ไม่น่าเชื่อว่าที่หมู่บ้านในจังหวัดระยองแห่งนี้ ได้สานต่อการแปลงโฉมกระจูด พืชพื้นถิ่นที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติให้กลายเป็นเครื่องจักสาน ที่สามารถเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนแห่งนี้ ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมมากว่า ๒๐๐ ปีแล้ว
จากต้นกระจูด สู่กระจาด
ลองจินตนาการดูว่าในสมัยอยุธยา ชาวบ้านเริ่มสานอะไรเป็นอย่างแรก จากข้อมูลบอกว่าคือ เสื่อ น่าจะเป็นเพราะการขึ้นรูปทรงไม่ยากมาก หลังจากตัดต้นกระจูดมาคลุกดินนวล คือดินบนภูเขา คลุกให้เข้ากันทิ้งไว้ เพื่อเพิ่มความเหนียว แล้วนำไปตากแดดอีกสองวัน จากนั้นเอามารีดให้แห้ง แล้วจึงนำมาสานให้ได้เสื่อผืนกว้างๆ ต่อมาก็ปรับแบบสานเป็นกระสอบใส่น้ำตาลและกระจาด นี่คือจุดเริ่มต้นในการนำมาทำเป็นภาชนะและของใช้ที่จำเป็นในครัวเรือน จากนั้นพัฒนารูปแบบให้มีความหลากหลายมากขึ้น และเริ่มมีการจำหน่าย จนกลายเป็นสินค้ามีชื่อเสียงในเวลาต่อมา
กลุ่มจักสานบ้านกวี
การสานกระจูดของชาวบ้านในสมัยก่อน มักทำเมื่อว่างจากการทำสวนพอได้ปริมาณมากขึ้นก็เริ่มมีพ่อค้า
เข้ามารับไปขายยังที่ต่างๆ ต่อมาเมื่อมีการส่งเครื่องบรรณาการเครื่องจักสานให้แก่เจ้านายในเมืองหลวง จึงทำให้เครื่องจักสานของเมืองแกลงนี้มีชื่อเสียงขึ้นมาก จนถึงขนาดที่มีการเอ่ยถึงใน นิราศเมืองแกลง ของสุนทรภู่ด้วย
จากสมาชิกกลุ่มเริ่มแรกมีไม่ถึงยี่สิบคน ปัจจุบันเมื่อผลิตภัณฑ์จักสานของที่นี่ ได้รับการค้นพบโดย GC หรือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาดูแลและช่วยเหลือในเรื่องของการผลิตให้มีคุณภาพ และออกแบบให้ทันสมัยมากขึ้น จึงได้จัดตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมา ชื่อว่า “กลุ่มจักสานกระจูดบ้านมาบเหลาชะโอน” มีการรวมตัวกันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นมากว่าร้อยรายการ เช่น หมวกสาน รองเท้าแตะใส่ในบ้าน กระเป๋าหิ้ว และกระเป๋าสะพายสายหนัง ที่แม้คนรุ่นใหม่นำไปใช้ก็ดูเก๋ไก๋ และทำให้สินค้าสามารถส่งออกไปขายได้มากขึ้น โดยช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ได้มีการส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศในแถบเอเชียและยุโรป โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มจักสานบ้านกวี”