“ผ้าแส่ว”
มรดกลายแทงจากรุ่นสู่รุ่น
เรื่อง/ภาพ: นัทธ์หทัย วนาเฉลิม
“ต่ำหุมิทันเป็นแจ ต่ำแพรมิทันเป็นผ้าต้อน เล้งม้อนมิทันฮู้โตลุกโตนอน อย่าห้าววอนเอาโผ”
เป็นผญา (สุภาษิตคำสอน) ที่แม่หญิงผู้ไทบ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์ ยังยึดมั่น มีความหมายว่า ถ้าปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไม่ได้ ทอผ้ายังไม่เป็น ก็อย่าเพิ่งมีผัว แสดงให้เห็นว่าสตรีผู้ไทให้ความสำคัญกับงานทอ ไม่แพ้อาชีพหลักอย่างการกสิกรรมเลย
ถึงจะทราบว่าผ้าไหมแพรวาเป็นผ้าทอเอกลักษ์ของชาวผู้ไท แต่เอาเข้าจริงฉันกลับไม่คุ้นชินกับวิถีชีวิตของชนเผ่าโบราณนี้มากไปกว่าการเห็นภาพความรื่นเริงในวงมโหรีแบบอีสานๆ
ที่มีเครื่องดนตรีพื้นบ้านผู้ไทร่วมบรรเลง จากภาพจิตรกรรมบนผนังโบสถ์ประจำท้องถิ่นเลย จนกระทั่งวันหนึ่งฉันได้รับหนังสือเชิญไปร่วมงานประชุม Philosophy of the Truth in Nature on Contemporary Fabric Designs ฉันใช้เวลาตัดสินใจเพียง ๐.๐๐๐ วินาทีก็ตอบตกลง ที่งานนั้นก่อนงานประชุมจะเริ่มก็ต้องช้อปน่ะสิ
“ลายบนแพรมนผืนที่คุณเลือกเรียกว่าลายใหญ่” ฉันมองพี่นุชช่างทอเจ้าของผลงาน ด้วยดวงหน้าที่เต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม เพราะในแพรมนผืนนั้นมีแต่ลายเก็บขิดที่เล็กละเอียดยิบ ไม่เห็นมีดอกลายใหญ่ๆ สักลาย
“ลายใหญ่ก็คือลายหลักที่จะทอกันตรงท้องผ้าค่ะ อย่างของคุณก็จะมีลายดอกดาวอุ้มดาว ลายกระบวนแอวกิ่ว ลายขอเบ็ด ลายจุ้มตีนหมาน้อย ลายดอกบัวลอย ๖ ไม้ ลายดาวแก้ว ลายนาคคอคด ลายใบบุ่นก้านก่อง ลายใบบุ่นอุ้มดาว…” เจ้าของผลงานอธิบายไปทีละลาย
โอ้โห้! ขนาดผ้ามัดผมผืนเล็กๆ ลวดลายยังอัดแน่นขนาดนี้ แล้วถ้าเป็นผ้าผืนใหญ่จะขนาดไหน และจำกันอย่างไรจึงจะจดจำแบบลายกันได้หมดนะ ไม่นานฉันก็ได้คำตอบ…