Monday, October 14, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ กองทุนสื่อ

แนวคิดพุทธธรรมสู่พุทธศิลป์ “ถ้ำพระโพธิสัตว์ จังหวัดสระบุรี”

คำสอนของพุทธศาสนาเป็นแบบอเทวนิยม มีแนวคิดและปรัชญาเกี่ยวกับการเรียนรู้เพื่อความพ้นทุกข์เป็นสำคัญ ต่อมาพราหมณ์ได้พัฒนาแนวคิดและปรัชญาเพื่อต่อสู้กับอิทธิพลของพุทธศาสนา ซึ่งเรียกว่าปรัชญาฮินดู ซึ่งมีความใกล้เคียงกับพุทธศาสนา อีกทั้งยังมีเทพเจ้ามากมายที่คอยรองรับคำอ้อนวอนของศาสนิกชน ต่างกับพุทธศาสนาที่ต้องพยายามปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นด้วยตนเอง ดังนั้น พระพุทธศาสนามีการพัฒนาแนวคิดที่สำคัญขึ้นมาเช่นกัน นั่นคือพระพุทธศาสนามหายานที่เกิดขึ้นมาเพื่อรับมือปรัชญาพราหมณ์-ฮินดูโดยเฉพาะ

จากความเชื่อของพุทธศาสนิกชนมหายานที่เคารพบูชาพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์หลายองค์ ทั้งยังอยู่เหนือเทพเจ้าและสภาวะทั้งปวง มหายานไม่เพียงสร้างพุทธภาวะให้เป็นอมตะนิรันดรอยู่เหนือโลก แต่ยังอยู่ในสภาพที่มีตัวตน ที่ทรงกระทำภารกิจรื้อขนสัตว์ให้ออกจากสังสารวัฏได้ แนวคิดดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการสร้างพระพุทธรูปและรูปเคารพพระโพธิสัตว์แบบต่างๆ อีกมากมาย

พุทธปรัชญามหายานเริ่มก่อตัวขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๖-๗ แนวคิดต่างๆ ที่มีผลต่อการสร้างพระพุทธรูปเริ่มเปลี่ยนไปเช่น การตีความเรื่องบุคคลิกภาพของพระพุทธเจ้า ซึ่งแต่เดิมเชื่อว่า รูปกายของพระพุทธเจ้านั้นมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้วก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับโลกนี้อีก แต่ฝ่ายมหายานที่พัฒนาแนวคิดขึ้นมาใหม่เชื่อว่า พระชนม์ชีพของพระพุทธองค์นั้นยั่งยืนไม่มีขอบเขต ที่เห็นเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเพียงมายาธรรม แสดงให้เห็นเพื่อสั่งสอนมหาชน แนวคิดดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนารูปแบบของพุทธศิลป์ เช่น การสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ๒ องค์ ที่เมืองบามิยาน ในลักษณะมีความยิ่งใหญ่เหนือมนุษย์และทวยเทพ

สำหรับภาพสลักนูนต่ำที่ปรากฏบนผนังถ้ำพระโพธิสัตว์ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ในวัฒนธรรมทวารวดี เป็นภาพพระพุทธเจ้ากำลังเทศนาโปรดเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ๒ องค์คือ พระศิวะและพระนารายณ์ สันนิษฐานว่าเพราะเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูทั้งสองไม่มีบทบาทในคำสอนของพุทธศาสนาแบบจารีต ผิดกับพระพรหมที่มีบทบาทอย่างสูงในพระพุทธศาสนา ดังนั้น ในภาพสลักจึงนำเทพเจ้าทั้งสองให้เข้ามาน้อมรับพระสัทธรรม ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ-หลังคุปตะ ถือเป็นภาพสลักที่มีพระพุทธเจ้าและเทพเจ้าในศาสนาฮินดูอยู่ร่วมกันที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

About the Author

Share:
Tags: กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์ / พุทธธรรม / พุทธศิลป์ / ผลงานผู้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ / สระบุรี / ถ้ำพระโพธิสัตว์ / นิตยสารอนุรักษ์ / พุทธศาสนา / ภาพนูนต่ำ / กองทุนสื่อ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ