การร่วมแรงร่วมใจกันนี้ ได้มีการต่อยอดเป็นศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม (บ้านปลา-ธนาคารปู) และได้รับการส่งเสริมให้เป็น “ชุมชนดีมีรอยยิ้ม” ที่มี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้สนับสนุนให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคม ภายใต้โครงการพัฒนาชุมชน
ผู้ใหญ่สถิต แสนเสนาะ ประธานวิสาหกิจศูนย์เรียนรู้เพื่อการท่องเที่ยวบ้านปลา-ธนาคารปู ได้บอกเล่าด้วยความชื่นชมว่า แรงสนับสนุนของไทยเบฟเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาชุมชน เหมือนพี่เลี้ยงชุมชนในทุกๆ เรื่อง โดยเข้ามาขับเคลื่อนตั้งแต่กระบวนการคิด การทำแผนงาน การจัดทำแผนธุรกิจร่วมกับองค์กรชุมชน รวมไปถึงการบริหารจัดการท่องเที่ยวและบริการในชุมชน ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี มีร้านค้าชุมชนที่เป็นจุดศูนย์รวมสินค้าของหมู่บ้าน มีการพัฒนาทักษะการแปรรูปอาหารทะเลชายฝั่งร่วมกับภาคีเครือข่ายภาควิชาการมหาวิทยาลัยในจังหวัดจันทบุรี เช่น กุ้งเหยียด น้ำพริกปลากะพงขาว เป็นต้น และอีกหนึ่งสินค้าแปรรูปจากเสื่อกกจันทบูร ก็ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้การทำตลาดที่ยกระดับจากสินค้า OTOP เป็นสินค้า Premium เกิดเป็นคลัสเตอร์เสื่อกกจันทบูรในจังหวัดจันทบุรี ๓ ชุมชน ๔ แบรนด์ผู้ประกอบการณ์รุ่นใหม่
นอกจากนี้ยังต่อยอดแผนงานสู่กิจกรรมที่ฟื้นฟูทรัพยากรทางชายฝั่งทะเล ประมงพื้นบ้านให้เป็นกิจการหนึ่งของกลุ่มได้ เช่น การเพาะพันธุ์ปลาแขยงกง (ปลาอีกง) เป็นปลาท้องถิ่นที่ใกล้จะสูญพันธุ์และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศของชุมชน ไทยเบฟได้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ โรงเรือน ในการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา และประสานเชื่อมโยงชุดความรู้ทางวิชาการกับประมงจังหวัด ก่อเกิดเป็นอีกหนึ่งธุรกิจในชุมชนที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรประมงพื้นบ้านในระยะเวลา ๑ ปี ๗๘,๐๐๐ บาท ลูกปลาที่จำหน่ายในจังหวัดและต่างจังหวัดไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ ล้านตัว และชุมชนสามารถทำการตลาด บริหารจัดการกิจการได้เองอย่างไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก เกิดการเรียนรู้และพัฒนาชุดความรู้แก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยการทดลองทำจนเป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นอีกฐานเรียนรู้หนึ่งในชุมชน
จากชุมชนเข้มแข็ง ต่อยอดเป็นชุมชนดีมีรอยยิ้มจันทบุรี เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมให้แก่เกษตรกรชาวจันท์ เกษตรประณีต ประมงชายฝั่ง ประมงเรือเล็ก งานหัตถศิลป์ของจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่กระจายสินค้าทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนทั้งรายกลุ่มและรายย่อย เป็นการดำเนินกิจการที่มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่ชุมชนกว่า ๒,๖๑๔,๐๗๑ บาท กลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์ ๓๕๕ ราย ขับเคลื่อน ๘ ชุมชน ๙ โครงการหลัก และอีก ๒ โครงการภาพรวมกับจังหวัดจันทบุรี โดยมีงานด้านเกษตร ๓ ชุมชน ด้านการแปรรูป ๓ ชุมชน และด้านท่องเที่ยวโดยชุมชน ๒ ชุมชน