Saturday, September 14, 2024
ภูมิปัญญาไทย บทความแนะนำ

ซิ่นลับแล เล่าเรื่องแพรพรรณ อัศจรรย์แห่งลวดลาย

เรื่อง: ชาธร โชคภัทระ
ภาพ: ชาธร โชคภัทระ, สุเทพ ช่วยปัญญา

“เมืองลับแล” ชื่อนี้หลายคนอาจเคยได้ยินในตำนานเกี่ยวกับเมืองลึกลับ ที่เข้าไปแล้วหาทางออกมาไม่ได้ หรือเป็นเมืองแม่ม่ายที่ผู้ชายเข้าไปแล้วจะไม่ได้กลับออกมา อะไรทำนองนี้ ในบางบริบท “เมืองลับแล” อาจเป็นเพียงนิทานเล่าขานปากต่อปาก ทว่าในภาคเหนือของไทย “เมืองลับแล” มีอยู่จริง เพราะเป็นอำเภอหนึ่งของอุตรดิตถ์ จังหวัดท่องเที่ยวซึ่งมีต้นสักใหญ่ที่สุดของไทย แถมยังมีทุเรียนลับแลอร่อยล้ำเลื่องชื่อ เสน่ห์เมืองลับแลในแง่ท่องเที่ยวจึงเด่นไม่แพ้ใคร แต่เมื่อเดินทางมาถึงอำเภอลับแลแล้ว หากไม่ได้ชื่นชม “ซิ่นตีนจกลับแล” ก็ถือว่าไปไม่ถึงกันเลยทีเดียว

เมืองลับที่ไม่ลับ ลับแล

เมื่อหลายร้อยปีก่อน ครั้งที่แถบล้านนายังอุดมด้วยธรรมชาติบริสุทธิ์ ถนนหนทางยังลำบากลำบน แถบอำเภอลับแลเป็นป่าดงพงไพรรกทึบยากจะเข้าถึง เส้นทางคดเคี้ยว พลัดหลงได้ง่าย บรรยากาศก็เยือกเย็น ยามพลบค่ำตะวันยังไม่ตกก็มืดครึ้มแล้ว เพราะมีดอยม่อนฤๅษีกั้นแสงอาทิตย์ไว้ ที่นี่จึงได้ชื่อว่า “ป่าลับแลง” โดยคำว่า “แลง” ในภาษาถิ่นแปลว่า “เวลาเย็น” ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนเป็น “ลับแล” จนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันลับแลไม่ลับอีกต่อไป หนทางง่ายต่อการเข้าถึง แม้จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแล้ว แต่ก็ยังสัมผัสได้ถึงบรรยากาศเนิบช้าและวิถีเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนหลงลับแล หลินลับแล แสนอร่อย

มรดกภูมิปัญญาไท-ยวน

ชาวอำเภอลับแลเป็นใครมาจากไหน? พวกเขาคือ ชาติพันธุ์ไท-ยวน (ไต-ยวน) อาศัยอยู่ในแถบลุ่มน้ำโขงตอนกลาง บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำกก ซึ่งก็คือชนดั้งเดิมของแคว้นโยนกเชียงแสน ที่รุ่งเรืองอยู่เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๒๐๐-๑๖๕๐ ต่อมาภายหลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ จนอาณาจักรโยนกนครล่มสลาย จึงค่อยๆ อพยพไปสู่นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เรียกตนเองว่า “คนเมือง” พวกเขามีภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเอง โดยเฉพาะด้านการแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ ในอดีตใครเห็นก็บอกได้ทันทีว่าเป็นไท-ยวน เพราะหญิงจะเกล้ามวยสูง เปลือยท่อนบน หรือมีผ้าสไบเฉียงคลุมอก และนุ่งซิ่นตีนจกลวดลายและสีเฉพาะ ส่วนผู้ชายนิยมสวมเสื้อคอกลมสีขาว ผ่าอก และนุ่งโจงกระเบน (ผ้าม่วง)

การทอ “ผ้าซิ่นตีนจกลับแล” มีที่มาสองข้อสันนิษฐาน บ้างว่าสืบทอดมาตั้งแต่สมัยเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร ปฐมกษัตริย์แห่งเมืองลับแล โดยมเหสีของพระองค์มีความสามารถด้านการเย็บปักถักร้อยและทอผ้าจก ทรงสอนวีธีทอผ้าจกให้หญิงสาวในเมือง บ้างก็ว่าการทอผ้าซิ่นตีนจก เป็นมรดกภูมิปัญญาของชาวไท-ยวนโยนกเชียงแสน ซึ่งมีธรรมเนียมว่าหญิงสาวชาวลับแลต้องทอผ้าให้เป็นทุกคน มิฉะนั้นจะออกเรือน (แต่งงาน) ไม่ได้ อย่างน้อยต้องทอผ้าคนละ ๑ ผืน ใช้ในพิธีแต่งงานของตัวเอง หรือใส่ในงานบุญใหญ่ ผู้ที่จะทอผ้าซิ่นตีนจกได้ต้องมีความอดทนและสมาธิสูง เพราะลวดลายละเอียดซับซ้อนมาก

ผ้าซิ่นตีนจกลับแลที่สตรีสวมใส่ จัดเป็นผ้าไทยโบราณที่สืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน เป็นแพรรพรรณพื้นบ้านที่โดดเด่นด้วยลวดลายทรงเรขาคณิตวิจิตรบรรจง มีลักษณะจำเพาะประกอบด้วย ๓ ส่วน คือ หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น โดยนำผ้าทอ ๔ ชิ้นเย็บติดเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ “หัวซิ่น” (ช่วงเอว) ใช้ผ้าทอสีขาวและแดงเย็บต่อกัน โดยสีแดง หมายถึง ความโชคดี สิริมงคล และสีขาวหมายถึง ความบริสุทธิ์ ก่อเกิดความสุขความเจริญ ต่อมาคือ “ตัวซิ่น” นิยมทอเป็นลายทางห่างๆ เว้นช่องไฟเอาไว้พักสายตา ไม่ให้ผ้าดูลายพร้อยเกินไป และ “ตีนซิ่น” เป็นลายตัวจบผืนผ้า ทออย่างวิจิตรพิสดารที่สุด โชว์ฝีมือกันเต็มที่ ในส่วนตัวซิ่นเป็นผ้าปั่นไก ใช้ไหม ๒ เส้น คือสีดำและสีเขียวตีเกลียวปั่นรวมกัน (ควบเส้น) ใช้เป็นไหมเส้นยืน พุ่งด้วยไหมสีดำ ทอออกมาเป็นผ้าลายหางกระรอก ที่เล่นแสงเหลือบสะท้อนได้งดงามจับตาจับใจ

คำว่า “จก” ในผ้าซิ่นตีนจกลับแล เรียกตามเทคนิคการทอที่ต้องใช้ขนเม่น เหล็กแหลม หรือนิ้วมือ จก ยก ล้วง ควัก ด้ายเส้นยืนขึ้นมา แล้วสอดด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปสลับเป็นช่วงๆ ให้เกิดลายตามจินตนาการของช่างทอ ลวดลายที่เกิดขึ้นแบ่งออกเป็น ๒  ประเภท คือ ลายหลักและลายประกอบ “ลายหลัก” คือลายขนาดใหญ่โดดเด่นตรงกลาง ใช้เรียกชื่อผ้าตามลายนี้ และ “ลายประกอบ” คือลายเล็กๆ ด้านข้างลายหลัก ใช้เสริมเติมแต่งช่วยให้ผืนผ้าสมบูรณ์งดงามยิ่งขึ้น

ลวดลายนี้มีเรื่องเล่า

ผ้าซิ่นตีนจกลับแลผ่านกาลเวลามาหลายชั่วอายุคน รังสรรค์ขึ้นจากความใส่ใจ โดยเฉพาะ “ลวดลาย” ที่ช่างทอเรียนรู้สิ่งรอบตัว ดัดแปลงจนกลายเป็นลายเรขาคณิตเชิงศิลป์อันสลับซับซ้อนบนแพรพรรณ ทว่าซิ่นตีนจกสำหรับชาวลับแลมิได้เป็นเพียง “ผืนผ้า” เพื่อสวมใส่เท่านั้น ยังเป็น “มรดกศิลป์” ที่สะท้อนชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี และพิธีกรรม ในหลากมิติ

ลายตีนซิ่นที่ว่ามีหลายสิบลาย คือลายหลักอย่างน้อย ๑๓ ลาย และลายประกอบอีกกว่า ๒๐ ลาย ไม่ว่าจะเป็น “ลายนกกินน้ำร่วมต้น” หมายถึง ความสนิทสนมกลมเกลียว ทำกิจกรรมร่วมกันได้ราบรื่น “ลายขอก้ามปู” หมายถึง ปูที่ชูก้ามพร้อมต่อสู้อุปสรรคขวากหนามทุกเมื่อ “ลายนกคุ้ม” มาจากนกคุ้มที่เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อยู่ในป่า เชื่อว่ากันไฟและป้องกันอันตรายได้ เป็นสิริมงคลแก่ผู้สวมใส “ลายดอกมะโอ” คือส้มโอ ผลไม้ที่มีมากในลับแล “ลายดอกแตง” เป็นตัวแทนของฟักแฟงแตงร้าน ที่ใช้ประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน “ลายนาค” สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขและอุดมสมบูรณ์ “ลายดอกดาวดึงส์” เป็นสมุนไพรใช้ทำยา เรียกว่าต้นดาวดึงส์ แทนความสุขกายสบายใจ ไร้โรคภัยไข้เจ็บ “ลายขอผักกูด” เป็นผักใบหยิกงอ ดูคล้ายตะขอ แทนความอุดมของพืชผักต่างๆ “ลายขออุ้ม” แทนความเอื้ออารี โอบอุ้มคุ้มครองซึ่งกันและกัน “ลายดอกมะจ้ำ” เป็นไม้พุ่ม ดอกเล็ก กลีบสีม่วง เกสรสีขาว ใบใช้เป็นผักจิ้มหลนได้ และ “ลายไฮย้อย” (ไทรย้อย) คือลายกรวยเชิงเป็นเส้นๆ รูปทรงคล้ายรากไทรห้อยระโยงระยาง ฯลฯ ผ้าซิ่นลับแลแท้ๆ ตรงขอบข้างต้องมีลาย “หมายซิ่น” เอาไว้กันคุณไสยเข้าตัวด้วย

พูดกันง่ายๆ ก็คือ ลวดลายซิ่นตีนจกลับแล ล้วนดัดแปลงมาจากสิ่งรอบกาย จึงสามารถแบ่งได้เป็น ๔ หมวดหลัก คือ ๑.กลุ่มลายเลียนแบบธรรมชาติ ดอกไม้ ใบไม้ เถาไม้ ต้นไม้ ๒.กลุ่มลายรูปสัตว์ เช่น นาค มดแดง ไก่ นก ปู งู สุนัข ฯลฯ ๓.กลุ่มลายที่เกิดจากการสังเกตส่วนต่างๆ ของอุปกรณ์เครื่องใช้ เช่น เชิงเทียน งวงถังตักน้ำ (คุ) ฯลฯ และ ๔.กลุ่มลายไทย ที่มักพบเห็นตามงานสถาปัตยกรรม หรือมีอยู่แล้วบนผืนผ้าของบรรพบุรุษ

จุดบรรจบ อดีต ปัจจุบัน อนาคต

แม้ว่าทุกวันนี้คลื่นกระแสโลกาภิวัฒน์จะทำให้ผ้าไทยโบราณเป็นที่นิยมน้อยลงก็ตาม แต่ในบรรดากลุ่มคนที่ชื่นชอบผ้าไทยพื้นถิ่นหายากและทรงคุณค่า ชื่อของ “ผ้าซิ่นตีนจกลับแล” ก็ยังคงยิ่งใหญ่เสมอ ปี พ.ศ. ๒๕๔๕​ เกิดการรวมตัวกันจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวน ลับแล” โดยมีครูจงจรูญ มะโนคำ (ครูโจ) เป็นหัวหอกสำคัญ ท่านเป็นทายาทช่างทอผ้าซิ่นตีนจกบ้านน้ำใสใต้ ตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ แม้ว่าจะมีจารีตท้องถิ่นห้ามมิให้ผู้ชายทอผ้า แต่ท่านก็มุ่งมั่นศึกษาฝึกฝนจนเชี่ยวชาญด้วยความรักในศาสตร์แขนงนี้ รวมกลุ่มชาวบ้านสร้างพิพิธภัณฑ์จัดแสดงผ้าซิ่นตีนจกลับแลโบราณอายุนับร้อยปี ผสานวิสัยทัศน์ใหม่ๆ พัฒนาสีสันลวดลายมิให้ตกยุค ทั้งการใช้สีธรรมชาติแท้ การนำลายผ้าน้ำไหลเมืองน่านเข้ามาผสมผสาน หรือทอโดยสอดดิ้นเงินดิ้นทองคำแท้ น้ำหนักว่าสิบบาท ราคานับล้าน นอกจากนี้ครูจงจรูญยังได้นำผ้าซิ่นตีนจกลับแล ขึ้นทูลเกล้าถวายพระบรมวงศานุวงศ์อยู่เนืองๆ อีกทั้งยังเปิดเรือนเป็นโรงเรียนสอนฟรีให้นักเรียนและคนในท้องถิ่นที่สนใจด้วย ผ้าซิ่นตีนจกลับแลจึงแพร่หลายออกสู่สายตาชาวโลก จนได้รางวัลโอทอป ๕ ดาว และรางวัลอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน

การเดินทางของผ้าซิ่นตีนจกลับแลยังไม่จบสิ้น ตราบที่ช่างทอยังมีลมหายใจ ยังมีผู้นำในการอนุรักษ์และยังมีคนเห็นคุณค่า ซื้อหาไปเก็บสะสมหรือใช้งานในชีวิตประจำวัน ทุกลวดลาย ทุกผืนผ้า ทุกเส้นด้ายที่ถักทอลงไป ล้วนคือความตั้งใจนับร้อยนับพันชั่วโมงของช่างทอ ที่ถ่ายทอดทักษะและเรื่องราวชีวิตคนลับแลให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อให้ “ซิ่นตีนจกลับแล” อยู่เป็นตำนานคู่เมืองไทยของเราไปอีกนานแสนนาน

About the Author

Share:
Tags: ผ้าทอ / ผ้าไทย / ฉบับที่ 70 / เมืองลับแล /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ