บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) บริษัทในเครือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ริเริ่ม “โครงการเก็บกลับ-รีไซเคิล” ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้ คัดแยก และการนำบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคกลับคืน สู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ ได้ผสานความร่วมมือกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE)
ส่งมอบ “สถานีเก็บกลับ-รีไซเคิล” ซึ่งเป็นสถานีต้นแบบของการเรียนรู้เรื่องการคัดแยกขยะสู่การรีไซเคิลที่เป็นการต่อยอดลงมือปฏิบัติจริง สร้างรายได้และส่งเสริมวัฒนธรรมเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ผู้บริโภคระดับในครัวเรือน วัด โรงเรียนในพื้นที่ชุมชน โดยเริ่มที่ ๓ แห่ง ได้แก่ ชุมชนกุฎีจีน กรุงเทพมหานคร วัดมหาวัน จ.ลำพูน และโรงเรียนบ้านไม้ขาว จ.ภูเก็ต โดยมีการส่งมอบในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ทางด้าน คุณอรทัย พูลทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) ให้ข้อมูลว่า “บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) ได้สนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘OK Recycle’ เพื่อใช้บันทึกข้อมูลกิจกรรมอย่างเป็นระบบ ให้สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) นำไปใช้ในการจัดกิจกรรมของสถาบันกับหน่วยงานภาครัฐ จากนั้นได้ริเริ่มโครงการเก็บกลับ-รีไซเคิล โดยร่วมกับ TIPMSE จัดเวิร์กช็อปกับชุมชนเรื่องการจัดการคัดแยกขยะและการบริหารจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ รวม ๕ จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำพูน ขอนแก่น และภูเก็ต ปีนี้มีการต่อยอดจากการเรียนรู้ สู่จากการลงมือทำจริง มีการส่งมอบ สถานีเก็บกลับ-รีไซเคิล แห่งแรกที่ชุมชนกุฎีจีน กรุงเทพมหานคร และอีก ๒ แห่งที่ วัดมหาวัน จ.ลำพูน
และ โรงเรียนบ้านไม้ขาว จ.ภูเก็ต เพื่อเป็นจุดนัดพบในชุมชนในรูปแบบ ‘ตลาดนัดรีไซเคิล’ ให้ทุกคนคัดแยกตั้งแต่ที่บ้าน วัด โรงเรียน สถานที่ทำงานของตนเอง และนัดวันเปิดตลาดให้ผู้ซื้อพบผู้ขาย นอกจากรายได้แล้วชุมชนจะได้เกิดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคภายในชุมชนได้ด้วยตนเอง โดยสถานีทุกแห่งก็จะใช้แอปพลิเคชัน ‘OK Recycle’ ในการบันทึกข้อมูลเพื่อการติดตามการจัดการของแต่ละสถานี และเผยแพร่ผลการจัดการผ่านทางเว็บไซต์ www.bringbackrecycle.com และสถานีทุกแห่งถือเป็นจุดรับวัสดุ รีไซเคิล(Drop-off) หนึ่งใน ๓๐๐ กว่าแห่งทั่วประเทศของโครงการฯ ที่เป็นต้นแบบในการจัดการภาคชุมชน ที่หวังจะเป็นแรงขับเคลื่อนสู่การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน”