กำหนดจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินโครงการชุมชนการเคหะยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ ระหว่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติกับการเคหะแห่งชาติ โดยมี พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ลงนามร่วมกัน พร้อมด้วย พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ รองจเรตำรวจแห่งชาติ (ช่วยเหลืองานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม) นายเทพฤทธิ์ ฤทธิณรงค์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมศรียานนท์ โซน C ชั้น ๒ อาคาร ๑ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๕
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการพัฒนาและจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ควบคู่ไปกับการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน เป็นไปตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งการเคหะแห่งชาติมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติดในชุมชนให้หมดไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและภาคีเครือข่าย โดยหนึ่งในต้นตอของปัญหาอาชญากรรมคือ ปัญหายาเสพติด
ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและภาคีเครือข่าย เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างการเคหะแห่งชาติและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินโครงการดำเนินงานชุมชนการเคหะยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ ในการป้องกัน แก้ไข และบำบัดยาเสพติด โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อให้เกิดการสร้างรูปแบบการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน/หมู่บ้านอย่างยั่งยืน
สำหรับความร่วมมือระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติและการเคหะแห่งชาติ เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติที่เข้มแข็ง โดยมีการคัดเลือกชุมชนการเคหะแห่งชาติเข้าร่วมการดำเนินโครงการดำเนินงานชุมชนการเคหะยั่งยืนฯ ทั่วประเทศ จำนวน ๒๐ ชุมชน ๑๘ จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม จันทบุรี ชลบุรี สระบุรี ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก ลำปาง น่าน สุราษฎร์ธานี และสงขลา ใช้การมีส่วนร่วมของชุมชน เฝ้าระวังและสำรวจ (Re X-Ray) ค้นหาผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม นำไปบำบัดรักษาฯ
ตามกระบวนการของหน่วยงานด้านสาธารณสุข และดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาของแต่ละบุคคล เช่น การบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment: CBTx) ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๖๔ เพื่อให้โอกาสผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้ได้รับการยอมรับจากชุมชน สามารถดำเนินชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุขและไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหา ยาเสพติดซ้ำอีก