Thursday, December 5, 2024
ส.พลายน้อย ภูมิปัญญาไทย ชื่นชมอดีต

กระโถน (ส.พลายน้อย)

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 2
เรื่อง : ส. พลายน้อย
ภาพ : อิทธิพล ผลงาม

กระโถน

ในปัจจุบันกระโถนหายไปจากบ้านเรือนไทย ไม่ได้วางเกะกะให้คนเดินสะดุด เหมือนอย่างคนรุ่นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย เคยเตือนลูกหลานว่า ไปบ้านคนอื่นให้ทำตัวให้เรียบร้อยอย่าไปทำซุ่มซ่ามเหยียบกระโถนเขาหก แสดงว่าในสมัยโบราณมีกระโถนใช้ทุกบ้าน น่าจะบันทึกไว้ให้อ่านเล่นก่อนที่จะลืมเลือน

      กระโถนมีความสำคัญอย่างไรหลายท่านคงนึกสงสัย เด็กรุ่นใหม่ดูเหมือนจะไม่มีใครนึกถึงกระโถน เพราะตามบ้านเรือนไม่มีกระโถนใช้ ไม่เหมือนเด็กสมัย 70 ปีมาแล้วที่บางคนมีหน้าที่เทกระโถนกระโถนไม่ใช่สิ่งที่ตำ่ต้อยอะไร เป็นภาชนะใช้สอยที่แสดงถึงความมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งซึ่งจำเป็นต้องมีไว้ประจำบ้านเรือน เกือบจะกล่าวได้ว่าตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยลงมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่มีบ้านเรือนไหนที่ไม่มีกระโถน เพียงแต่จะต่างกันเฉพาะรูปร่างและวัสดุที่ขึ้นอยู่กับฐานะความเป็นอยู่ของบ้านเรือน ยิ่งอยู่ในรั้วในวัง หรือมียศบรรดาศักดิ์มาก กระโถนก็จะต้องมีรูปร่างที่วิจิตรงดงามต่างไปจากชาวบ้านธรรมดาซึ่งเป็นเรื่องปกติของสังคม

      บางท่านอาจสงสัยว่าทำไมทุกบ้านต้องมีกระโถน และคำว่า ‘กระโถน’ มาจากไหน

      กระโถนเป็นภาชนะสำหรับบ้วนน้ำและทิ้งของต่างๆ ที่ไม่ต้องการ นี่กล่าวตามคำจำกัดความในพจนานุกรม แต่ถ้าจะกล่าวให้ชัดเจนขึ้นก็เป็นภาชนะสำหรับบ้วนน้ำลาย บ้วนน้ำหมากเป็นหลักใหญ่ ฉะนั้นกระโถนจึงมีอยู่ใกล้สำรับสำหรับให้คนบ้วนปาก หรือทิ้งเศษอาหารเล็กๆ น้อยๆอย่างในเรื่อง ‘ขุนช้างขุนแผน’ เมื่อตั้งสำรับกับข้าวก็ต้องมีกระโถน เมื่อแต่งงานพระไวย มีตั้งสำรับเลี้ยงพวกขุนนางก็มีกระโถนมาวางข้างๆที่นั่งรับประทานอาหารด้วย ขุนช้างเมาได้ที่ก็ “ฉวยกระโถนปากแตรแร่ออกไป ครอบหัวไว้เด่นเก้กัง” ดังนี้แสดงว่ามีกระโถนวางอยู่ใกล้ๆวงกินข้าวขุนช้างจึงคว้าเอามาครอบหัวได้

About the Author

Share:
Tags: นิตยสารอนุรักษ์ / อนุรักษ์ / anurakmagazine / ส.พลายน้อย / ภูมิปัญญาไทย / สมบัติ พลายน้อย / กระโถน /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ