Wednesday, October 9, 2024
เพื่อสังคม DTGO

กระทรวงทรัพยากรฯ จับมือพันธมิตร และ สมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ ตั้งสถาบันวิจัยอนุรักษ์พะยูน

กระทรวงทรัพยากรฯ จับมือพันธมิตร และ สมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ ตั้งสถาบันวิจัยอนุรักษ์พะยูน สานต่อ “มาเรียมโปรเจค” ฟื้นฟูพะยูนและสัตว์ทะเลหายากให้อยู่คู่ทะเลไทย

17 สิงหาคมเป็นวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ เชื่อว่าหลายคนคงยังไม่ลืมเรื่องราวความน่ารักของ “มาเรียม” พะยูนน้อย ผู้กำพร้าแม่แห่งท้องทะเลไทยที่ต้องพบจุดจบแสนเศร้าเพราะเศษขยะทะเล การจากไปของมาเรียมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 ถือเป็นความสูญเสียที่ร้ายแรงเพราะเป็นภาพสะท้อนว่าทะเลไทยกำลังวิกฤต แต่ขณะเดียวกันก็ได้จุดกระแสการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายากในประเทศไทย รวมถึงการฟื้นฟูดูแลทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่งมาอย่างต่อเนื่อง

นับจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทช.) ได้เสนอให้วันที่ 17 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” พร้อมขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนในการฟื้นฟูดูแลทรัพยากรทาง ทะเลและชายฝั่ง โดยทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานภายใต้ “มาเรียมโปรเจค” ซึ่งผลความสำเร็จเป็นที่น่ายินดี เมื่อการสำรวจประชากรพะยูนของประเทศไทยในปี 2565 พบว่า มีจำนวนพะยูนในธรรมชาติเพิ่มจาก 250 ตัว เป็น 265 ตัว จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 280 ตัว โดยพบในพื้นที่ฝั่งอันดามันประมาณ 240 ตัว และในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย ประมาณ 25 ตัว ซึ่งประชากรพะยูนส่วนใหญ่ที่พบทางฝั่งทะเลอันดามัน ร้อยละ 88 พบบริเวณทะเลจังหวัดตรัง ร้อยละ 70 เนื่องจากเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นอาหารหลักของพะยูน

ในงานวันสัปดาห์พะยูนแห่งชาติ (Dugong & Seagrass Week 2022) เมื่อวันที่ 17-23 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมใหญ่ โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา อ.เมือง จ.ตรัง นอกจากมีกิจกรรมให้ความรู้ทางวิชาการ การถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงมีพิธีมอบเข็ม “รักษ์ทะเลยิ่งชีพ” เพื่อเชิดชูเกียรติต่อผู้ที่ทำคุณประโยชน์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแล้ว ทช. ยังได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ โครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายาก ณ อ่าวสิเกา จังหวัดตรัง ร่วมกับสมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ซึ่งนับเป็นโครงการใหญ่ที่ใช้เวลาในการดำเนินโครงการกว่า 15 ปี ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ศูนย์รักษาและฟื้นฟูสัตว์ทะเลหายากที่เจ็บป่วย ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก และศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยตั้งเป้าหมายให้จำนวนพะยูนในธรรมชาติได้รับการคุ้มครอง ดูแล และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวชื่นชมประชาชนในจังหวัดตรัง นักท่องเที่ยว และภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกมิติตั้งแต่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการปัญหาขยะทะเลตั้งแต่ต้นทางก่อนลงสู่ทะเล ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการจัดการแบบเต็มรูปแบบ ที่สำคัญต้องขอบคุณสมาคมบลูคาร์บอน โซไซตี้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ที่ร่วมกันจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายาก เพื่อช่วยรักษา ดูแล อนุรักษ์ และฟื้นฟูจำนวนพะยูนในพื้นที่อำเภอปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ อำเภอย่านตาขาว อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งเป็นบ้านของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศที่เหลืออยู่

แม้การสำรวจจะพบว่าประชากรพะยูนมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ยังมีการเกยตื้นหรือการตายอยู่ทุกปี จากสาเหตุต่างๆ เช่น การเจ็บป่วยด้วยลูกพะยูนพลัดหลงจากแม่ ถูกกระแทกด้วยของแข็ง อุบัติเหตุจากเครื่องมือประมง ซึ่งการเกยตื้นของพะยูนในปีงบประมาณ 2565 (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2565) พบการเกยตื้นของพะยูน 15 ตัว แบ่งเป็นการเกยตื้นแบบเสียชีวิต 13 ตัว สาเหตุมาจากการป่วย เช่น กระบังลมฉีกขาด มีการติดเชื้อ พบก้อนหนองทั้งตามปอด ลำไส้ และตับ ติดเชื้อในกระแสเลือด โดยหนึ่งในนั้นมีอาการป่วยร่วมกับการกินขยะทะเล และพบพะยูนเกยตื้นมีชีวิต 2 ตัว โดยสามารถช่วยชีวิตรอดได้ทั้งสองตัว

การจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายาก จึงนับเป็นแนวทางการบริหารจัดการที่ครบวงจรในทุกมิติ ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรที่มีแนวคิดและอุดมการณ์เดียวกัน โดยทางสมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ จะมีส่วนร่วมในการออกแบบโครงการ สนับสนุนงบประมาณ และดูแลการออกแบบการก่อสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภคที่เป็นส่วนประกอบของโครงการ รวมถึงจัดหาอุปกรณ์พื้นฐานต่างๆ สำหรับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับ ทช. ในการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากหลายชนิด เช่น พะยูน เต่าทะเล และโลมา ฯลฯ จึงมีศักยภาพและความพร้อมทั้งด้านบุคลากร นักวิจัย อาคารสถานที่ เครื่องมือครุภัณฑ์ที่จะช่วยสนับสนุนให้ภารกิจของโครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้


ดร. ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ นายกสมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ได้หารือร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาตั้งแต่ปี 2562 นับตั้งแต่สูญเสีย “พะยูนมาเรียม” โดยได้แสดงความประสงค์ที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์และดูแลพะยูนในจังหวัดตรังและพื้นที่อื่นๆ ทั้งนี้ การจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายาก นับเป็นแนวทางการบริหารจัดการที่ครบวงจรในทุกมิติ อีกทั้งยังได้พันธมิตรที่มีแนวคิดและอุดมการณ์เดียวกัน ซึ่งตนเชื่อว่าจะสามารถดูแลและอนุรักษ์พะยูนได้อย่างที่สมาคมฯ คาดหวังและตั้งใจ อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้จะร่วมกับ กรม ทช. ในการออกแบบโครงการ สนับสนุนงบประมาณและดูแลการออกแบบ การก่อสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภคที่เป็นส่วนประกอบของโครงการฯ รวมถึงสนับสนุนจัดหาอุปกรณ์พื้นฐานต่างๆ ซึ่งจะได้หารือกัน ต่อไป ทั้งนี้ ตนและทางสมาคมฯ ได้เตรียมแผนงานเพื่อการประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์พะยูน เพื่อปลุกจิตสำนึกและกระตุ้นเตือนสังคมให้มีส่วนช่วยดูแลพะยูนให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ต่อไป

วันนี้ลมหายใจของพะยูนน้อยมาเรียมไม่สูญเปล่า แต่กำลังจุดพลังทางสังคมให้ลดการใช้พลาสติก ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพื่อให้พะยูนและสัตว์ทะเลหายากตัวอื่นๆ ได้คงอยู่คู่ท้องทะเลไทยต่อไป

About the Author

Share:
Tags: ธรรมชาติ / สิ่งแวดล้อม / ทะเล / กระทรวงทรัพยากรฯ / สมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ / พะยูน / สัตว์ทะเล /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ