อีกก้าวจากความตั้งใจของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่มุ่งมั่นสร้างประโยชน์ทุกๆ ด้านเพื่อตอบแทนสังคม ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งการสนับสนุน “ผ้าไทย” เป็นหนึ่งในโครงการ Creative Young Designers Season 4 ซึ่งไทยเบฟได้ร่วมกับ โครงการชุมชนดีมีรอยยิ้ม และคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ เอกสิ่งทอ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เมื่อเร็วๆ นี้ไทยเบฟและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลงพื้นที่รับโจทย์ชุมชน เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าครามบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี
ไทยเบฟจับมือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขับเคลื่อนเอกลักษณ์ไทย ผศ.สรรพจน์ มาพบสุข รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เป้าหมายในการลงพื้นที่คือให้ได้ใช้ความรู้ในด้านการออกแบบแฟชั่นและออกแบบสิ่งทอมาพัฒนาชุมชน โดยนำกระบวนการเรียนในห้องเรียนมาทำงานร่วมกับชุมชน เริ่มจากการเก็บข้อมูลในเบื้องต้นได้เห็นความเป็นอยู่ของชาวบ้าน วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น
หากชาวบ้านนั้นเป็นผู้ประกอบการอยู่แล้ว ต้องสอบถามว่าเขาผลิตอะไร ขายให้กับใคร และใครเป็นลูกค้า และเมื่อได้ข้อมูลมาแล้วต้องนำมาวิเคราะห์ว่าเราจะพัฒนาอะไรให้กับชุมชนได้จากที่ได้เก็บข้อมูลในเบื้องต้นนั้น ชุมชนบ้านเชียงเป็นผู้ผลิตที่อยู่ในระดับที่ดีแล้ว เพียงแต่ต้องการความคิดไอเดียของนักศึกษาของกลุ่มคนรุ่นใหม่ไปต่อยอดและพัฒนาสินค้าให้มีความทันสมัยและมีดีไซน์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เมื่อนักศึกษาเก็บโจทย์ต่างๆ ที่ชุมชนต้องการแล้ว นักศึกษาต้องนำโจทย์นั้นกลับไปตีความและร่างแบบ สรุปคอนเซ็ปต์ส่งให้ทางคณะฯ พิจารณา จากนั้นทางคณะฯ ก็จะประมวลผลและส่งผ่านกลับให้ทางชุมชนว่าตรงกับโจทย์ไหม หากมีการคัดเลือกเรียบร้อยมีการออกแบบดีไซน์ตรงกับที่ชุมชนต้องการก็ทำการตัดเย็บและส่งรูปแบบนั้นกลับให้ทางชุมชนดำเนินการเป็นลำดับถัดไป
นอกจากนี้แล้วทางมหาวิทยาลัยต้องการให้ความรู้เพิ่มเติมจากฝั่งอาจารย์และนักวิจัย โดยการสอนทำแพทเทริ์นรูปแบบพิเศษให้กับช่างเย็บช่างทำแพทเทริ์นของชุมชนบ้านเชียง และกระบวนการด้านสิ่งทอที่ทำให้เกิดอัตลักษณ์ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากลายผ้าบ้านเชียงที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากที่อื่นแล้ว ยังให้ความรู้เพิ่มในรูปแบบเฉพาะทั้งเรื่องการย้อม พัฒนาเทคนิคการย้อม สีย้อม เทคนิคการทอ ลายทอ เป็นเทคนิคเฉพาะทางด้านสิ่งทอ เพื่อพัฒนาในเรื่องของการออกแบบตัดเย็บให้กับบุคคลเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มเด็ก กลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นต้น อันเป็นการครบกระบวนการเรียนรู้เรื่องสิ่งทอและแฟชั่นทางคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องขอขอบคุณ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินกิจกรรม โครงการชุมชนดีมีรอยยิ้ม และโครงการ Creative Young Designer Season 4 ซึ่งทำให้วิชาเรียนมีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นเพราะมีความเชื่อมโยงที่เป็นประโยชน์ให้กับนักศึกษา ได้มีการเรียนรู้ร่วมไปกับชุมชน ได้เห็นความจริงได้โจทย์จริงจากชุมชน การทำงานร่วมกับชุมชนและสร้างผลิตภัณฑ์สร้างประโยชน์กับชุมชนโดยแท้จริง
ผ้าไทยบ้านเชียงกับแหล่งมรดกโลก เมื่อเอ่ยถึง “แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง” อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ย้อนหลังไปหลายพันปี จากหลักฐานที่ค้นพบนี้แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนสำคัญของวิวัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม การดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในยุคกว่า 5,000 ปีที่แล้ว ซึ่งความสำคัญนี้เองจึงทำให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการประกาศขึ้น
ทะเบียนเป็นมรดกโลก จากองค์การยูเนสโก UNESCO เมื่อปี พ.ศ. 2535 ชุมชนบ้านเชียง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พวนที่อาศัยอยู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมืองเชียงขวาง และต่อมาได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาที่บ้านเชียงในปัจจุบัน วิถีชีวิตของชาวบ้านเชียง ผูกพันกับอารยธรรมเก่าแก่โบราณมีการสืบสาน รักษา และต่อยอด ถ่ายทอดภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี และอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ไทพวนบ้านเชียง ไม่ว่าจะเป็น ภาษาไทพวน อาหาร ศิลปะการแสดง และเครื่องแต่งกาย
เครื่องแต่งกายในสมัยโบราณแต่งกายด้วยชุดผ้าฝ้ายที่ทอและย้อมเองใช้สีกรมท่าหรือดำ เครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวัน ผู้ชายใส่เสื้อผ้าฝ้ายแขนสามส่วนย้อมครามคอกลม ผ่าหน้า ผูกเชือกนุ่งกางเกงครึ่งแข้ง ส่วนผู้หญิงใส่เสื้อแขนยาวผ้าฝ้ายและใส่ผ้าถุงเป็นผ้าฝ้ายย้อมครามเช่นเดียวกัน ปัจจุบันการแต่งกายได้นำเอาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาสานต่อให้เกิดเป็นชิ้นงานที่มีคุณค่ามีเอกลักษณ์ สร้างสรรค์ลวดลายที่มาจากเครื่องปั้นดินเผา และลวดลายโบราณ โดยลวดลายผ้าไทพวนมีลวดลายคล้ายลายนิ้วมือ ก้นหอย หรือรูปทรงไห ซึ่งความแตกต่างจากผ้าพื้นเมืองในแถบอื่น นอกจากนี้ยังมีการคิดค้นวิธีการย้อมคราม และการมัดลายด้วยตนเอง นับว่าเป็นการยกระดับผ้าย้อมคราม-ผ้ามัดหมี่ สร้างคุณค่าเพิ่ม
นายเมธารัตน์ คำพิมาน หรือน้องแบงค์ เจ้าของร้าน “พวนคอลเลคชั่น” ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับด้านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทยโดยเฉพาะ โดยเริ่มจากความที่ชื่นชอบในศิลปวัฒนธรรมและงานหัตถกรรม จึงทำเป็นแบรนด์สินค้าของตัวเอง มีการเข้าร่วมอบรมกับหน่วยงานกรมการพัฒนาชุมชน ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ ศูนย์ส่งเสริมพาณิชย์ เยาวชนโอท็อป ต่อจากนั้นจึงได้เข้าร่วมการประกวดเรื่องการออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นดีไซน์ต่างๆ ทำให้ พวนคอลเลคชั่น เป็นร้านที่ใช้ผ้าทอย้อมครามหรือผ้ามัดหมี่บ้านเชียงที่มีความเป็นเอกลักษณ์โบราณเฉพาะถิ่น ลายเครื่องปั้นดินเผา ลายก้นหอย ของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองเทศบาลบ้านเชียงของพ่อสมบัติ มัญญะหงส์ มาตัดเย็บ ผสมร่วมกับกลุ่มผ้าทอย้อมครามและผ้ามัดหมี่ ของที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทอผ้าบ้านหนองวัวซอ กลุ่มทอผ้าบ้านพิบูลย์รักษ์ เป็นต้น ที่ผ่านมา พวนคอลเลคชั่น ได้ดำเนินธุรกิจการตลาดโดยขายสินค้าที่หน้าร้าน และออกงานอีเว้นท์ เป็นหลัก แต่ต่อมาด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวที่บ้านเชียงและงานอีเว้นท์ก็ไม่มีการจัดงาน ดังนั้นจึงทำให้รูปแบบการซื้อขายเปลี่ยนไป โดยเน้นไปทำการตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันรายได้ที่มาจากการตลาดออนไลน์มากกว่า 85% และท้ายนี้อยากจะเชิญชวนให้คนไทยสวมใส่ผ้าไทย ผ้าไทยสวมใส่สบายสามารถใส่ในชีวิตประจำวันได้ ให้เห็นคุณค่าของผ้าไทยร่วมกันอนุลักษณ์ไว้ และภูมิใจในความเป็นไทย
นายชุมพร สุทธิบุญ หรือพ่อชุมพร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนประกายไหมไทย ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนี้ได้ก่อตั้งขึ้นมาแล้วเป็นเวลา 35 ปี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและสร้างงานให้แก่ชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาของคนพื้นถิ่นเป็นผู้ทอผ้าโดยตรง ซึ่งมีทั้งผ้าย้อมครามและผ้ามัดหมี่ โดยมีการลองผิดลองถูกและพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งได้คัดสรรจากกรมพัฒนาชุมชชนได้รับโอทอประดับ 5 ดาว โดยมีองค์กรจากภาครัฐเข้ามาสนับสนุน นอกจากนี้อยากฝากให้ คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ เอกสิ่งทอ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้ามาช่วยพัฒนาสินค้าเข้าสู่สากล ใส่แฟชั่นดีไซน์ ให้เป็นที่น่าสนใจกลุ่มคนทั่วไปสามารถสวมใส่ได้ทุกวัน และให้คนรุ่นใหม่มีความสนใจสินค้าพื้นเมือง ผ้าฝ้ายทอมือ ผ้าไหมทอมือ เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นอันเป็นเอกลัษณ์ของชุมชนบ้านเชียง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน
นายสมบัติ มัญญะหงส์ หรือพ่อสมบัติ ประธานกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองเทศบาลบ้านเชียง หรือ ส.หงษ์แดง เป็นวิสาหกิจชุมชนบ้านเชียงที่มีความชำนาญด้านการทอผ้าและย้อมสีธรรมชาติมาตั้งแต่ ปี 2514 ซึ่งเป็นยุคสมัยคุณตายาย โดยยุคของพ่อสมบัติเป็นยุคที่ 3 ซึ่งมีการปรับปรุงและพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งเครื่องการทอและสีสรรลวดลายก็มีการพัฒนาขึ้นมาต่อเนื่อง เพราะบ้านเชียงของเราเป็นแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก ดังนั้นจึงได้ถอดลวดลายจากภาชนะบ้านเชียงให้มาอยู่บนพื้นผ้า เมื่อคนทั่วไปมาเห็นก็จะรู้ได้เลยว่าเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ปัญหาที่พบเจอคือเรื่องของการออกแบบลวดลายผ้านั้นมีเอกลักษณ์ของความเป็นบ้านเชียง แต่รูปแบบของแฟชั่นดีไซน์ยังไม่ทันสมัยเข้ากับคนรุ่นใหม่ อยากจะให้ทางคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้ามาช่วยพัฒนา อยากให้ชุมชนมีความพร้อม มีความเข้มแข็ง
นอกจากนี้แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชุมชนคือปัจจุบันมีผู้สูงวัยแยะ คนที่ทอผ้าและเย็บผ้ามีน้อย สุขภาพไม่ดี มองไม่ค่อยชัด ไม่มีผู้สืบทอดในเรื่องของวัฒนธรรมการทอผ้าไปสู่ลูกหลาน อยากให้ทางมหาวิทยาลัยจัดทำเป็นหลักสูตรมาตรฐาน หลักสูตรท้องถิ่น ให้เด็กมีจิตวิญญาณของบ้านเชียง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้เกิดความยั่งยืนแก่ชุมชน ท้ายนี้อยากให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่ชุมชนบ้านเชียง เที่ยวแหล่งมรดกโลกและเรียนรู้วัฒนธรรมของชุมชนบ้านเชียง ทั้งในเรื่องของการทอผ้าย้อมคราม ทอผ้ามัดหมี่ บ้านเชียง เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง และชิมรสอาหารของชาวไทพวนบ้านเชียง กิจกรรมดังกล่าวเป็นความตั้งใจของไทยเบฟในการตอบแทนสังคม เพราะเชื่อมั่นว่า “การสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาชุมชนและสังคม สร้างความยั่งยืนสู่เศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน