บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้เข้าเป็นผู้ดำเนินการในโครงการจี ๑/๖๑ และโครงการจี ๒/๖๑ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกของการเริ่มสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) ขณะที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการในแหล่งบงกช หรือโครงการจี ๒/๖๑ อยู่แล้ว โดยในส่วนของการเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินการโครงการจี ๑/๖๑ นั้น เป็นไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย และสามารถดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง
โครงการจี ๑/๖๑ และโครงการจี ๒/๖๑ มีแหล่งปิโตรเลียมหลักคือ แหล่งเอราวัณ ปลาทอง สตูล และฟูนาน ส่วนโครงการจี ๒/๖๑ คือแหล่งบงกช ทั้ง ๒ โครงการเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ทางพลังงานของประเทศ ซึ่งตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตแล้ว โครงการจี ๑/๖๑ จะมีศักยภาพการผลิตก๊าซธรรมชาติที่อัตรา ๘๐๐ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนโครงการจี ๒/๖๑ จะมีศักยภาพการผลิตที่ ๗๐๐ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมทั้ง ๒ โครงการเป็น ๑,๕๐๐ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็น ๖๐% ของการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศ
สำหรับอัตราการผลิตในโครงการจี ๑/๖๑ ที่ ปตท.สผ. รับช่วงต่อจากผู้รับสัมปทานเดิมผลิตไว้ในวันสิ้นสุดสัมปทานอยู่ที่ ๓๗๖ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาแหล่งก๊าซนี้ไม่มีการพัฒนาและเจาะหลุมผลิตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้อัตราการผลิตจะลดลงเป็นลำดับต่อไปได้อีก ประกอบกับการที่ ปตท.สผ. ไม่ได้รับความยินยอมให้เข้าพื้นที่โครงการจี ๑/๖๑ เพื่อเตรียมการพัฒนาและเจาะหลุมผลิตล่วงหน้าได้ตามแผนงาน แม้ภายหลังจะสามารถเข้าพื้นที่ได้ แต่ถือว่าล่าช้ากว่าแผนงานประมาณ ๒ ปี
ทั้งนี้ ปตท.สผ. จะเร่งดำเนินงานเพื่อเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติของโครงการจี ๑/๖๑ โดยจะติดตั้งแท่นหลุมผลิตจำนวน ๘ แท่น วางท่อใต้ทะเลสำหรับส่งก๊าซธรรมชาติ เจาะหลุมผลิตอีกประมาณ ๑๘๓ หลุม และจัดหาแท่นเจาะเพิ่มอีก ๒ แท่น เพื่อเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมจากแผนเดิมอีก ๕๒ หลุม รวมทั้งตรวจสอบอุปกรณ์การผลิตและระบบต่างๆ เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้ตามสัญญา รองรับความต้องการใช้พลังงานของคนไทย และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ