นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 35
เรื่อง/ภาพ: ธนิสร หลักชัย
เรียนรู้วิถีไหม สัมผัสวิถีชุมชนที่
บ้านหนองบัวน้อย
ใต้ถุนเรือนไม้แบบชนบทอีสานหลังใหญ่ สถานที่นัดพบของคุณยายคุณป้าซึ่งล้วนชำชองเชี่ยวชาญงานหัตถกรรมทอผ้าไหม มรดกภูมิปัญญาซึ่งส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น บางคนกำลังตรวจเช็กใบหม่อน เติมอาหารให้หนอนไหมวัยเจริญพันธุ์ที่จวนถึงเวลาสร้างใยไหมสีทองวัตถุดิบในการทอผ้าผืนงาม บ้างก็นั่งมัดหมี่ตามต้นแบบซึ่งแกะลวดลายไว้ ภาพผู้หญิงนั่งมัดหมี่ย้อมสี ประจำกี่ทอผ้า จึงเป็นภาพชินตาของผู้คนต่างถิ่นหากมาเยือนหมู่บ้านหนองบัวน้อย ชุมชนทอผ้าฝีมือดีแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น
หมู่บ้านวิถีไหม
เรียนรู้ลงมือทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำบรรพบุรุษของชาวหนองบัวน้อยเป็นนายพรานจาก อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคามเดินทางข้ามถิ่นเข้ามาล่าสัตว์แล้วไปพบหนองน้ำที่เต็มไปด้วยดอกบัว จึงตกลงปลงใจตั้งชุมชนขึ้นเรียกว่าบ้านหนองบัว ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๓๐ ภายหลังทางการได้แยกย่อยออกมาเป็นบ้านหนองบัวน้อย ในท้องที่ ต.โสกนกเต็น อ.พล จ.ขอนแก่น ชุมชนเกษตรกรรมที่จัดเจนเรื่องการผูกลายมัดหมี่ ย้อมแล้วทอเป็นผ้าไหมด้วยลวดลายเป็นเอกลักษณ์อย่าง “ลายฮีตสิบสอง” ซึ่งถ่ายทอดประเพณีในแต่ละเดือนลงบนผืนผ้าอย่างลายข้าวหลามตัดในเดือนอ้ายซึ่งมีงานบุญเข้ากรรม ชาวบ้านมักจะเผาข้าวหลามจากข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวใหม่ นำไปถวายพระสงฆ์ที่เข้าปริวาสกรรม ลายขันหมากเบ็งน้อย (พานบายศรี) สื่อถึงประเพณีบุญคูณลาน
หลังฤดูเก็บเกี่ยวเดือนกุมภาพันธ์ทำบุญข้าวในลานนวดเพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนขนเข้า ยุ้งฉาง รวมทั้งทำพิธีบายศรีสู่ขวัญแม่โพสพ ขอให้ได้ผลผลิตมากๆ ในฤดูเพาะปลูกหน้า ฯลฯ
“แต่เก่าแต่เดิมพ่อใหญ่แม่ใหญ่เพิ่นพาเฮ็ดไห้เฮ็ดนา ว่างเว้นจากการเฮ็ดนา ชาวบ้านเฮาก็มาปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เมื่อได้ฝักดอกก็มาสาวเป็นเส้นไหม เมื่อได้เส้นไหมแล้วก็มาประดิดประดอยเป็นผ้า ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของเฮาคือลายฮีตสิบสอง”