การส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ควบคู่ไปกับการทำประมงเชิงอนุรักษ์ เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ท้องทะเล และเสริมสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนชายฝั่ง ซึ่งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งชุมชน จัดทำโครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ตามแนวทางด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล “ทะเลเพื่อชีวิต” หรือ Ocean for Life
โดยในระยะแรกได้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู เพื่อช่วยแก้ปัญหาปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลง โดยเฉพาะปูม้า
ซึ่งเป็นสัตว์สำคัญทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จนต่อยอดขยายผลสู่การเพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เหมาะสมกับชุมชนแต่ละพื้นที่ เมื่อเร็วๆ นี้ได้เปิดศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เพิ่มอีก ๒ แห่ง ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรบ้านพะเนิน จ.เพชรบุรี และกลุ่มประมงพื้นบ้านคลองบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมสนับสนุนการสร้างบ้านปลาและแนวเขตอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลตามแนวชายฝั่ง
ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ฯ ว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ร่วมมือกับ ปตท.สผ. ในการทำที่เพาะฟักสัตว์น้ำ ซึ่งในพื้นที่ตำบลบ้านพะเนินมีกิจกรรมหลายอย่างที่ทำร่วมกับ ทช. ด้วยความพร้อมและศักยภาพของพื้นที่ซึ่งมีความโดดเด่น จึงได้คัดเลือกเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน และในความร่วมมือจากทุกภาคส่วนก็สามารถที่จะขับเคลื่อนได้เป็นอย่างดี เพื่อส่งต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่งดงามไปสู่ลูกหลานได้ต่อไป
ด้านนายชยงค์ บริสุทธิ์สวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล กิจการองค์กรและกำกับดูแล ปตท.สผ. กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ฯ เป็นแนวทางหนึ่งใน Ocean for Live ซึ่ง ปตท.สผ. มีความตั้งใจที่จะทำให้เกิดรายได้ของชาวประมงรอบชายฝั่งอ่าวไทย และพยายามสร้างเครือข่ายประมงเชิงอนุรักษ์ รวมถึงต่อยอดการอนุรักษ์เพาะฟักสัตว์น้ำทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ได้มีการเพาะฟักสัตว์น้ำทางเศรษฐกิจและปล่อยลงทะเลกว่า ๙,๖๐๐ ล้านตัว จัดตั้งศูนย์ฯ ๑๑ ศูนย์ และมีเครือข่ายกว่า ๒,๔๐๐ คน
นอกจากนี้ ได้สนับสนุนการสร้างบ้านปลาให้แก่สัตว์น้ำที่ปล่อยไปในทะเล โดยตั้งเป้าว่าปี ๒๕๗๓ จะดำเนินการให้ครบ ๑๙ ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ ๑๗ จังหวัดรอบอ่าวไทย
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้ให้ชาวประมงพื้นบ้านเพิ่มขึ้นครัวเรือนละกว่า ๘๐,๐๐๐ บาทต่อปี และยังต่อยอดนำผลิตภัณฑ์อาหารทะเลมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชน นอกจากนี้การก่อตั้งศูนย์ฯ ในทุกพื้นที่ ยังมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ด้านการเพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มเครือข่าย และส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานสำหรับประชาชนทั่วไปอีกด้วย