บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดทำโครงการ Creative Young Designer Season 4 ดำเนินการร่วมกับ โครงการชุมชนดีมีรอยยิ้ม และสถาบันการศึกษา คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ล่าสุดลงพื้นที่พัฒนาเครื่องปั้นดินเผา เซรามิค ณ ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี ชุมชนบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี
“บ้านเชียง” ชุมชนไทพวน นับว่าเป็นแหล่งมรดกโลก ตั้งอยู่บนเนินดินสูง รูปยาวรี ตามแนวตะวันออก-ตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ กลางเนินสูงกว่าพื้นที่รอบ ๆ ราว 8 เมตร อยู่ในตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 50 กว่ากิโลเมตร ทั้งนี้ บ้านเชียงเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุราว 5,600 – 1,800 ปี เกิดจากการขุดค้นพบเครื่องปั้นดินเผาที่มีรูปแบบและลวดลายงดงามอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ภาชนะดินเผาที่พบนี้มีรูปทรงของการปั้นหลายแบบและมีการเขียนลายเป็นเส้นโค้ง ลายเชือกทาบ ลายก้านขด ลายก้นหอย ลายรูปเรขาคณิต นอกจากนี้แล้วยังมีการค้นพบเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับที่ทำจากโลหะสำริดและเหล็ก บ้านเชียงได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางประวัติศาสตร์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2535 โดยองค์กรศึกษาวิทยาศตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ศิลปะเครื่องปั้นดินเผาที่พบในบ้านเชียงนั้น นักโบราณคดีได้สันนิษฐานและสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ยุคคือ
1. ภาชนะดินเผาสมัยต้น อายุ 5,600-3,000 ปี เป็นภาชนะดินเผาสีดำ ตกแต่งด้วยลายขูดขีด และลายเชือกทาบ รูปทรางมักเป็นหม้อก้นกลม ปากผายกว้างเชิงสูง มีทั้งชนิดปลายสอบเข้าและผายออก
2. ภาชนะดินเผาสมัยกลาง อายุ 3,000-2,300 ปี ภาชนะส่วนใหญ่มีเนื้อดินสีขาวนวล ไหล่ลู่ ลำตัวกลมและหักเป็นสัน ก้นภาชนะมีกลมและแหลม มักไม่มีการตกแต่งลวดลายแต่บางชิ้นมีการตกแต่งด้วยลายขูดขีด และเขียนลวดลายสีแดงที่บริเวณไหล่ของภาชนะ
3. ภาชนะดินเผาสมัยปลาย อายุ 2,300-1,800 ปี เป็นยุคที่มีการสร้างลวดลายที่สวยงามที่สุด รูปทรงของภาชนะมีทั้งชนิดก้นกลมและชนิด มีเชิงสูง ปลายผาย และขอบปากมีสัน มีการตกแต่งด้วยการเขียนลวดลายสีแดง สีที่ใช้เขียนเรียกว่า “สีดินเทศ” ลวดลายที่เขียนส่วนใหญ่เป็น ลายเรขาคณิต ลายสีเหลี่ยม ลายวงกลม ลายก้านขด ลายก้นหอย สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมที่สงบสุข ก่อนที่จะกลายมาเป็นการเคลือบน้ำโคลนสีแดงขัดมัน
ชุมชนชาวบ้านเชียงนั้นสืบเชื้อสายลาวพวนที่อพยพ มากจากแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว มาตั้งถิ่นฐาน เมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว ปัจจุบันเรียกว่าไทพวน ชาวบ้านเชียงภาคภูมิใจกับการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีไทพวนมาสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน เช่น การใช้ภาษาพูดไทพวน รำฟ้อนไทยพวน อาหารพื้นถิ่นไทพวน การแต่งกายด้วยชุดผ้าฝ้ายย้อมครามที่ต่อมาได้มีการพัฒนาลวดลาย โดยใช้ลายจากภาชนะบ้านเชียง นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้ร่วมกันจัดกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี กลุ่มฟ้อนรำ กลุ่มอาหารแปรรูป กลุ่มทอผ้าย้อมคราม กลุ่มจักสาน กลุ่มมัคคุเทศก์ กลุ่มทำเกษตรผสมผสาน กลุ่มโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม โดยได้นำองค์ความรู้จากต้นทุนทางวัฒนธรรมของแหล่งมรดกโลกมาพัฒนาบุคลากรและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มต่อไป
นายชาตรี ตะโจประรัง หรือพ่อชาตรี ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปั้นหม้อเขียนสี ได้กล่าวถึงความเป็นมาของศูนย์เรียนรู้กลุ่มปั้นหม้อเขียนสีนั้น เริ่มจากบ้านเชียงเป็นบ้านมรดกโลก มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากมาย หลังจากที่เลิกจากทำนาก็มารวมกลุ่มกันทำเครื่องปั้นดินเผา เพื่อจำหน่ายให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นของฝากของที่ระลึก โดยนำดินมาจากแหล่งดินดำที่ห้วยดินดำ บ้านดงเย็น หมู่ที่ 4 ซึ่งห่างออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร มาทำผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับ สร้อย กำไล และโคมไฟ เป็นต้น ทางศูนย์ฯ มีความต้องการที่จะให้คณะนักศึกษาและอาจารย์ คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นำความรู้มาต่อยอดให้กับชุมชน การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาคุณภาพวัสดุให้ดีขึ้น เช่น ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาใส่น้ำแล้วไม่รั่วไม่ซึม แตกง่าย หรือออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้เป็นที่โดดเด่น เป็นที่ต้องการของตลาด แต่ต้องคงความเป็นเอกลักษณ์ที่มีลักษณะรูปทรง สีสัน ลวดลาย ที่เป็นลักษณะเฉพาะถิ่นของบ้านเชียง และมีอัตลักษณ์คือเส้นโค้ง สีแดง ไม่ว่าจะอยู่ในไห ในผ้าทอ หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ
นายชุมพร สุทธิบุญ หรือพ่อชุมพร ประธานท่องเที่ยวโดยชุมชน และประธานวิสาหกิจโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม ได้กล่าวเสริมว่า อยากให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของบ้านเชียงออกมาได้หลากหลายรูปแบบและรูปทรง แต่ยังคงลวดลายความเป็นรากเหง้าและตัวตนของบ้านเชียง ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมามีมาตรฐาน สามารถส่งไปจำหน่ายยังที่ต่างๆ ได้ จัดทำการตลาดออนไลน์และอยากให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเชียงเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป เช่น กลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มอาหารพื้นถิ่น กลุ่มจักสาน กลุ่มของฝากของที่ระลึก กลุ่มฟ้อนรำ กลุ่มกลองยาว กลุ่มทอผ้า ทั้งนี้เพื่อให้มีรายได้เข้าสู่ชุมชน เป็นเศรษฐกิจฐานรากอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ด้านสถาบันการศึกษา ดร.สมใจ มะหมีน หัวหน้าสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเซรามิก ภาควิชาเทคโนโลยีศึกษาอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือกล่าวว่า เป้าหมายในการลงพื้นที่ คือเพื่อให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้จริง ในเรื่องของศิลปะวัฒนธรรมที่เป็นมรดกโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปทรง ลวดลาย เป็นเอกลักษณ์ของชาติที่มีเพียงแห่งเดียวในโลก อีกทั้งได้ซึมซับวิถีชีวิตชุมชนว่ามีวีถีชีวิตอย่างไรตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เข้าใจถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติว่ามีคุณค่ามากแค่ไหน ได้เข้าพบและได้ยินปัญหาจากปราชญ์ชาวบ้าน ก่อให้เกิดความอยากช่วยแก้ปัญหาชุมชนด้วยตัวของนักศึกษาเอง โดยนักศึกษาจะนำองค์ความรู้ที่มีอยู่เข้าไปร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางด้านวัสดุ เครื่องมือที่ทันสมัยทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมรวมผสานเข้าไปกับภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อเข้าไปช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มปั้นหม้อเขียนสี ทั้งเรื่องของการรั่วซึมของผลิตภัณฑ์ หรือกรรมวิธีการเผาที่ให้เครื่องปั้นดินเผานั้นได้มาตรฐาน นอกจากนี้แล้วยังช่วยพัฒนาในเรื่องรูปแบบของผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดไปยังกลุ่มอื่นๆ อาทิกลุ่มผ้าทอ กลุ่มอาหารและกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษณ์เป็นต้น โดยกำหนดกลุ่มผู้ซื้อให้ชัดว่าเป็นกลุ่มไหนมีลักษณะอย่างไร แล้วจึงจะไปพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผู้ซื้อกลุ่มนั้น ทั้งนี้อาจารย์ยังได้ฝากอีกว่า เอกลักษณ์ของชาติควรมีการอนุรักษ์ไว้ ในขณะเดียวกันส่วนที่เป็นอัตลักษณ์ควรมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เพื่อเป็นการพัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่ดียิ่งขึ้นไป…….
ดร.สมใจกล่าว
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินกิจกรรม โครงการ Creative Young Designer Season 4 มีความตั้งใจที่จะสร้างประโยชน์ทุกๆ ด้านเพื่อตอบแทนสังคม ในรูปแบบต่างๆ เพราะเชื่อมั่นว่า “การสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาชุมชนและสังคม สร้างความยั่งยืนสู่เศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนง