตลอด เจอนกก็วาดเก็บไว้ ตอนแรกๆ ยังวาดได้ไม่ค่อยดี แต่รู้สึกว่าเราเข้าใจนกมากขึ้น มองทุกอย่างได้อย่างละเอียดขึ้น ผมว่าการวาดภาพนกทำให้ได้อะไรมากกว่าการวาด คือการที่เราได้หยุดดู ได้พิจารณาอย่างจริงจัง หลายอย่างต้องพิจารณา ถ้าเจอนกที่ไปเร็วเราก็บันทึกคร่าวๆ เท่าที่เห็น การฝึกมองแบบนี้ทำให้ได้เห็นอะไรหลายอย่างที่มองข้ามไป เพราะในชีวิตเรามีแต่ความเร่งรีบ ทำให้มองทุกอย่างแบบผิวเผินไม่ได้มองลึกซึ้ง พอผมได้มอง ได้ใช้เวลาอยู่กับมัน ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่นกตัวหนึ่ง เรามีปฏิสัมพันธ์ มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ยิ่งวาดยิ่งรู้จักก็ทำให้เราวาดได้ดีขึ้น เรารู้สึกว่ารูปวาดไม่สามารถทดแทนรูปถ่ายได้ และรูปถ่ายก็ไม่ได้ทดแทนรูปวาดได้ เวลาผมพลิกสมุดภาพกลับมาดู ผมจะรู้สึกได้ถึงความทรงจำที่มันจะกลับมาหมดเลย เพราะเราลงแรง ลงสมาธิไปเยอะในตอนวาด”

หลงใหลในชีวิตนก

“ทริปหนึ่งแล้วแต่ความขยัน และความประทับใจ ถ้าได้เจอนกที่เราไม่ได้เจอบ่อย ผมก็จะวาด แต่ถ้าเจอตัวเดิมๆ แต่มีพฤติกรรมแปลกๆ ผมก็จะบันทึกไว้เช่นกัน บันทึกคือทั้งความคิด ความรู้สึกของเรา มีทั้งภาพที่วาด มีคำอธิบายรายละเอียด ถึงผมเป็นหมอ เป็นคนในสายวิทย์ แต่ผมจะไม่ชอบวิทยาศาสตร์แบบแห้งๆ ผมจะบันทึกในมุมที่เราจะใส่สิ่งต่างๆ มีเรื่องของความรู้สึก หรือความโศกเศร้าเสียใจเมื่อเจอเหตุการณ์น่าเศร้าจะมีมุมแบบนั้นด้วย ไม่เชิงวิทยาศาสตร์แห้งๆ”

ดูเหมือนนี่คือสิ่งที่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งคนสายธรรมชาติที่รู้จักคุณหมอ ต่างรู้ดีว่าความหลงใหลและใส่ใจในธรรมชาติ แทรกซึมอยู่ในชีวิต และถูกเผยออกมาให้เห็นถึงความเป็นคนมีหัวใจที่ห่วงใยการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างแท้จริง

“การวาดนก นกเป็นแค่ตัวนำเราไปสู่ธรรมชาติ แต่ไม่ได้จบที่ตัวนก ยังประกอบด้วยเรื่องราวรอบๆ ตัว นกเกาะต้นอะไร กินอะไร มีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ตัวไหนอย่างไร มีความสัมพันธ์กับต้นไม้อย่างไร เราจะเห็นความเชื่อมโยง แต่ก่อนผมจะวาดแต่นก อย่างอื่นผมก็ไม่ใส่ใจ อย่างต้นไม้ผมจะวาดๆ ไป เพราะเราชอบแต่นก ซึ่งปรากฏการณ์นี้เขาเรียกว่าคนตาบอดพืช สมมติเราเห็นสัตว์ เห็นสิงโต ม้าลาย ในทุ่งหญ้า เราก็จะเห็นแต่สิงโตกับม้าลาย มองไม่เห็นพืชเลย มีครั้งหนึ่งผมวาดรูปนกกิ้งโครงกำลังกินแกลบอยู่ แล้วพี่สาวมาเห็นเข้าก็บอก โห…เธอวาดนกสวย แต่วาดต้นมะขามเทศได้น่าเกลียดมาก เราก็รู้สึกไม่ดีเหมือนโดนว่า หลังจากนั้นผมก็พยายามไม่ให้ตัวเองตาบอดพืช จะพยามสังเกตพืชมากขึ้น”

ย้อนกลับไปอีกนิด จุดเริ่มต้นของความรักในธรรมชาติของคุณหมอ ก็มาจากครอบครัว ที่มีทั้งคุณแม่และพี่สาว ซึ่งทุกคนล้วนมีบทบาทเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ และคุณหมอหม่องเองก็ยอมรับว่าคุณแม่คือบุคคลสำคัญที่มีส่วนปลูกฝังความรักธรรมชาติให้เขา

“ผมมีแม่ที่สนใจเรื่องธรรมชาติ รู้จักเรื่องราวของต้นไม้ต่างๆ นานา แม่รู้จักชื่อต้นไม้แทบทุกชนิด และตอนผมเด็กๆ แม่มักจะเล่านิทานเกี่ยวกับธรรมชาติได้สนุกและแม่ก็ทำให้ผมสนใจพืชมากขึ้น ตอนหลังผมก็จะวาดพืชได้ดีขึ้น แม้นกจะเป็นดาราในสิ่งมีชีวิต เพราะมันหน้าตาดี จนเป็นตัวนำให้คนสนใจธรรมชาติ ผมก็หวังว่างานของผมในเรื่องของสวยๆ งามๆ จะทำให้คนอยากเข้าไปดูนก แต่จริงๆ แล้ว ในระบบนิเวศไม่ได้มีแต่สัตว์หน้าตาดีเท่านั้นที่มีความสำคัญ จริงๆ กิ้งกือ ตะขาบ หอยทาก หรือแม้แต่จุลินทรีย์เล็กๆ ก็มีความสำคัญต่อระบบนิเวศมาก เพียงแต่มันไม่ได้ขนฟูตาโตสวยงาม ไม่มีออร่าของดารา คนก็เลยไม่ได้คิดอยากอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าเราทำให้คนเริ่มรู้สึกสนใจธรรมชาติ พอผมทำชมรมนก ทำนิทรรศการภาพวาดนก ตรงนี้ก็เป็นจุดเริ่ม ผมก็หวังว่าจะเป็นจุดทำให้คนสนใจได้ง่ายขึ้น”

โลกคงไม่สวยถ้าไม่มีใครช่วยกันดูแล

ช่วงสถาการณ์โควิด-19 ระบาดนั้น ดูเหมือนจะมีสิ่งดีๆ บางอย่างเกิดขึ้น นั่นก็คือ สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติหลายแห่งได้รับการพักฟื้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไป จากความขาดสมดุลมาต่อเนื่องยาวนาน

“ในฐานะนักอนุรักษ์ น่าห่วงหลายเรื่องนะ ถ้าศึกษางานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์เขาก็เตือนเรื่องขีดความสามารถของดาวเคราะห์ดวงนี้ในการจัดการปัญหาทั้งหลาย ซึ่งปัญหาที่หนักหนาตอนนี้คือ โลกเราจะมีความสามารถในการฟื้นตัวเองขนาดไหน ปัญหาที่เกินขีดความสามารถในการจัดการนี้กำลังเข้าสู่วิกฤติ แล้วมีปัญหาหลักๆ อยู่สามอย่าง คือ โลกร้อนกับพลาสติก แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดคือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ แต่มีคนจำนวนน้อยที่ให้ความสำคัญ เพราะเขาไม่ได้มองว่าเรื่องนี้กำลังกระทบต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ เขามองแค่สัตว์เป็นตัวๆ สัตว์สวยๆ แต่สัตว์ที่มีความสำคัญคือสัตว์ตัวเล็กๆ ที่มีคุณค่าต่อระบบนิเวศ สิ่งที่เราได้จากสัตว์เล็กๆ พวกนี้คือบริการทางนิเวศ พวกเขาเปรียบเหมือนคนปิดทองหลังพระ เพราะถ้าแมลง หรือผึ้งสูญพันธุ์ จะสร้างความสูญเสียต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก

“อย่างแมลงถ้าสังเกตหลายสิบปีก่อนตอนผมเด็กๆ เวลานั่งรถไปต่างจังหวัดตอนกลางคืน กระจกหน้ารถจะเต็มไปด้วยแมลง เดี๋ยวนี้กระจกใสสะอาด ประชากรแมลงลดลงไปมากจนน่าตกใจ แต่มนุษย์อาจไม่รู้สึกอะไร แมลงเป็นตัวทำหน้าที่ค้ำจุนระบบนิเวศ ผสมเกสรต่างๆ ให้พืชสร้างผลผลิตที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของสมดุลนิเวศ มนุษย์จะเดือดร้อนมากๆ ถ้าผึ้งหายไปจากระบบนิเวศ เพราะพืชกว่าครึ่งหนึ่งที่เรากินอยู่ต้องพึ่งพาการผสมพันธุ์จากผึ้ง นี่คือความสำคัญอันดับหนึ่ง เรากำลังอยู่ในภาวการณ์สูญพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ เราเคยมีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของโลกในเวลา ๓-๔ พันล้านปี มีทั้งหมด ๕ ครั้งแล้ว แต่ทุกครั้งไม่เคยเกิดขึ้นเร็วและรุนแรงแบบนี้ ทุกครั้งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่ครั้งนี้เป็นน้ำมือมนุษย์ ทำให้เกิดการสูญพันธุ์อย่างมโหฬาร และเป็นสิ่งที่จะกระทบเราทุกคนอย่างมาก แต่เหมือนเรายังไม่เห็น ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจแบบตื้นๆ มาก

“มีวิกฤติหลายอย่างของสัตว์ที่กำลังสูญพันธุ์ หลายคนคิดว่าไม่เกี่ยวกับเรา แต่มันเหมือนกับเครื่องจักรราคาแพง ถ้าเฟืองหลุดไปหนึ่งเฟือง เครื่องจักรอาจไม่พังวันนี้ แต่ข้างในมันมีผลกระทบ ก็เหมือนร่างกายมนุษย์ ถ้าสูญเสียนิ้วก้อยอาจยังไม่เป็นอะไรแต่ถ้าสูญเสียอวัยวะสำคัญก็รุนแรงมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ผมคิด ธาตุไนโตรเจนเข้าไปอยู่ในระบบนิเวศ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เกินขอบเขตไปแล้ว ปุ๋ยเคมีที่ปนเปื้อนในมหาสมุทร มีผลกระทบรุนแรง แต่ไม่มีใครเข้าใจ ไม่มีใครพูดถึง มีหลายประเด็นในธรรมชาติน่าห่วง มีปัญหาอีกเยอะที่เราขาดความใส่ใจ ธรรมชาติอาจต้องการเวลาและการดูแลรักษาที่มากกว่านี้”

ที่ดินประมาณ ๙๐ ไร่ สำหรับให้นกมาอยู่ เป็นทุ่งนาเลย แล้วเรามาฟื้นให้กลายเป็นป่า เป็นที่ชุ่มน้ำ ก็หวังให้เป็นที่หลบภัยให้แก่นก ไม่มีการล่านกที่นี่ มีบ้าน มีที่อาศัย คือคนก็มองเหมือนที่รกร้างว่างเปล่า เหมือนเป็นพื้นที่น้ำบ่อแฉะๆ แต่จริงๆ แล้วเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง

มรดกแห่งความรักษ์

ครอบครัวนักอนุรักษ์ครอบครัวกาญจนะวณิชย์เป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมและเชิดชู สำหรับคนที่มีหัวใจให้แก่ธรรมชาติอย่างไม่สิ้นสุด เพราะคุณหมอบอกว่า แม้คุณแม่จะจากไปแล้ว แต่สิ่งที่ทิ้งไว้ให้เขาเป็นมรดกนั้น ไม่ใช่เงินทองมากมาย หากสิ่งที่เขาได้รับเป็นมรดกจากคุณแม่ที่เป็นเสมือนผู้เปิดประตูชีวิตให้ใกล้ชิดธรรมชาติ นั่นก็คือ พื้นที่ธรรมชาติสำหรับการอนุรักษ์นก

“ผมได้รับมรดกเป็นที่ดินที่เชียงราย ก่อนท่านเสียก็เคยคุยกันเรื่องนี้ ผมเคยไปดูหลายๆ แห่งในต่างประเทศ หรือในอังกฤษ ก็มีที่อนุรักษ์นกซึ่งทำโดยเอกชน เขาทำพื้นที่ระดมทุนจากคนในสังคมที่จะอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวในธรรมชาติเอาไว้ คนต่างประเทศเขาให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก คือถ้ามีเงินก็จะทำสิ่งนี้มากกว่าเอาไปให้วัดสร้างโบสถ์สร้างวิหาร เขาจะเก็บมรดกไว้ให้ลูกหลาน ไม่ว่ามรดกทางวัฒนธรรมหรือต่างๆ แต่มรดกอีกอย่างที่คนเราไม่ค่อยให้ความสำคัญ คือมรดกทางธรรมชาติ เป็นเรื่องที่ไม่ได้ถูกส่งต่อให้รุ่นลูกหลานได้รับในธรรมชาติแบบที่เราเคยได้สัมผัส บ่อยครั้งมันหมดสิ้นในรุ่นของเรา ทีนี้พอผมได้คุยกับคุณแม่ ท่านก็เห็นด้วย พอคุณแม่เสียท่านก็เอาเงินให้ผมซื้อที่ดิน”

“ผมก็เลยอยากเก็บที่ผืนนี้ไว้ และจะทำเป็นศูนย์เรียนรู้ให้คนทั่วไป แต่ด้วยความที่ผมก็เป็นหมอ อาจทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ก็ทำมาเป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว ทำเท่าที่จะมีเวลา มีคนช่วยบ้าง เราก็มีการสำรวจนก มีการดูแต่ละพื้นที่ มีการนับจำนวนนก ติดขานก ทำบังไพร คนสามารถเข้าไปเฝ้าดูนกเล่นน้ำ ก็มีคนอยากเข้าไปดู ผมมองว่านี่คือสิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้ให้โลก ไม่ได้คิดจะทำบุญวิธีอื่น อยากเก็บพื้นที่ไว้สำหรับนกและสัตว์อื่นๆ ที่อยู่ในนี้โดยเฉพาะ”

ในจำนวนนกที่มาอาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในผืนดินธรรมชาติของคุณหมอ

มีนกมาหลายชนิด อย่างนกพงปากยาว เป็นนกที่เราคิดว่าสูญพันธุ์ไปจากโลกตั้งแต่เมื่อ ๑๓๙ ปีที่แล้ว ก็มาเจอในที่ของผม มีนกเขนคอไฟ เป็นนกที่ไม่เคยพบในประเทศไทยมาก่อน ก็มาพบในที่ผม และก็มีอีกหลายชนิด และยังพบนกชนิดใหม่อีก ๔ ชนิด ที่ไม่เคยพบมาก่อนในประเทศไทย

ชมรมรักษ์นกล้านนา คือชมรมสำหรับคนรักอยากจะเรียนรู้และดูนกที่คุณหมอจัดตั้งขึ้นในเชียงใหม่ “เราจะมีกิจกรรมดูนกทุกเดือน เป็นเบิร์ดวอล์ก คือเดินดูนกในธรรมชาติ ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือถ้าไม่ดูนกก็ไปเดินป่า สอนเด็กๆ ให้รู้จักธรรมชาติหลังบ้านให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะบางคนไปดูน้ำตกก็ไปแค่ดูน้ำตกแต่ไม่เจออะไร แต่ถ้าไปแบบมีความรู้แบบที่เราจะสอนให้ดู ก็จะเห็นว่าระหว่างข้างทางมีอะไรให้ดูอีกเยอะ ต้องมีคนสอนดูป่า สอนให้ฝึกให้สังเกต แล้วจากนั้นเขาจะเริ่มหาโน่นหานี่เจอ การเดินก็จะสนุกขึ้นอีก ได้ความรู้ ได้รู้จัก ได้รักธรรมชาติรอบตัว พอเขาได้สังเกตก็จะรู้ว่าในธรรมชาติมีอะไรที่สวยงาม และแต่ละสิ่งในธรรมชาติก็จะมีหน้าที่ต่างกันไป นี่คือการปลูกฝังผู้คนรอบตัว เด็กๆ ซึ่งอนาคตพวกเขาต้องมีหน้าที่ดูแลสิ่งเหล่านี้ต่อจากเรา”

เราทุกคนเกิดมาพร้อมหน้าที่ นอกจากหน้าที่ส่วนตัว หน้าที่ในครอบครัว หน้าที่การงาน และหน้าที่อะไรก็ตามที่แตกต่างกันไปในชีวิต แต่หน้าที่ที่เราหลงลืมกันไปว่าต้องทำอย่างเข้มงวด ตั้งใจ และทำให้ดีพอๆ กับหน้าที่อื่นๆ ก็คือ หน้าที่ในการดูแลโลกใบนี้ด้วยความรักษ์ อย่างที่ผู้ชายคนนี้ที่นอกจากดูแลรักษาผู้ป่วย ดูแลครอบครัว ดูแลคนที่รักแล้ว เขายังทำหน้าที่ดูแลธรรมชาติได้อย่างไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง เท่าที่คนหนึ่งพึงสมควรจะดูแลได้ เพื่อโลกในวันพรุ่งนี้ ที่น่าจะมีสิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิม

คอลัมน์ วิถีอนุรักษ์ / นิตยสารอนุรักษ์ ต.ค. 2563 เรื่อง : ฬียากร เจตนานุศาสน์  ภาพ : กรินทร์ มงคลพันธ์

About the Author

Share:
Tags: ดร. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ / นักอนุรักษ์ / วิถีอนุรักษ์ / หมอหม่อง / ธรรมชาติ / นก / ดูนก / นิตยสารอนุรักษ์ / ChiangMaiBirdWalk / ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา / ดร.เบิร์ดแมน /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ