Wednesday, December 11, 2024
ภูมิปัญญาไทย ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

วิถีกินอยู่และภูมิปัญญาเผาถ่านไม้โกงกาง ชุมชนบ้านยี่สาร สมุทรสงคราม

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 64
เรื่อง: ศิริลักษณ์ บางจริง
ภาพ: ธนิสร หลักชัย

ในยุคที่เตาอั้งโล่และถ่านไม้หวนคืนสู่กระแสนิยมของครัวไทย มารู้จักชุมชนหนึ่งเดียวที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสีดำๆ นั่นคือ การเผาถ่านไม้โกงกางบนผืนป่าชายเลนที่มีโฉนดที่ดินตามกฎหมาย

เมื่อน้ำมันและแก๊สหุงต้มพากันขึ้นราคาแบบไม่แคร์เงินในกระเป๋า ส่งผลให้ถ่านไม้ขึ้นราคาตาม สร้างรายได้ให้อาชีพคนเผาถ่าน แม้หลายคนอาจมองว่าอาชีพนี้เป็นการทำร้ายธรรมชาติ สร้างมลพิษให้สังคม เป็นงานใช้แรงที่คนรุ่นใหม่มองข้าม แต่สำหรับชาวบ้านยี่สาร จ.สมุทรสงคราม นี่คือภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นบนพื้นฐานความสมดุลของชีวิตคนกับป่าชายเลน ซึ่งทำให้ชาวยี่สารอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้

บ้านเขายี่สารหรือบ้านยี่สารอยู่ในอำเภออัมพวา บริเวณเชิงเขายี่สารซึ่งเป็นภูเขาลูกเดียวของสมุทรสงคราม ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นจุดพักแลกเปลี่ยนสินค้าในเส้นทางเดินเรือค้าขายจากเมืองหลวงสู่เมืองเพชรบุรี ตามหลักฐานทางโบราณคดีที่หาชมกันได้ในพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อการคมนาคมหลักเปลี่ยนเป็นรถไฟและรถยนต์ ชุมชนค้าขายริมน้ำอย่างบ้านยี่สารก็เริ่มซบเซา อีกทั้งข้อจำกัดจากสภาพแวดล้อมที่ล้อมรอบด้วยป่าชายเลนและลำคลอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็มและน้ำกร่อยที่หนุนมาจากทะเลอ่าวไทย ทำให้ขาดแคลนน้ำจืดในการยังชีพ ชาวยี่สารต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนด้วยการทำไม้ฟืนและเผาถ่านขาย นอกเหนือจากทำประมงและอาหารทะเลแปรรูป

เปิดเตาเผาถ่านเลี้ยงชีพ

กิจการโรงเผาถ่านแห่งแรกของบ้านยี่สารเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ พร้อมๆ กับนำพันธุ์ไม้โกงกางใบเล็กมาปลูกในพื้นที่ เพราะเนื้อไม้มีความแกร่งกว่าโกงกางใบใหญ่ ทำให้ถ่านที่ได้มีคุณภาพดีกว่า โดยมีครอบครัวของ รศ.สิริอาภา รัชตะหิรัญ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สารเป็นครอบครัวแรกๆ ในชุมชนที่เปลี่ยนป่าชายเลนธรรมชาติมาเป็นแปลงปลูกป่าโกงกางเพื่อเผาถ่าน และต้องปลูกไม้ทดแทนส่วนที่ตัดไปทุกครั้งเพื่อให้บ้านยี่สารยังมีป่าโกงกางอยู่ตลอดไป ซึ่งรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกโฉนดที่ดินให้ชาวบ้านมีกรรมสิทธิ์ในผืนป่าชายเลนที่ใช้อยู่ใช้ทำกินมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย บ้านยี่สารจึงเป็นชุมชนเดียวในประเทศไทยที่ทำอาชีพเผาถ่านไม้โกงกางบนผืนป่าชายเลนที่มีโฉนดที่ดินอย่างถูกกฎหมาย

สำหรับไม้โกงกางที่จะตัดมาทำถ่านได้ต้องมีอายุ ๑๒ ปีขึ้นไป จากนั้นนำมาเลื่อยให้ได้ขนาดเรียกว่า “ไม้หลา” แล้วทุบเปลือกไม้ออกก่อนนำมาเรียงในเตาเผา ก่ออิฐปิดทางเข้าและเว้นที่ด้านล่างสุดไว้เติมฟืนไฟเพื่อเผาไม้อยู่นาน ๑๕ วัน โดยมีคนเฝ้าตลอด ๒๔ ชั่วโมง ห้ามไฟดับและอากาศเข้า เพราะจะทำให้ถ่านไม้เสียหาย หลังจากถ่านสุกจะปิดเตารอให้ถ่านเย็นอีก ๑๕ วัน จึงขนถ่านออกจากเตาแล้วตัดเป็นท่อนๆ เพื่อแพ็กตามออเดอร์ของลูกค้า ปัจจุบันในชุมชนเหลือโรงเผาถ่านตามวิธีดั้งเดิมนี้ ๖-๗ โรง บางโรงมีถึง ๑๐ เตา ว่ากันว่าถ่านไม้โกงกางของบ้านยี่สารเป็นถ่านที่มีคุณภาพดีที่สุดในประเทศ ด้วยคุณสมบัติติดไฟง่าย ให้ความร้อนสูงและร้อนนานสม่ำเสมอ ควันน้อย ขี้เถ้าน้อย และไม่แตกปะทุง่าย ส่วนใหญ่ส่งขายต่างประเทศโดยตลาดหลักๆ อยู่ที่ประเทศแถบตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ผ้าย้อมน้ำปะเตาจากพืชชายเลน

อีกผลพลอยได้จากการเผาถ่านตามวิถีบ้านยี่สารคือ การทำน้ำส้มควันไม้ใช้ไล่แมลง ทำก้อนถ่านดูดกลิ่น ส่วนเปลือกไม้นำไปใช้ย้อมผ้าน้ำปะเตาตามภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มีชาวบ้านจิตอาสา “กลุ่มเปลือกไม้” เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง โดยนำเปลือกไม้อย่างตะบูน ปุโรงหรือโปรง มาต้มจนได้น้ำสีเข้มๆ เรียกว่า “น้ำปะเตา” ความฝาดของเปลือกไม้ทำให้เส้นใยผ้าเหนียวทน ไม่เปื่อยง่าย ส่วนยางไม้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคที่เกิดจากการหมักหมมของเหงื่อไคล ในสมัยก่อนใช้ย้อมแหย้อมอวน รวมถึงย้อม “ชุดตั๋ง” เสื้อผ้าที่ใส่ทำงานตัดไม้เผาถ่านและทำประมง

ครูไพรัช แก้วกาม หนึ่งในผู้ฟื้นฟูภูมิปัญญาการย้อมผ้าแบบชาวยี่สารเล่าว่า “การย้อมผ้าด้วยน้ำปะเตาแบบดั้งเดิมจะได้แค่ผ้าสีพื้นๆ แต่เรานำเทคนิคมัดย้อมมาใช้ ทำให้ได้ผ้ามัดย้อมน้ำปะเตาที่มีลวดลายเฉพาะของบ้านยี่สาร ซึ่งสีสันของผ้าขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดและความอ่อนแก่ของเปลือกไม้ อย่างตะบูนให้สีน้ำตาลชมพู ปุโรงให้สีน้ำตาลส้ม โกงกางให้สีน้ำตาลเข้ม ระยะเวลาในการต้มและภาชนะที่ใช้ต้มอย่างอะลูมิเนียมก็ส่งผลต่อสีที่ได้ แล้วยังมีสารช่วยย้อม เช่น น้ำปูนใส น้ำสารส้ม น้ำสนิมที่ใช้ชุบผ้าก็ทำให้สีต่างกัน”

คุณสมบัติเด่นของผ้ามัดย้อมบ้านยี่สารอยู่ที่สีไม่ตกเพราะผ้าที่ย้อมเสร็จแล้ว จะถูกซักจนน้ำใสจึงนำมาตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อ กางเกงเล กระเป๋า หมวก ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ ที่ใส่เครื่องเขียน ฯลฯ ทว่าข้อจำกัดของผ้าย้อมสีธรรมชาติคือ สีสันจะซีดหม่นไปตามการใช้งาน แต่นี่แหละเป็นเสน่ห์ของผ้ามัดย้อมบ้านยี่สาร ที่ได้จากคุณค่าของป่าชายเลน

อิ่มคาว-หวานที่บ้านยี่สาร

แม้จะมีความอุดมสมบูรณ์ของกุ้งหอยปูปลาจากป่าชายเลน แต่ในสมัยก่อนชาวยี่สารต้องเอาปลาไปแลกข้าวเพราะสภาพพื้นที่ไม่เอื้อต่อการปลูกข้าว แล้วเก็บพืชผักน้ำกร่อยในท้องถิ่นมาทำอาหาร โดยเฉพาะใบชะครามที่ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านอร่อยๆ ได้หลายเมนู เช่น ชะครามลวกจิ้มน้ำพริกกะปิ แกงส้มชะคราม ยำใบชะคราม แกงคั่วหรือแกงอ่อมชะคราม ซึ่งนักท่องเที่ยวแวะมาอร่อยกันได้ที่ร้านครัวคุณจ๋า

ร้านอาหารประจำชุมชนตั้งอยู่ริมคลองยี่สาร เมนูปลาๆ ที่อร่อยขึ้นชื่อก็มี ปลาหมอเทศแดดเดียว ปลาทูต้มมะดัน ปลาทูซาเตี๊ยะก็มีให้ลิ้มลอง รวมถึงมีขนมหวานไทยๆ จากกลุ่มแม่บ้านเขายี่สารจำหน่ายด้วย แต่หากใครอยากได้ปลาแดดเดียวทำสดใหม่กลับบ้าน ทั้งปลากุเลา ปลากระบอก ปลานิล และปลาหมอเทศ แวะที่แผงปลาเล็กๆ ของป้าปาน-ปลาเค็ม ตั้งอยู่หน้าร้านครัวคุณจ๋า หรืออยากชิมลูกจากลอยแก้ว สาเกเชื่อม รวมถึงกุ้งหวานทำใหม่ๆ ตรงไปร้านพี่เปียที่อยู่ใกล้กัน รับรองได้ของฝากอร่อยๆ จากยี่สารกลับบ้านแน่นอน

นอกจากนี้ในชุมชนยังมีจุดน่าเที่ยวชมที่ไม่ควรพลาด ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สารที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในท้องถิ่น เพื่อบอกเล่าวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของคนยี่สาร แวะไหว้พ่อปู่ศรีราชา ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชุมชน แล้วเดินขึ้นเขาเพื่อเยี่ยมชมวัดเขายี่สารที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ชมพระอุโบสถที่สร้างจากปูนขาวและหน้าบันตกแต่งด้วยปูนปั้นฝีมือช่างเพชรบุรี สักการะพระพุทธไสยาสน์ที่มีนิ้วพระบาท ๙ นิ้ว ชมพระวิหารเก่าแก่รูปทรงเรือบนยอดเขายี่สารซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ๔ รอย และพระพุทธรูปปากแดงองค์ใหญ่กับตำนานพระกินเด็กแห่งบ้านยี่สาร

รายละเอียดเพิ่มเติม

– พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านเขายี่สาร เปิดให้เข้าชมวันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ตั้งแต่ ๐๙.๐๐-๑๕.๐๐ น.

– สนใจทำผ้ามัดย้อมน้ำปะเตาและถ่านดูดกลิ่น รวมถึงเยี่ยมชมโรงเผาถ่าน ติดต่อที่ครูไพรัช โทร. ๐๘ ๙๙๘๖ ๐๑๔๒ และคุณเอ โทร. ๐๘ ๔๒๔๑ ๖๕๖๙

– ร้านอาหารครัวคุณจ๋า เปิดบริการทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. หยุดวันพุธ-วันพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือน โทร. ๐๘ ๑๘๐๘ ๒๗๐๑

About the Author

Share:
Tags: ป่า / ฉบับที่ 64 / ชุมชนบ้านยี่สาร / เผาถ่านไม้โกงกาง / เผาถ่าน / ไม้โกงกาง / ธรรมชาติ / สมุทรสงคราม / สิ่งแวดล้อม / ต้นไม้ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ