Thursday, December 5, 2024
เพื่อสังคม ปตท ADVERTORIAL

รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ ๒๑ ยกย่องพลังจากคนเล็กๆ ที่เปลี่ยนโลก

สถาบันฯ กับภารกิจปลูกป่าในใจคน

การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ได้ดำเนินภารกิจสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศ ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมมาตลอด โดยริเริ่มโครงการ “ลูกโลกสีเขียว” ขึ้นในปี ๒๕๔๒ หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ๑ ล้านไร่ทั่วประเทศ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์ปีที่ ๕๐ ระหว่างนั้นได้เรียนรู้ว่าการปลูกป่าที่ได้มากกว่าต้นไม้นั้นจะต้องปลูกป่าในใจคนด้วย จึงได้ค้นหาบุคคล ชุมชน เยาวชนที่มีผลงานในด้านการอนุรักษ์ดูแลรักษาป่าและสิ่งแวดล้อม เพื่อยกย่อง เชิดชู และมอบ “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ให้เป็นกำลังใจแก่กลุ่มคนเหล่านั้นขึ้นครั้งแรก

จากนั้นได้ขับเคลื่อนการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาเป็น “สถาบันลูกโลกสีเขียว” เมื่อปี ๒๕๕๓ พร้อมเพิ่มบทบาทการสร้างองค์ความรู้ร่วมกับชุมชน โดยใช้เวทีเครือข่ายลูกโลกสีเขียวเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายและประชาชน ต่อยอดในแง่มุมที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

๒๐ ปี รางวัลลูกโลกสีเขียว

นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ สถาบันลูกโลกสีเขียวยังคงเดินหน้าสานต่อภารกิจค้นหา ยกย่อง ชื่นชม และให้กำลังใจแก่ผู้ที่มีอุดมการณ์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแบบอย่างความดีของสังคม สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในวงกว้าง โดยจัดให้มีการมอบรางวัลลูกโลกสีเขียวขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ปัจจุบันมีผู้รับรางวัลและขยายผลการเรียนรู้ไปแล้ว ๘๐๐ ผลงาน ซึ่งในจำนวนนี้มีผลงานรางวัล สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน” เป็นรางวัลที่จัดขึ้นในปี ๒๕๔๘ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ ศ. ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ผู้ร่วมก่อตั้งรางวัลลูกโลกสีเขียว มอบให้แก่ชุมชนที่เคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวมาแล้ว ๕ ปีขึ้นไป และยังคงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มแข็ง

               ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว กล่าวว่า “การมอบรางวัลไม่ได้หมายความถึงการนำรางวัลไปล่อใจ แต่รางวัลนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความสำเร็จในด้านการอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อมนั้นมีตัวอย่างให้เห็นที่ไหน อย่างไรบ้าง ซึ่งรางวัลนี้มีความสำคัญมาก อยากใช้คำว่า ‘รางวัลแห่งความอยู่รอดของมนุษย์’ ด้วยซ้ำไป ไม่ใช่แค่ยุคปัจจุบัน แต่ลูกหลานในอนาคตก็จะได้รับประโยชน์จากพลังของการดูแลสิ่งแวดล้อมของคนทั้งหมดที่ได้รับรางวัลด้วย”

จุดพลังเปลี่ยนโลก

สำหรับงานมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ ๒๑ จัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๖ ภายใต้แนวคิด “จุดพลังเปลี่ยนโลก” มีผลงานที่ได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น ๔๔ ผลงาน ประกอบด้วยรางวัลประเภทชุมชน ๘ ผลงาน ประเภทบุคคล ๓  ผลงาน ประเภทกลุ่มเยาวชน ๘ ผลงาน ประเภทงานเขียน ๓ ผลงาน ประเภทความเรียงเยาวชน ๘ ผลงาน ประเภทสื่อมวลชน ๑ ผลงาน และรางวัลประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน ๑๓ ผลงาน โดยผลงานทั้งหมดสะท้อนถึงความสามารถในการปรับตัว ปรับเปลี่ยน และจัดการกับวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน

               ตัวอย่างจากลงมือทำของคนตัวเล็กๆ ที่ส่งต่อคุณค่าถึงสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่าง นายเจตน์-นางเตือนใจ สมวงษ์ เกษตรกรรักษ์โลกบนเกาะสมุยที่ในแต่ละปีเก็บขยะบนเกาะสมุยได้มากกว่า ๑๐๐-๑๕๐ ตัน นำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ หรือ จ.อ.เขียน สร้อยสม ที่ปรึกษาเครือข่ายคนรักษ์แฝก จ.เพชรบุรี ผู้เป็นต้นแบบการใช้หญ้าแฝกเพื่อเพิ่มพลังดินและน้ำ หรือความสำเร็จที่ช่วยสะท้อนความแข็งแกร่งของพลังชุมชนที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น ชุมชนบ้านท่าจูด จ.พังงา หันมาฟื้นฟูทรัพย์ในดิน สินในน้ำเพื่อให้ระบบนิเวศกลับคืนมา ชุมชนบ้านแม่กองคา จ.แม่ฮ่องสอน กับการจัดการเศรษฐกิจสีเขียว โดยใช้ระบบการผลิตที่สอดคล้องกับทรัพยากรและบริบทพื้นถิ่น ชุมชนบ้านโคกเมือง จ.สงขลา ต้นแบบการจัดการทะเลหน้าบ้านด้วยการฟื้นคืนทะเลสาบสงขลาและการสร้างป่าชายฝั่ง เป็นต้น

ยังมีอีกหลายความสำเร็จจากพลังของคนตัวเล็กๆ ในชุมชนเล็กๆ ที่นำไปเป็นแบบอย่างและแนวทางเพื่อจุดพลังสร้างโลกสีเขียวไปด้วยกัน สามารถดูรายละเอียดผลรางวัลทั้งหมดที่ www.greenglobeinstitute.com และเฟซบุ๊ก Green Globe Institute

About the Author

Share:
Tags: ปตท / ptt / ทินวัฒน์พุกกะมาน / รางวัลลูกโลกสีเขียว / แก๊ส / พลังงาน /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ