นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 64
เรื่อง: ดวงใจ ยงยิ่งเชาว์
ภาพ: Greenery
พบกับกลุ่มคนผู้เชื่อว่าพลังเล็กๆ นั้นสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ได้จากงาน Greenery Talk 2023
คุณเอซ-ธนบูรณ์ สมบูรณ์
ผู้ก่อตั้ง Greenery Project
“หลายๆ คนสงสัยว่า ทำไมธรรมชาติต้องธรรมดา เพราะจริงๆ ต้องเป็นเรื่องธรรมดา การที่มีเคมี การมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นมากมาย มันเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา จริงๆ ก่อนหน้านี้ชีวิตปกติของเรา คืออาหารไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ไม่มีขยะพลาสติก แต่ทุกวันนี้ โลกต้องการความง่าย ความสะดวกมากยิ่งขึ้น จนเราต้องยอมรับกับปุ๋ยเคมี การบริโภคอาหารที่มีสารเคมีต่างๆ รวมถึงยาฆ่าแมลง ทำอย่างไรเราถึงจะกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ เป็นสิ่งที่ไม่มีมลพิษต่อโลก ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และดีต่อสุขภาพของเรา”
หมอฟิวส์-วานิชย์ วันทวี
เจ้าของ ว.ทวีฟาร์ม ฟาร์มปศุสัตว์วิถีไบโอไดนามิกส์ครบวงจร แห่งขอนแก่น
“เราทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ เราทุกคนสามารถดูแลรักษา ปกป้อง และพัฒนาเพื่อลูกหลานเราได้ เพราะเราทุกคนเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่ต้องดำรงอยู่ อาศัยซึ่งกันและกัน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน บนโลกใบนี้ ผมยอมลาออกจากวงการรักษาสัตว์ เพื่อมาเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว สร้าง ว.ทวีฟาร์ม ขึ้นมาเพื่อจะพัฒนาอาหารให้เห็นอาหาร ผมคือฟันเฟือนที่กำลังสร้างอาหารที่มีคุณภาพและมีศักยภาพ เพื่อให้วงการเกษตรกรเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ผู้ที่บริโภคอาหารเข้าไปปราศจากโรคภัย”
ก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ
คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ‘KongGreenGreen’ และผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก แยกขยะกันเถอะ ที่นำเสนอเรื่องการแยกขยะให้กลายเป็นเรื่องสนุก
“ในฐานะคนทำงานเล่าเรื่อง ๑๐ กว่าปี ไม่ว่าจะอยู่วงการโทรทัศน์ ทำคอนเท้นส์ ทำโฆษณาต่างๆ ผมว่าเรื่องขยะ เป็นเรื่องน่าค้นหา โดยเฉพาะในประเทศเรา มีความลึกลับ ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน เมื่อเราตั้งคำถามแทนที่จะได้เจอคำตอบ เรากลับได้เจออีกคำถามหนึ่ง แล้วเราก็ตอบไปเรื่อยๆ ครีเอเตอร์สายขยะไม่เคยจนมุม เพราะมันมีคอนเท้นส์ มีถามเข้ามาอยู่เรื่อยๆ KongGreenGreen เลยจะสนุกมาก”
คุณแอน-ศศวรรณ จิรายุส
ผู้บริโภคสาย (พยายาม) กรีน ผู้ตั้งใจปรับวิถีชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยตั้งอยู่บนความยืดหยุ่นและความเข้าใจบริบทสังคม
“เป็นคนเกรียนที่พยายามจะอยู่สายกรีน สิ่งแรกที่ทำให้เข้าวงการสายกรีนคือ กระติกน้ำ จากกระติกน้ำ เราก็จะก้าวสู่ ปิ่นโต ตะกร้า ถุงผ้า ถังแยกขยะ อุปกรณ์ต่างๆ นานาในชีวิต มันจะพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความอยากกอบกู้โลก อยากช่วยโลกลดขยะ แน่นอนเราอยากให้คนอื่นทำด้วย เราก็ให้เพื่อนเข้าวงการด้วย ใครมาสวนโมกข์ก็ให้พกกระติกน้ำ พกปิ่นโตมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นคุณพระคุณเจ้าเราก็ให้พกกระติกน้ำมาด้วย จากวันนั้นก็มีความเข้มข้นในการกอบกู้โลกมากขึ้นเรื่อยๆ ในการจัดการขยะ การลดขยะให้น้อยลง จนมีการบังคับก็มี งานบุญเราอยากให้คนทำบุญ ได้บุญตั้งแต่ต้นจนจบ ทำบุญด้วย ทำทานด้วย และรักษาศีลด้วย วิธีการทำบุญที่ดี คือการไม่ไปเบียดเบียนสิ่งแวดล้อม”
อาจารย์ติ๊ก-ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์ ณ น่าน
อาจารย์และนักพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดน่าน ผู้ลงลึกทำงานกับเกษตรกรมาร่วม ๑๐ ปี
“เรารู้สึกว่าสิ่งที่เป็นเรามาตั้ง ๓๐-๔๐ ปีมันถูกย้อนแย้งกันมากเลยกับหลักคิด ระบบเกษตรอินทรีย์กับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสวนทางกัน นักสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าเราสามารถแก้น้ำเสีย อากาศเสียของเสียได้ด้วยวิธีการตั้งรับ และหาวิธีการแก้ปัญหา วิวัฒนาการทำให้ปัญหามันหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ เราก็คงต้องหาวิธีการจัดการ นี่คือวิธีการจัดการปลายทาง แต่หลักคิดของเกษตรอินทรีย์ เกษตรทั่วไปที่ใช้สารเคมี เผาพื้นที่ปลูกป่า ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม วิธีคิดง่ายมาก ก็แค่ไม่ต้องทำในวิธีการที่ส่งผลกระทบ ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ชัดเจน ใช้เป็นกรอบการทำงานให้กับเกษตรกร และการันตรีคุณภาพผลผลิตให้กับผู้บริโภค นี่เรียกว่าเสน่ห์ของเกษตรอินทรีย์ ที่ชวนให้หลงใหล และตกหลุมรักซ้ำๆ ซ้ำๆ”
ลี-อายุ จือปา
ผู้ก่อตั้ง Akha Ama Coffee แบรนด์กาแฟเพื่อสังคมที่เติบโตระดับโลก
“ผมเกิดมาในครอบครัวที่แสนจะธรรมดา บ้านของผมหลังคายังเป็นหญ้าคา ผนังเป็นไม้ไผ่ ผมเติบโตมาในครอบครัวที่เป็นอาชีพเกษตรกร เกิดมาในครอบครัวที่เป็นชาติพันธุ์ ‘อาข่า’ มีภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง ชุมชนของผมมีประชากรอยู่แค่ประมาณ ๒๐๐ ชีวิต แต่วันหนึ่งที่เราได้เดินออกมา เราก็ได้เจอผู้คนมากมาย ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ได้เจอความหลากหลาย ทำให้ผมค้นเจอความฝัน ความฝันที่มีมาตั้งแต่เด็ก นั่นคือ อยากทำงานให้คนรอบข้าง คนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน มีความสุข มีความเจริญไปด้วยกัน”