นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 63
เรื่อง: ศิริวรรณ เต็มผาติ
ภาพ: มานิตย์ เดชสุภา
กะปิ น้ำปลา น้ำตาล เกลือ อาจจะเป็นของดาษดื่นที่หาได้ทั่วไป แต่หากคุณอยากได้รสชาติพิเศษจากเครื่องปรุงรสพื้นๆ พวกนี้ แถมยังอาจปริ่มเปรมใจเล็กๆ ว่าได้ช่วยให้ภูมิปัญญาด้านอาหารของไทยไม่ตายจากไปแล้วละก็ น่าจะมาทำความรู้จักกับ “เดอะมนต์รักแม่กลอง” สักนิด
นี่คือร้านโชห่วยที่ หนู-ภัทรพร อภิชิต, โจ-วีรวุฒิ กังวานนวกุล, นก-นิสา คงศรี และ ก๊อก-กึกก้อง เสือดี ร่วมก่อตั้งกันขึ้นมา พวกเขาไม่ใช่แค่คัดเฟ้นของดีของแม่กลองมาให้คนภายนอกได้รู้จัก แต่ยังนำมาแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ให้บนฉลากผลิตภัณฑ์มีเรื่องราวเรื่องเล่า และปรับสไตล์ของบรรจุภัณฑ์ให้สะท้อนถึงชีวิตที่งามง่ายอย่างที่เคยเป็นมาของชุมชนชาวแม่กลอง
เป็นธุรกิจร้านโชห่วยที่เป้าหมายในการขายของไม่ใช่การทำกำไร แต่คือการทำให้ธรรมชาติที่ดีของของดีแม่กลองยังคงอยู่ ให้ชาวสวนชาวนาได้มีกำลังใจทำของดีๆ ออกมา ให้ภูมิปัญญาของแม่กลองยังคงได้รับการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และทำให้คนรู้สึกได้ว่าของไทยแท้แต่โบราณนั้นล้ำเลิศแค่ไหน
หนู เป็นอดีตบรรณาธิการนิตยสาร Health & Cuisine โจ เป็นช่างภาพและศิลปิน ทั้งคู่เป็นสามีภรรยากัน มีร้านทุ่งนากาแฟและแกลเลอรีที่ตลาดน้ำอัมพวา และมี “หนูโจอาร์ตแอนด์ฟาร์ม” เป็นพื้นที่ทำงานศิลปะและเกษตรพึ่งตนเอง ซึ่งตั้งอยู่แนบชิดกับร้านโชห่วย “เดอะมนต์รักแม่กลอง”
นก เป็นผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีอิสระ ที่มีผลงานเคยได้รับรางวัลมาแล้วอย่าง “เด็กโต๋” ส่วน ก๊อก เป็นสถาปนิก ทำงานด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และเป็นนักวิจัยอิสระที่ทำงานโครงการสมุทรสงครามอยู่ดี
หนูและโจ ไม่ใช่ชาวแม่กลองโดยกำเนิด แต่ทั้งคู่มารู้จักและพบรักกันที่นี่ และความสนใจร่วมนำพาทั้งสี่คนมาพบกัน กลายเป็นทีมนักสร้างเรื่องราวของ “เดอะมนต์รักแม่กลอง” หนู-รับหน้าที่เป็นนักการตลาด เป็นก็อปปี้ไรเตอร์ โจ-ทำหน้าที่ช่างภาพและนักวาดภาพประกอบ นก-เป็นผู้ควบคุมการผลิต ก๊อก-เป็นคนดูเรื่องศิลปกรรมและข้อมูล แม้จะแบ่งบทบาทกันไว้ประมาณหนึ่ง แต่ในทางค’วามเป็นจริงพวกเขาร่วมด้วยช่วยกันในหลายๆ ด้าน ทั้งแปะฉลาก จัดของ และร่วมกันเล่าเรื่องราวของดีของแม่กลองให้คนรู้จักได้ยลยินแล้วอยากลิ้มชิม
บนฉลาก “หัวน้ำปลาแท้ ตราผู้ใหญ่แดง” บอกเราว่า นี่คือน้ำปลาที่หมักจากปลาอกกะแล้ด้วยวิถีภูมิปัญญาดั้งเดิมที่นับวันจะเลือนหาย ปลานี้ชาวประมงพื้นบ้านจะจับเฉพาะในฤดูหนาว ส่วนผสมในการหมักมีแค่ปลาและเกลือสมุทรแท้ๆ ไม่เจือสารปรุงแต่งใดๆ หมักในโอ่งดินเผานานถึง ๑ ปี จึงจะนำออกมาขาย รสชาติที่ได้คือน้ำปลาที่มีความเค็มเจือหวานปะแล่มๆ อร่อยต่างห่างไกลจากน้ำปลาโรงงานที่มีวางขายกันดาษดื่น
“กะปิเคยตาดำ ตราป้าบุญช่วย” ไม่ผสมกุ้งหรือปลา ป้าบุญช่วยต้องออกเรือไปป้องเคยด้วยตัวเองทุกครั้ง ได้เคยมาก็นำมาหมักกับเกลือสมุทรด้วยวิธีดั้งเดิม จึงได้กะปิที่กลิ่นหอมและรสชาติอร่อยลงตัว
“ยิ้มทั้งน้ำตาล” ชื่อที่ฟังสะดุดหูนี้ เป็นน้ำตาลมะพร้าวแท้ ๑๐๐% จากน้ำหวานของดอกมะพร้าวที่นำเคี่ยวจนงวดและแห้ง ไม่เจือน้ำตาลทราย ไม่ใส่สารกันบูด จึงได้น้ำตาลมะพร้าวที่หอมและมีรสชาติหวานมัน มีมิติ เป็นรสชาติธรรมชาติแท้ของน้ำตาลมะพร้าว จากสวนมะพร้าวอินทรีย์
“เกลือนาแก้ว” เกลือทะเล ๑๐๐% ทำโดยครอบครัวชาวนาเกลือสมุทรสงครามที่ยืนหยัดรักษาวิถีชีวิตชาวนาเกลือมาเนิ่นนาน เป็นเกลือทะเลที่ให้รสเค็มอมหวาน
“น้ำผึ้งดอกลิ้นจี่ ตรากำนันหน่อย” เป็นน้ำผึ้งธรรมชาติจากสวนลิ้นจี่ที่ตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที หอมหวานในแบบธรรมชาติ ไร้สารเคมี
“พลิกกะเกลือ ตราแม่คุณ” เป็นของที่ผลิตตามสั่ง เป็นอาหารโบราณที่เกือบจะสูญหายไปแล้ว ทำจากมะพร้าวขูดฝอย คั่วให้หอมแล้วโขลกปรุงรสด้วยน้ำตาลมะพร้าว ดอกเกลือ และพริกคั่วป่น รสชาติหวานมัน เค็มปะแล่ม เผ็ดอ่อนๆ ใช้คลุกข้าวสวย โรยบนกับข้าว ผลไม้ หรือสลัด
“น้ำส้มหมักจากน้ำตาลมะพร้าว ตรามิตรปรีชา” ทำจากน้ำตาลสดที่ได้จากดอกของมะพร้าวซึ่งปลูกในสวนอินทรีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง นำมาหมักในโอ่งดินเผาเป็นเวลาหนึ่งปี จนกระทั่งกลายเป็นน้ำส้มชั้นยอด รสชาติเปรี้ยวนำและหอมหวานตามธรรมชาติ