เกษตรกรรุ่นใหม่
ความลุ่มหลง
กับมะม่วง
ที่ไม่ได้ถูกตีค่าแค่ความงามภายนอก
“พ่อทำมะม่วงแทบตาย เพื่อให้ได้มะม่วงอร่อย แต่เรามาทำมะม่วงกวน มันก็ไม่ตอบโจทย์”
บทสนทนากับคุณแนน วราภรณ์ มงคลแพทย์ ลูกสาวเกษตรกรสวนมะม่วงน้ำดอกไม้ที่บ้านเขาแคบ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทำให้เราฉุกคิดอีกมุมของการทำการเกษตร
“ชีวิตยิ่งกว่าติดลบในวัยเด็ก ขายผลไม้อยู่ข้างทาง” แต่กลับเป็นความผูกพัน ภูมิใจ และมุ่งมั่นที่จะทำการเกษตรกรรมให้สมบูรณ์ทั้งระบบแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
มาจนถึงวันนี้ ๓๒ ปี ครอบครัวมงคลแพทย์ยึดอาชีพเกษตรกรรม สร้างทุกอย่างจากการทำสวนมะม่วง ค่อยๆพัฒนาศึกษา เรียนรู้ที่จะ “แก้ไขปัญหา” โดยมีคุณพ่อและคุณแม่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ
“เพราะเราไม่มีทางเลือกทางอื่น”
คุณแนนจึงมุ่งมั่นเข้าศึกษาที่ สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกการแปรรูปอาหาร เพื่อนำมาสานต่อกิจการ แต่สำหรับทีมงานอนุรักษ์ และลูกค้ามะม่วงสวนนี้มองเห็นเป็นภาพ
ความรู้สึกรักในอาชีพเกษตรกร ลุ่มหลง ทุ่มเท พัฒนาย่อยอด ทุกรอยยิ้มที่ได้รับเมื่อมีคนชื่นชมรสชาตมะม่วงที่ตั้งใจเพาะบ่มกว่า ๗ เดือน เป็นรางวัลมีค่า
“บ้านหมากม่วง”
ฟาร์มช้อปที่รับซื้อมะม่วงจากฟาร์มคุณพ่อมาขายปลีกสู่มือผู้บริโภค เน้นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตโดยแปรรูปให้น้อยที่สุด และ ตัดสินมะม่วงที่รสชาติ ไม่ใช่เพียงผลใหญ่ ผิวสวย ไร้รอยด่างดำเพื่อการขาย Wholesale ส่งออกเพียงอย่างเดียว
ในแต่ละช่วงของมะม่วงใช้เวลากว่า ๗ เดือนกว่าจะได้หนึ่งผล หากมีแมลงมาทำลายผิว มะม่วงนี้ก็ถือว่า หมดค่า หมดราคา ที่จะส่งออก คุณแนนจึงนำมาทำไอศกรีม น้ำมะม่วง ไปจนถึงมะม่วงกวน เพื่อเพิ่มมูลค่า
การที่เห็นผู้คนได้มีความสุขกับรสชาตที่ดีที่สุดของมะม่วง ในเวลาที่เหมาะที่สุด อย่างการ ปล่อยให้สุกคาต้น นำมาเสิร์ฟเป็นข้าวเหนียวมะม่วง ทำให้ะม่วงนั้นมีคุณค่าอย่างที่เกษตรกรตั้งใจปลูก ประคมประหงมมา
ยิ่งได้ปอกมะม่วงเองเกือบทุกลูก ฝ่ายหน้าร้านบ้านหมากม่วง จึงทราบถึงคุณภาพเนื้อด้านใน เพื่อให้ทางฟาร์มปรับวิจัยสูตรแร่ธาตุต่อไป โดยเน้นความปลอดภัยร่วมไปกับรสชาติ
“ผืนดินปากช่อง กับการขายที่ทิ้งบ้าน”
ความสมบูรณ์ของภูมิประเทศ ดิน อากาศ แถบปากช่อง เขาใหญ่ เป็นที่เหมาะกับการทำการเกษตรอย่างมาก แต่ด้วยราคาที่ดินที่พุ่งปรี๊ดจากป่าไร่กลายเป็นที่ท่องเที่ยว เกษตรกรบางส่วนจึงเลือกที่จะ ขายที่ ทิ้งบ้าน เมื่อไม่ประสบความสำเร็จจากการทำเกษตรกรรม
“จริงๆแล้วความเหนื่อยยากของอาชีพนี้ คือ แทบจะไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ไม่ว่าจะเป็น ดินฟ้าอากาศ โรคจากแมลงต่างๆ แม้แต่ราคาของผลผลิตตัวเอง”
คุณแนนกล่าว
ภูมิปัญญาปรับเปลี่ยนจากประสบการณ์และการศึกษา
กว่าจะได้มะม่วง พึ่งพาธรรมชาติจากดิน อากาศ และแมลงหลายชนิดในการผสมเกสรในยามเช้า เช่น ผึ้ง หรือ แมลงวันหัวเขียว นอกจากกลิ่นของช่อดอกมะม่วงจะหอมเชิญชวน ทางฟาร์มยังใช้วิธีธรรมชาติแขวนซี่โครงไก่เป็นบัตรเชิญชั้นเยี่ยม
ผืนดินแผ่นแรกของครอบครัว อยู่ท่ามกลางหุบเขา การทำการเกษตรร่วมกับสัตว์ป่าเจ้าบ้านจึงต้องมีการวางแผน ฝูงลิงนับร้อยลงมา กัดกินมะม่วงดิบคาต้น เจอแต่ลูกเปรี้ยวก็ยิ่งทิ้งทำลาย จึงปลูกแก้วมังกรเป็นแนวรั้ว ให้มีผลผลิตที่สุกพร้อมๆกับมะม่วงในไร่ ฝูงลิงลงมาแก้วมังกรกินจนสำราญ ในขณะเดียวกันช่วยลดการเข้าบุกทำลายมะม่วงที่บรรจงห่อถุงกระดาษด้วยมือทุกลูก
โควิดกับผลกระทบ
นอกจากโรคแมลงร้ายๆที่เกิดใหม่ทุกปี ยังมีโควิดที่ทำให้กิจการชะงักทั้งสองด้าน ทั้งการส่งออกมะม่วงของฟาร์ม และการขายสินค้าหน้าร้านบ้านหมากม่วง ซึ่งเป็นแหล่งเช็คอินของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ การทดลองทำการตลาดแบบใหม่ไม่ว่าจะขายผลแบบยกต้น หรือแปรรูปมะม่วงเพื่อเก็บได้นาน ทำให้รอดพ้นวิกฤตได้
คุณแนนถือเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่นำผลผลิตมาแปรรูป ยังใช้การวิจัยคุณภาพดิน และการรักษาระบบนิวศน์เข้ามาช่วย และยังการรวมตัวกับเพื่อนๆเกษตรกรรุ่นราวคราวเดียวกันส่งต่อพลังให้คนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กๆในท้องถิ่นให้เข้าใจว่าผืนดินบ้านเกิดมีคุณค่า เปิดฟาร์มให้เป็นพื้นที่ศึกษางาน เรียนรู้ถึงการจัดการผลผลิต จัดทำวิชา “ทรัพยากรท้องถิ่น” ให้เด็กตามโรงเรียน เพราะเชื่อว่า “พอเรารู้มากขึ้น ก็จะเริ่มตระหนัก และรักษาผืนดินนี้ไว้”
เรื่อง: อาภาวัลย์ สรรพโส
ภาพ: ถกลเกียรติ โกศลกุล, บ้านหมากม่วง
คลิปสารคดี: คมสัน ศรียะพันธ์, ธนิต มณีจัก