รู้หรือไม่ว่าสมุทรสาครไม่เพียงแต่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่ป่าชายเลนทำหน้าที่เป็นอ่าว และด่านคัดกรองขยะจากแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนออกสู่อ่าวไทยที่เป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลจำนวนมาก และขยะ 3,115 กิโลกรัม เป็นจำนวนรวมทั้งหมด ที่กิจกรรมนี้เก็บได้จากป่าชายเลนจังหวัดสมุทรสาคร ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเก็บขยะชายฝั่งเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เข้าร่วมกับโครงการรณรงค์ระดับโลกอย่าง SeaBOS (Seafood Business for Ocean Stewardship) และองค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) ที่ชื่อว่า International Coastal Cleanup ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสภาพแวดล้อมทางทะเลทั่วโลก ผ่านการลดผลกระทบจากขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ รวมถึงขยะพลาสติกที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล พลาสติกที่แตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ ที่อาจกลายเป็นอาหารสัตว์ และส่งผลมาสู่มนุษย์ในที่สุด
“ไทยยูเนี่ยน ในฐานะผู้นำธุรกิจอาหารทะเลของโลก มุ่งมั่นที่จะปกป้องท้องทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเราดำเนินธุรกิจภายใต้พันธกิจการพัฒนาที่ยั่งยืนพร้อมมุ่งส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดี ควบคู่กับการดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ที่เรียกว่า Healthy Living, Healthy Oceans และทำงานเพื่อปกป้องทรัพยากรที่มีค่าสำหรับคนรุ่นใหม่ และผมภูมิใจมากที่ได้เห็นการมีส่วนร่วมและความตั้งใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่สนับสนุนโครงการรณรงค์การเก็บขยะชายฝั่งนี้” นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และรองประธานของ SeaBOS กล่าว
สำหรับอาสาสมัครที่เข้าร่วมในกิจกรรมเก็บขยะในพื้นที่ป่าชายเลน ตำบลบางหญ้าแพรก จังหวัดสมุทรสาคร ทั้ง 2 ครั้ง ประกอบด้วย พนักงานจาก บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป บจ. ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม บจ. โอคินอส ฟู้ด และบจ. แพ็คฟู้ด เอเชีย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ของจังหวัดสมุทรสาคร เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดสมุทรสาคร และอาสาชุมชนท้องถิ่น
โครงการรณรงค์การเก็บขยะของไทยยูเนี่ยนนี้ยังเดินหน้าไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งในทวีปยุโรปและแอฟริกา โดยที่ประเทศอิตาลี พนักงานบริษัทในเครือภายใต้แบรนด์ Mareblu ได้ร่วมกันเก็บขยะบริเวณชายหาด Genova Voltri ใน Liguria ซึ่งเก็บก้นบุหรี่ได้กว่า 4,000 ชิ้น และพนักงานของโรงงาน Pioneer Food Cannery (PFC) ที่เมืองเทมา ประเทศกานา ได้ร่วมกันเก็บขยะบริเวณ Canoe Basin โดยรอบตลาด และบริเวณท่าเรือประมง
สำหรับขยะที่เก็บได้ในประเทศอิตาลีและกานา จะถูกนำไปกำจัดโดยหน่วยงานในพื้นที่ ส่วนในประเทศไทย ขยะที่เก็บได้จะนำมาคัดแยกประเภท โดยขยะบางประเภทที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้จะส่งต่อไปยังโรงคัดแยกขยะในพื้นที่ ส่วนขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้จะถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานกำจัดขยะในพื้นที่
นอกจากนี้ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสมุทรสาคร (ทสจ.) จะนำข้อมูลจากขยะที่เก็บได้ไปใช้วางแผนแก้ไขปัญหาขยะทะเลต่อไป ซึ่งเป้าหมายของกิจกรรมนี้นอกจากจะช่วยปกป้องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแล้ว ยังช่วยสร้างจิตสำนึกและให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมกันในการแก้ปัญหาขยะทะเลอีกด้วย