อีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ในสัปดาห์วันเก็บขยะชายหาดสากล (International Coastal Cleanup Day 2022) วันที่ ๑๕-๑๗ กันยายนที่ผ่านมา บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จับมือหน่วยงานภาครัฐ องค์กรส่วนท้องถิ่น ชุมชน ตลอดจนพนักงานซีพีเอฟจิตอาสา ร่วมกันเก็บขยะชายหาด ๗ จุด ใน ๗ จังหวัดพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักภายใต้โครงการ “CPF Restore the Ocean” ร่วมปกป้องท้องทะเลและสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
นิตยสารอนุรักษ์ได้เข้าร่วมกิจกรรมรักษ์โลกในครั้งนี้ด้วย จึงนำบรรยากาศมาฝาก โดยก่อนงานมีลุ้นกันเล็กน้อยกับสภาพอากาศเพราะฟ้าครึ้มฝนตั้งแต่เช้า สถานที่รวมพลอยู่บริเวณริมชายหาดใกล้กับอนุสรณ์สถานเรือรบประแส อ.แกลง จ.ระยอง จึงมองเห็นน้ำทะเลขึ้นสูงและคลื่นลมค่อนข้างแรงเลยทีเดียว แต่ถึงอย่างนั้นเหล่าจิตอาสาซีพีเอฟ ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ และชุมชนตำบลปากน้ำประแส ซึ่งรวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่มากกว่า ๓๐๐ คน จากโรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนทองที่มาร่วมเก็บขยะ ทุกคนยิ้มสู้เพราะเตรียมตัวมาพร้อม
กิจกรรมในครั้งนี้นอกจากการเก็บขยะแล้ว ยังมีการปล่อยปูดำในพื้นที่ป่าชายเลนของศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปากน้ำประแสด้วย และเนื่องจากต้องคัดแยกขยะกันตั้งแต่จุดเก็บจึงมีการอธิบายเรื่องประเภทของขยะให้น้องๆ เข้าใจ เช่น ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย ถือเป็นความรู้ที่น้องๆ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนได้อีกด้วย
จากนั้นคณะผู้บริหารของซีพีเอฟ นำโดย นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ได้กล่าวเปิดงานว่า ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ได้ขับเคลื่อนความมุ่งมั่นปกป้องทะเลโลก ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือในการสนับสนุนโครงการและกิจกรรม ร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างความตระหนักรู้สู่การลงมือทำครอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่การวางกลยุทธ์การดำเนินการ การประสานความร่วมมือในการเก็บขยะในพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งการแยกขยะและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ใหม่ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ปลูกฝังความตระหนักในการดูแลระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ซึ่งเป็นต้นทางความมั่นคงทางอาหารของโลกอย่างยั่งยืน
ด้านนางสาวกานต์จรัส เอียดทองใส นายอำเภอแกลง กล่าวขอบคุณซีพีเอฟที่ให้ความสำคัญในการมาจัดกิจกรรมในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งกิจกรรมในวันนี้แสดงให้เห็นว่าการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยการทำงานเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และหวังว่าทางซีพีเอฟจะมีการจัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตามที่ตั้งใจว่าจะพัฒนาที่นี่ให้เป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืน
เมื่อถึงเวลาแยกย้ายไปเก็บขยะ ปรากฏว่าท้องฟ้าใสแดดจ้าเหมือนเป็นใจให้เหล่าจิตอาสาได้ทำกิจกรรมกันเต็มที่ ตอนนี้เหล่าจิตอาสาถูกแบ่งเป็น ๔ ทีม พร้อมอุปกรณ์ในการเก็บขยะ ถุงมือ และถุงใส่ขยะสีต่างๆ ตามประเภทของขยะ กระจายไปตามพื้นที่รับผิดชอบเริ่มตั้งแต่ลานสาธารณะ อนุสรณ์เรือรบหลวงประแส บริเวณหน้าชายหาด เรื่อยไปถึงป่าชายเลนในศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือป่าแสม ๑๐๐ ปี ซึ่งกลุ่มหลังนี้ได้รวมคณะผู้บริหารของซีพีเอฟเอาไว้ด้วย โดยต้องนั่งรถสกายแล็ปไปก่อนในช่วงแรก แล้วเดินลัดเลาะไปบนสะพานไม้ท่ามกลางป่าชายเลนที่ร่มรื่น จากนั้นจึงช่วยกันปล่อยปูดำกลับคืนสู่ธรรมชาติ ต่อด้วยการเก็บขยะทั้งกล่องโฟม ขวดน้ำ ถุงพลาสติกที่ติดอยู่ตามรากไม้บ้าง ลอยน้ำอยู่บ้าง งานนี้ถึงขั้นสมบุกสมบันกันเลยเพราะต้องไต่ไปตามรากโกงกาง แต่ทุกคนดูสนุกสนาน คุยกันไปเก็บขยะกันไป แถมยัง ต้องลุ้นเพื่อนในกลุ่มอย่าให้ก้าวพลาดหรือลื่นไถล เพราะไม่อย่างนั้นได้ลงไปเล่นสไลเดอร์ในน้ำเป็นแน่
สำหรับกิจกรรมเก็บขยะชายหาดในพื้นที่ปากน้ำประแส สามารถเก็บขยะได้รวม ๑,๕๓๑ กิโลกรัม โดยมีการนำขยะมาคัดแยกตามประเภท ได้เป็นขยะรีไซเคิล เช่น พลาสติก แก้ว โลหะ โฟม ยาง รวม ๕๓๙ กิโลกรัม ขยะทั่วไป เช่น หลอด แก้วน้ำ ถุงอาหาร ๗๔๒ กิโลกรัม อุปกรณ์ประมง เช่น แห อวน เชือก ๒๑๔ กิโลกรัม และขยะอันตราย ๓๖ กิโลกรัม ซึ่งจะนำขยะเหล่านี้ไปจัดการในรูปแบบที่เหมาะสมและนำเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ต่อไป
ก่อนกลับเรายังได้คุยกับน้องนิวเคลียร์-ปวันรัตน์ คล่องงานทะเล นักเรียนชั้น ม.๓ โรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนทอง น้องเล่าว่ามาร่วมกิจกรรมทั้งปลูกป่าชายเลนและเก็บขยะหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้ก็สนุกดีและยังได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเห็นขยะลอยมาติดที่หาดเยอะ มาจากเรือที่ทิ้งบ้าง นักท่องเที่ยวทิ้งบ้าง ขยะเหล่านี้จะทำให้น้ำเน่าเสีย จึงอยากฝากถึงนักท่องเที่ยวและคนรุ่นใหม่ให้เห็นความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อม หากจะมาเที่ยวที่ประแสก็อยากให้ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง อย่างน้อยก็ช่วยให้ชุมชนของเธอสะอาด มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น
หนึ่งเสียงจากเจ้าของบ้านที่บอกกล่าวแทนชุมชนชาวประแส ก็หวังว่านักท่องเที่ยวจะรับฟังและทำตามกัน เพื่อร่วมปกป้องทะเลของเราและของโลกด้วยกัน