นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 73 เมษายน 2567
เรื่อง/ภาพ: ชาธร โชคภัทระ
ไกลออกไปทางทิศตะวันตกของลุ่มน้ำสะแกกรัง ณ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ชนหลากเผ่าพันธุ์ลงหลักปักฐานอาศัยอยู่กันมาหลายชั่วอายุคน ภายใต้วัฒนธรรมของตน “ลาวครั่ง” คือหนึ่งในชาติพันธุ์โดดเด่น ที่ยังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมไว้ได้เหนียวแน่น โดยเฉพาะ “ผ้าทอ” ที่มีสีสัน ลวดลายดึงดูดสายตา
จากแดนไกล สู่แดนสยาม
เสียงฟืมไม้ในกี่ทอผ้ากระทบกันดังเป็นจังหวะสม่ำเสมอ แว่วออกมาจากโรงทอผ้าที่มีหญิงสาวต่างวัยกลุ่มใหญ่เข้ามาทอผ้าเป็นประจำทุกวัน บางกี่เป็นเส้นฝ้ายล้วน บางกี่เป็นฝ้ายแกมไหม หรือไหมล้วน นี่คือบรรยากาศที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปี ณ “บ้านผาทั่ง” ตำบลห้วยแห้ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ชุมชนลาวครั่งที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคกลาง และรู้จักกันอย่างกว้างขวางในฐานะแหล่งผลิตผ้าทอพื้นบ้านอันวิจิตร บรรพบุรุษของลาวครั่งบ้านผาทั่งคือ ชาวลาวเวียง ที่อพยพเข้ามาจากเมืองเวียงจันทน์เมื่อกว่า 200 ปีแล้ว นอกจากอาชีพหลักคือเกษตรกรรม ยามว่างชาวลาวครั่งยังนำภูมิปัญญาที่ติดตัวมารังสรรค์ผ้าทอไว้ใส่ในชีวิตประจำวัน เมื่อเวลาผ่านไปก็ประยุกต์ผลิตขายเป็นสินค้าที่ระลึกทรงคุณค่า สมัยก่อนหญิงลาวครั่งจะได้รับการฝึกให้ทอผ้าตั้งแต่วัยเยาว์ เพื่อใช้นุ่งห่ม บูชาพระ เป็นของกำนัล ตลอดจนต้องทอผ้าสำหรับเข้าพิธีแต่งงานของตัวเอง องค์ความรู้ด้านการทอผ้าจึงได้รับการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น โดยมิได้จดบันทึกเป็นลายลักษณ์ คนลาวครั่งมีภาษา การแต่งกาย ประเพณี และความเชื่อของตนเอง โดยเฉพาะผ้าทอที่ใช้ในหลายโอกาส อาทิ พิธีไหว้ผีบรรพบุรุษ ใช้ในการศาสนา ทำธง อาสนะ ผ้าคลุมหัวนาค ผ้าติดธรรมาสน์ ส่วนผ้าตีนจกจะทอใช้ในงานบุญ และงานมงคลสมรส เป็นต้น
เส้นสีแพรพรรณ อัศจรรย์ผ้าลาวครั่ง
เอกลักษณ์ลึกซึ้ง ตราตรึงบนผืนผ้า
แรงบันดาลใจในการรังสรรค์ผ้าแต่ละผืนของชาวลาวครั่งบ้านผาทั่ง ล้วนนำมาจากสิ่งแวดล้อมรอบกาย วัสดุในการทอก็ได้มาจากท้องถิ่น ทั้งฝ้ายและไหม เทคนิคที่ใช้มีทั้งการจกและมัดหมี่ ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของลาวครั่งคือ “ผ้าซิ่นมัดหมี่ต่อตีนจก” ซึ่งมีลวดลายเฉพาะ ใช้สีให้ความรู้สึกร้อนแรง เช่น สีแดงครั่ง สีส้มหมากสุก สีเหลือง ส่วนลายผ้าก็ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว นอกจากนี้ยังทอเป็นรูปสัตว์และดอกไม้ พรรณไม้ได้สวยงาม มีให้เห็นทั้งในธงสิบสองราศี ผ้าปูที่นอน ย่าม และซิ่นตีนจก
ช่างทอผ้าลาวครั่งบ้านผาทั่งนิยมใช้สีแดงจากการย้อมด้วยครั่ง เป็นสีหลักในการทอผ้าซิ่นตีนจก ทั้งด้ายเส้นยืนและเส้นพุ่ง ส่วนด้ายเส้นพุ่งพิเศษในการทอลายจกนิยมใช้สีเหลือง สีอื่นที่เป็นองค์ประกอบ คือ สีส้มหมากสุก สีขาว สีดำ และสีเขียว พวกเขาชำนาญในการใช้สีตรงข้ามมาอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืน ดั้งเดิมผ้าหนึ่งผืนจะมี ๕ สีเท่านั้น ได้แก่ “สีแดง” สื่อถึงการอพยพมาจากทิศตะวันออก “สีดำ” สื่อถึงเมืองที่สมบูรณ์ ดินดำน้ำชุ่ม “สีขาว” สื่อถึงเชื้อชาติบรรพบุรุษเป็นลาวพุทธ “สีเหลือง” สื่อถึงดอกจำปา เอกลักษณ์คนลาว และสุดท้าย “สีเขียว” สื่อถึงการดำรงชีพผูกพันอยู่กับธรรมชาติอย่างแน่นแฟ้น
ผ้าซิ่นตีนจกลาวครั่งในหนึ่งผืนแบ่งโครงสร้างเป็น ๓ ส่วน คือ หัว (ส่วนเอว) ตัว (ส่วนกลางของซิ่น) และตีน (เชิงผ้าซิ่น) โครงสร้างลายส่วนใหญ่เป็นรูปเรขาคณิตขนาดใหญ่ เช่น ข้าวหลามตัด สี่เหลี่ยมผืนผ้า สามเหลี่ยม ฯลฯ เกิดจากลายผสมที่นำลายเล็กๆ อย่างขิดหน่วย ขิดดอก และขิดขอ มารวมกัน การทอซิ่นตีนจกจะเว้นส่วนปลายไว้เป็นพื้นสีแดงหรือดำ แล้วแต่ชนิดของซิ่น และทอปลายสุดด้วยแถบสีเหลืองหรือสีเขียว ลายบนผ้าแบ่งได้ ๒ ประเภท คือ “ลายหลัก” หรือ “แม่ลายหลัก” หรือ “ลายเอก” คือลายที่เป็นองค์ประกอบหลักของผ้า ลายมีขนาดใหญ่ เช่น ลายดอกแก้ว ลายตะเหลียวฮ่อ ลายนาค ลายเอี้ยรัดดอกแก้ว และลายกาบ เป็นต้น อีกประเภทคือ “ลายประกอบ” หรือ “แม่ลายประกอบ” คือลายที่เป็นองค์ประกอบย่อย มีขนาดเล็ก ทออยู่ด้านบนหรือล่างลายหลัก เช่น ลายปีกบ่าง ลายก้านก่อง ลายหน่วย ลายเขี้ยวหมาเป็น ลายเขี้ยวหมาตาย ฯลฯ
ลายจกดั้งเดิมของลาวครั่งบ้านผาทั่งที่ใช้กัน เช่น ลายก้านก่อง ลายขอเปีย ลายข้างกระแต ลายขอกูด ลายขอปล้อง ลายขอเครือ ลายขอหลวง ลายสร้อยสา ลายดอกแก้ว ลายดอกดาว ลายนาค ฯลฯ ทุกลายมีที่มา อาทิ “ลายสร้อยสา” ได้แรงบันดาลใจจากช่อดอกไม้หรือดอกหญ้าที่โอนพลิ้วไปตามแรงลม สื่อถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของชาวบ้านผาทั่ง และ “ลายขอกูด” รังสรรค์จากยอดอ่อนผักกูด พืชตระกูลเฟินชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ตามราวป่า ยอดอ่อนของผักกูดจะม้วนเป็นขดกลม เป็นต้น
นอกจากนี้ลายผ้าของชาวลาวครั่ง ยังมีชื่อเรียกเฉพาะอีกมากมาย เช่น ลายขอหลวง (แม่ลาย) ลายตะเภา (ตะเภาใหญ่ ตะเภาน้อย) ลายหมี่โลด (เกิดจากการมัดหมี่ ให้ทอลายไปตลอดทั้งผืน) ลายหมี่ผ่า (ทำเฉพาะกับเส้นใยฝ้าย) โดยระหว่างการทอจะสอดด้ายสีพื้นแทรกลงไประหว่างทอลำหมี่ และ ลายหมี่ตา (เกิดจากการทอสลับระหว่างขิดกับมัดหมี่) ฯลฯ
มรดกแพรพรรณ รางวัลแห่งความภูมิใจ
ผ้าทอมือลาวครั่งบ้านผาทั่ง รวมตัวจัดตั้งกลุ่มทอผ้าเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ และสร้างศูนย์อนุรักษ์ผ้าทอโบราณลาวครั่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ มีทั้งส่วนที่เป็นโรงทอให้สมาชิก ส่วนสาธิตการทอครบทุกขั้นตอน ห้องนิทรรศการรวบรวมซิ่นลาวครั่งโบราณอายุนับร้อยปี และร้านจำหน่าย นี่คือความสำเร็จภายใต้การนำของคุณแม่ทองลี้ คณฑา (ภูริผล) และคุณยลดา ภูมิผล (บุตรสาว) ซึ่งทั้งสองได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติโดยหลายสถาบัน ผลงานผ้าทอที่มีชื่อเสียงที่สุดของบ้านผาทั่งคือ “ชุดเครื่องนอนก่อนวิวาห์” ได้รับรางวัลชนะเลิศจากองค์การยูเนสโก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นชุดเครื่องนอนผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ ใช้ลายพญานาคล้อมเพชรและลายนาคลอยน้ำ อันเป็นลายมงคล นอกจากนี้บ้านผาทั่งยังได้รับรางวัลชมเชย ประเภทผ้ากลุ่มชาติพันธุ์ จากการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ดอกรักราชกัญญา” โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวลี เมื่อไม่นานมานี้ด้วย
วันนี้โรงทอผ้าของบ้านผาทั่งยังมีหญิงหลากหลายวัยเข้ามาทอผ้าผืนงามด้วยความชำนาญ พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ให้ผู้สนใจ เพราะผืนผ้าคือชีวิตและเรื่องเล่าของชาวลาวครั่งได้อย่างลึกซึ้งในทุกมิติ นี่คือหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาติไทย ที่เราทุกคนควรภูมิใจ และช่วยกันสืบสานไว้ตลอดไป