หอศิลป์สนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เต็มไปด้วยสีสันของผลงานมากกว่าพันชิ้น ที่เหล่าศิลปินในทุกระดับทั้งเยาวชน และ ระดับประชาชนทั่วไป ร่วมสร้างสรรค์ส่งเข้าประกวดในโครงการประกวดศิลปกรรม ปตท. PTT Art Awards ครั้งที่ 39 ประจำปี 2567 หัวข้อ “พลังที่ส่งต่อ”
โอกาสสำคัญที่ศิลปินทุกรุ่นจะได้แสดงศักยภาพ ถ่ายทอดความนึกคิด แรงบันดาลใจ สร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่ และเพื่อให้ก้าวทันโลกยุคใหม่ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดการประกวดศิลปกรรม ปตท. PTT Art Awards ครั้งที่ 39 นี้โดยเปิดรับงานศิลปะทุกแขนง
นอกจากจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ปีนี้ยังเป็นปีแรกที่เปิดรับผลงานรูปแบบดิจิทัลอาร์ต 2 มิติ เมื่อไร้ขีดจำกัดในรูปแบบของการสร้างสรรค์ จึงมีความคึกคักเป็นพิเศษ ขอถือโอกาสนี้พาไปรู้จักกับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมการพิจารณาคัดเลือกครั้งสำคัญนี้
11 พลัง เบื้องหลังการตัดสินผลงานการประกวดศิลปกรรม ปตท. PTT Art Awards ครั้งที่ 39 ประจำปี 2567
อาจารย์ธงชัย รักปทุม
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2553
ประธานคณะกรรมการ
“บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ส่งพลังใจมายังประชาชน เปิดโอกาสให้เด็ก เยาวชน ประชาชนในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ในปีนี้รูปแบบการสร้างสรรค์มีความหลากหลาย มีเทคนิคใหม่ รวมไปถึงการนำเสนอผลงานแบบดิจิตัล ผลงานมีคุณภาพน่าชื่นชม”
ผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังการยกระดับศิลปินไทยตลอดมา ผลงานของอาจารย์เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ จนได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2553 อาจารย์ยังเป็นอดีตนักบริหาร เช่น ผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และ ประธานกรรมการสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จบการศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ เกียรตินิยมอันดับ 2 มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับทุนเพื่อศึกษาต่อที่ สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งโรม ประเทศอิตาลี
ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2552
คณะกรรมการตัดสินผลงาน PTT Art Awards
“ขอส่งต่อพลังความคิด ทุกคน ทุกอาชีพ ต้องมี Passion ทำในสิ่งที่รัก รักแล้วจะเกิดศรัทธา”
เริ่มจากแรงบันดาลใจจากบรมครู ความศรัทธาในพุทธศาสนา ทฤษฎีแสงเงา เป็นอัตลักษณ์ในงานศิลปะของอาจารย์ เจ้าของรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ประเภทจิตรกรรม 3 ปีซ้อน ก้าวสู่งานออกแบบจิตรกรรมฝาผนังสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น พระอุโบสถวัดพระรามเก้า กาญจนาภิเษก ในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช อนุสรณ์ สถานแห่งชาติ และ ผลงาน จารึกสัญลักษณ์สุวรรณภูมิ คือ เสาแห่งปัญญา ผลงานของอาจารย์ได้รับการเชิดชูเกียรติคุณทั้งในไทยและระดับนานาชาติ อดีตคณบดี คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ยังก่อตั้งมูลนิธิศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมผลงานและองค์ความรู้ด้านศิลปะ ศาสนา และวัฒนธรรม ให้สืบสานต่อไป
ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) พุทธศักราช 2565
คณะกรรมการตัดสินผลงาน PTT Art Awards
“จุดเด่นของการประกวด PTT Art Awards คือ หัวข้อ ปีนี้จำนวนผลงานคึกคักมากกว่าทุกปี “พลังที่ส่งต่อ” เป็นโจทย์ให้ศิลปินสร้างจินตนาการ”
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) พุทธศักราช 2565 ที่ได้รับรางวัลศิลปกรรมทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ อดีตคณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นศิลปินในทุกมิติแห่งการสร้างสรรค์ ทั้งงานด้านศิลปกรรมอย่าง สีน้ำ ภาพถ่าย สื่อผสม ภาพพิมพ์ และด้านงานประพันธ์ อาจารย์ใช้นามปากกา “พิษณุ ศุภ.” เช่น เรื่อง “กลิ่นสีและกาวแป้ง” ที่โด่งดังจนนำไปสร้างเป็นภาพยนต์ ทั้งยังเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ นักวิจารณ์ศิลปะ และร่วมในคณะทำงานหนังสือพระราชนิพนธ์ พระมหาชนกและคุณทองแดง ฉบับการ์ตูน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณญาณวิทย์ กุญแจทอง
คณะกรรมการตัดสินผลงาน PTT Art Awards
“ผลงานจะเป็นตัวบอกเล่าความคิดที่ศิลปินอยากถ่ายทอดออกมา”
แรงบันดาลใจของอาจารย์ได้มาจากความเคารพต่อธรรมชาติ และความงามของสิ่งรอบตัว องค์ประกอบที่เรียบง่าย สื่อความหมายชัดเจน สะท้อนถึงปรัชญาแบบตะวันออก อาจารย์ทุ่มเทค้นคว้าศึกษาเทคนิคภาพพิมพ์ด้วยสีธรรมชาติ ถือเป็นไฮไลต์ในวงการศิลปะภาพพิมพ์ร่วมสมัยไทย นำไปเผยแพร่ความรู้ทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น อดีตคณะบดี คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับรางวัลชนะเลิศศิลปกรรมทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ
ศาสตราจารย์ทินกร กาษรสุวรรณ
คณะกรรมการตัดสินผลงาน PTT Art Awards
“การทำงานศิลปะ ต้องมีวินัย ทำงานต่อเนื่อง คิดเป็นระบบว่าจุดนี้ใช้วัสดุอะไร เมื่อทำงานเสร็จ อยากให้เด็กๆ เยาวชน ศิลปินนำงานออกไปแสดง หรือส่งประกวด เพื่อพัฒนาต่อไป”
ผลงานที่สร้างสรรค์ด้านจิตรกรรม และภาพพิมพ์ได้รับรางวัลทั้งในและต่างประเทศตลอด 20 ปี โดยมีอัตลักษณ์เกี่ยวกับธรรมชาติ และวิถีชีวิตคนไทยในชนบททั้งในอดีตและปัจจุบัน อาจารย์เคยเล่าว่าความท้าทายของการทำงานเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนไทย คือการหลักในการดำเนิชีวิต และยังดูทันสมัย เข้าใจง่าย และอีกหนึ่งบทบาทที่ต้องทำให้ดี คือการเป็นครูบาอาจารย์ถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปะ อาจารย์ประจำภาควิชาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
คุณระยอง ยิ้มสะอาด
คณะกรรมการตัดสินผลงาน PTT Art Awards
“สื่อที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้เด็กพัฒนาเร็วขึ้น ปีนี้ให้เวลามากขึ้น ผลงานออกมามีคุณภาพ น่าภูมิใจ”
ศิลปินอาวุโสท่านนี้ เริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงานศิลปะตั้งแต่อายุ 14 ปี จากการปั้นดินเผากับอาจารย์ จินต์ บัวงาม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปกรรม อาจารย์มีผลงานประติมากรรมเกี่ยวกับพุทธศิลป์ รูปปั้นบุคคลสำคัญ ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถ่ายทอดสัดส่วนเพรียวบาง ใบหน้าเปี่ยมเมตตา งานพุทธศิลป์ที่โดดเด่น คือ พระพุทธรูปปางสมาธิ 100 เมตร ที่วัดเขาพระงาม จังหวัดระยอง
ดร. สังคม ทองมี
คณะกรรมการตัดสินผลงาน PTT Art Awards
“เด็ก ๆ ชอบวาดเขียน การประกวดศิลปกรรมปตท. PTT Art Awards เป็นเวทีสนับสนุนให้พัฒนาฝีมือ ผลงานที่ผ่านการพิจารณาจากกรรมการ ช่วยส่งเสริมให้มีความเชื่อมั่นที่จะสร้างสรรค์ผลงานต่อไป”
ครูสอนศิลปะโรงเรียนศรีสงครามวิทยา อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ผู้อุทิศตนเพื่อวงการศิลปะและนำโอกาสการศึกษาด้านศิลปะให้เด็กชนบทห่างไกลได้เข้าถึง ลดความหลื่อมล้ำ ผลักดันโครงการ “ศูนย์ศิลป์สิรินธร” เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กับเด็ก ๆ และผู้รักศิลปะในพื้นที่แถบภาคอีสาน ตั้งอยู่ในโรงเรียนศรีสงครามวิทยา ด้วยความทุ่มเทด้านการส่งเสริมการศึกษาด้านศิลปะ จึงได้รับ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” ระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ของ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ กระทรวงศึกษาธิการ และอีกหลายรางวัลทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้ง บุคคลดีเด่นของชาติ สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิของไทย จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ
อาจารย์พีระพงษ์ ดวงแก้ว
คณะกรรมการตัดสินผลงาน PTT Art Awards
“ศิลปะคิดให้เป็นเรื่องสนุก ต้องทุ่มเท ถ้าปีนี้พลาดก็ศึกษาดูงานผู้ที่ได้รับคัดเลือก แนวคิด เทคนิค เวลาที่ใช้ แล้วนำไปพัฒนาตัวเองต่อไป”
ศิลปินที่มีความโดดเด่นในการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมร่วมสมัย ชอบแกะสลักไม้และหิน จึงมีผลงานประติมากรรมแสดงในประเทศต่างๆ เช่น อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย เม็กซิโก อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย โดยนำเรื่องราวศิลปะพื้นบ้านของไทยมาประยุกต์ ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรมร่วมสมัย) ประจำปีพุทธศักราช 2554 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศาสตราจารย์อริยะ กิตติเจริญวิวัฒน์
คณะกรรมการตัดสินผลงาน PTT Art Awards
“กรรมการเคร่งครัดว่าผลงานมีการรับอิทธิพลบางส่วน หรือลอกเลียนแบบหรือไม่ ศิลปินสร้างสรรค์เต็มที่หรือไม่ ผลงานดิจิตัลอาร์ตหลายชิ้น แสดงให้ถึงความสามารถในการวางองค์ประกอบศิลป์ การใช้สี ทำให้ความรู้สึกที่สื่อออกมาดีถึงแม้จะรับรู้ผ่านจอ”
อาจารย์ประจำภาควิชาวิจิตรศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อดีตเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ สนใจในด้านศิลปะ จบปริญญาตรีและโทจาก คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงานที่สร้างชื่อเป็นประติมากรรมที่สร้างสรรค์จากวัสดุประเภทโลหะสแตนเลส และไทเทเนียม ภายใต้แนวความคิดเกี่ยวกับความงอกงามของพืชพรรณในธรรมชาติ อาจารย์ได้รับรางวัลศิลปกรรมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน การเดินทางเพื่อสัมผัส วิเคราะห์ผลงานศิลปะจากทั่วโลก จะเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้กลับมาพัฒนาผลงานของตนเอง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เกรียงไกร กงกะนันทน์
คณะกรรมการตัดสินผลงาน PTT Art Awards
“งานดิจิทัลเป็นที่นิยม เด็กรุ่นใหม่สามารถพัฒนาฝีมือและทักษะได้รวดเร็ว เนื่องจากเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ง่าย การมีเวทีที่ให้โอกาสแสดงฝีมือและศักยภาพ ยิ่งช่วยส่งเสริมวงการศิลปะอย่างกว้างขวาง สร้างศิลปินรุ่นใหม่”
ศิลปินที่เติบโตมากับเวทีประกวดศิลปกรรม ปตท. PTT Art Awards ตั้งแต่ปี 2529 จนก้าวเข้าวงการศิลปะเต็มตัว จากผลงานภาพพิมพ์แนวคิดเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา สู่เส้นทางศิลปินนานาชาติที่ทำงานในทุกมีเดียรวมถึงดิจิตัลอาร์ต อาจารย์ประจำที่คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม และยังเป็นอาจารย์พิเศษอีกหลายสถาบัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.สิงหนาท แสงสีหนาท
คณะกรรมการตัดสินผลงาน PTT Art Awards
“การประกวดช่วยเปิดความคิด สำหรับระดับประชาชน ทดลองความคิด เป็นพลังส่งต่อ”
เชี่ยวชาญด้านการหาอัตลักษณ์ของเมือง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ Urban Ally ผู้อำนวยการศูนย์ Urban Ally หรือ ศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้างกับสาธารณะ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็น นักวิชาการ นักวิจัยด้านการออกแบบชุมชนเมือง อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรผลงานออกแบบชุมชนเมืองทั้งในกรุงเทพฯ และพัฒนาผังเมืองในต่างจังหวัด เช่น การวางแผนรถโดยสารประจำทางในเขตศูนย์กลางเมือง กรณีศึกษาถนนพหลโยธิน โครงการออกแบบภูมิทัศน์รอบโบราณสถานวัดกู่ป้าด้อม โดยมุ่งเน้นการมองภาพกว้าง นึกถึงผู้ใช้และทรัพยากรที่มี แล้วนำมาพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น
- “PTT Art Awards” ครั้งที่ 39 ประจําปี 2567 ถาม-ตอบจากคณะกรรมการผู้ตัดสิน
- https://anurakmag.com/sustainability/advertorial/06/30/2024/ptt-art-awards-39th-interview-qa
- “ต้องให้ความจริง ต้องให้ความดี” พลังที่ส่งต่อจาก 39th PTT Art Awards ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง https://anurakmag.com/sustainability/advertorial/06/28/2024/39th-pttartawards-interview-preecha-thaothong
- จุดเด่นของการประกวดศิลปกรรม ปตท. https://anurakmag.com/lifestyle/05/12/2024/highlights-of-ptt-art-awards
- “พลังที่ส่งต่อ” บทสัมภาษณ์ผศ. เกรียงไกร กงกะนันทน์ https://anurakmag.com/lifestyle/05/12/2024/highlights-of-ptt-art-awards
เรื่อง: อาภาวัลย์ ลดาวัลย์ / นิรมล เรืองสอาด
ภาพ: ธนิต มณีจักร / ทีมช่างภาพปตท.