Monday, October 14, 2024
ภูมิปัญญาไทย

“ผ้าแส่ว” มรดกลายแทงจากรุ่นสู่รุ่น

พี่นุช ช่างทอผ้าแพรมนที่ฉันที่ฉันเลือก

แม่ครูคำสอน สระทอง ครูศิลป์ของแผ่นดิน ที่วันนี้ท่านมาร่วมงานด้วยได้เล่าว่า “เผ่าผู้ไทเดิมมีถิ่นฐานอยู่ที่เมืองนาน้อยอ้อยหนู ต่อมาได้อพยพไปยังเมืองวังอ่างคำ ปัจจุบันเรียก เมืองวีละบุลี อยู่ในแขวงสะหวันนะเขต แขวงคำม่วน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต่อมามีความขัดแย้งกันในเผ่าจึงได้มีการอพยพข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๑ ช่วงก่อนสงครามเจ้าอนุวงศ์”

แม่ครูเกริ่นประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์แบบย่อๆ เพื่อเรียกน้ำย่อย ก่อนจะหยิบผืนผ้าสี่เหลี่ยมเก่าคร่ำคร่าออกมาแล้ววางลงอย่างเบามือ ไม่เพียงแค่ฉันที่ตาโต แต่บรรดาช่างทอต่างรุมล้อมเข้ามามุง ราวกับเห็นของวิเศษก็ไม่ปาน แม่ครูยิ้มหวานแล้วเล่าต่อว่า “ผ้าไหมแพรวามีความละเอียดยิบ ประณีตจนได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งผ้าไหม ดอกลายที่สร้างมีทั้งเกิดจากจินตนาการและแรงบันดาลใจ เมื่อมีหลายลายเข้าก็ยากที่จำได้หมด จึงต้องมีตัวช่วย คือ ผ้าแส่ว ทำหน้าที่รวบรวมลายที่คิดค้นขึ้น”

แม่ครูคำสอน สระทอง สอนทอง ครูศิลป์ของแผ่นดิน ผู้สอนทอผ้าก็ได้ ร้องหมอลำก็ได้
เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจศึกษางานโบราณยังมีอยู่บ้าง

ผ้าแส่วที่เปรียบเสมือนผ้าแม่ครูนั้น ใช้ผ้าฝ้ายสีขาวแทนกระดาษ และนำเส้นด้ายย้อมมะเกลือหรือครามมาเก็บขิดต่างน้ำหมึกในการบันทึก โดยถ่ายทอดกันเพียงในครอบครัวเท่านั้น บางครัวเรือนคิดประดิษฐ์แม่ลายไว้เยอะก็ใช้วิธีเย็บผ้าแส่วติดกันเป็นผืนยาวก็มี

จากผ้าแม่ลายที่ผู้เป็นย่าหรือยายส่งต่อมาสู่ลูกหลาน สะท้อนความผูกพันจากรุ่นสู่รุ่น หากจะกล่าวว่าคุณค่าของผ้าแส่วนั้นเปรียบดังลายแทงขุมทรัพย์จากบรรพบุรุษ ก็เห็นจะไม่ผิดจากนี้เลย

About the Author

Share:
Tags: นิตยสารอนุรักษ์ / อนุรักษ์ / anurakmagazine / ผ้า / ผ้าแส่ว /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ