Monday, October 14, 2024
พระเครื่อง เพื่อสังคม ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ กองทุนสื่อ

พระไพรรีพินาศ

EP.8 พระไพรรีพินาศ
เรื่อง / ภาพ / คลิปสารคดี จาก โครงการพุทธธรรม พุทธศิลป์ พุทธคุณ ค้ำจุนโลก โดยนิตยสารอนุรักษ์
สนับสนุนโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ชมคลิปด้านล่าง

“พระไพรีพินาศ” เป็นพระนามของพระพุทธรูป ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ เก๋งบนชั้นสองของพระเจดีย์ใหญ่วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระศิลาสลักที่มีขนาด หน้าตักกว้าง ๓๓ ซม. และมีความสูงถึงปลายพระรัศมี ๕๓ ซม.   เมื่อราว พ.ศ. ๒๓๙๑ มีผู้นำมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งขณะนั้นยังผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไพรีพินาศองค์นี้ทรงแสดงอภินิหารให้ปรากฏเมื่ออริราชศัตรูที่คิดปองร้าย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่างมีอันเป็นไป และพ่ายแพ้ภัยตนเอง พระองค์จึงโปรดให้ถวาย พระนามของพระพุทธ รูปองค์สำคัญนี้ว่า “พระไพรีพินาศ” โดยมีหลักฐานเป็นกระดาษซึ่งพบในพระไพรีพินาศเจดีย์ มีอักษรเขียนว่า “พระสถูปเจดียสิลาบัลลังองค์ จงมีนามว่า พระไพรีพินาศเจดียเทิญ” และอีกด้านเขียนว่า “เพราะตั้งแต่ทำแล้วมา คนไพรีก็วุ่นวายยับเยินไปโดยลำดับ” หลักฐานดังกล่าวได้ค้นพบเมื่อวันจันทร์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ระหว่างการซ่อมแซมพระเจดีย์ ๙๖ ปี วัดบวรนิเวศวิหาร

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงมีพระวินิจฉัยในสาสน์สมเด็จไว้ว่า “พระไพรีพินาศเป็นพระพุทธรูปแบบมหายานปางประทับนั่งประทานอภัย กล่าวคือ มีพระพุทธลักษณะเหมือนพระปางมารวิชัยหัตถ์ขวาที่วางอยู่บนพระชานุขึ้น” พระไพรีพินาศองค์นี้มีผู้นำมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นยังทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อได้พระไพรีพินาศมาเหล่าศัตรูที่คิดปองร้าย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่างก็มีอันเป็นไปจนหมดสิ้น พระองค์จึงโปรดให้ถวายนามพระพุทธปฏิมากรว่า “พระไพรีพินาศ”แต่บัดนั้นเป็นต้นมา

นอกจากนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเขียนในสาสน์สมเด็จลงวันที่ 5 มี.ค. 2477 ว่า

มีเรื่องจะทูลถวาย (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) เรื่องหนึ่ง คือ เมื่อวันที่ 1 เดือนนี้ (มี.ค. 2477) สมเด็จพระพันวัสสา ทรงบำเพ็ญพระกุศล พระชนม์เสมอ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า โดยทำบุญเลี้ยงพระที่วัดพระเชตุพน การเลี้ยงพระนั้นได้แยกถวายโต๊ะฝรั่งสำหรับพระสงฆ์ที่เป็นราชวงศ์ จึงมีโอกาสได้สนทนากับพระทั้งนั้น (ครั้งนั้น) สมเด็จพระวชิรญาณ ตั้งปัญหาถาม (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ว่า พระไพรีพินาศ เป็นพระอะไร มาแต่ไหน ทำไมจึงมาอยู่วัดบวรนิเวศน์ เหตุใดจึงชื่อว่าไพรีพินาศ สมเด็จกรมพระยาดำรงทูล (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ) ว่า เกล้ากระหม่อมหงายท้อง ไม่สามารถตอบได้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีลายพระหัตถ์ตอบสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ 10 มี.ค. 2477 ทรงกล่าวตอนหนึ่งถึงเรื่องพระพุทธไพรีพินาศว่า

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉบับที่ลงวันที่ 5 ขอทูลสนองความเรื่องพระพุทธไพรีพินาศ ที่อยู่วัดบวรนิเวศน์ หม่อมฉันได้ไปพิจารณาดูองค์พระพุทธรูปนั้น เป็นพระพุทธรูปศิลาแบบมหายาน ปางนั่งประทานอภัย คือเหมือนพระมารวิชัย แต่หงายพระหัตถ์ขวา หม่อมฉันเคยพบเรื่องในประกาศพระราชพิธีจรว่า ทูลกระหม่อมทรงบำเพ็ญพระราชกุศล “ผ่อนพ้นไพรี” เมื่อปีฉลู พ.ศ. 2396 (ปีที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสมภาพ) ความในประกาศนั้น กับพระนามพระพุทธรูปบ่งชัดว่า บำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพ้นภัยจากหม่อมไกรสร พระพุทธรูปองค์นี้ทูลกระหม่อมเห็นจะทรงได้ไว้แต่ยังทรงผนวชใกล้ๆ กับเวลากำจัดหม่อมไกรสร จึงทรงถือเป็นนิมิต เดิมเห็นจะเอาไว้ที่อื่น ที่โปรดฯ ให้สร้างเก๋งประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นั้นไว้ที่พระเจดีย์วัดบวรนิเวศน์ เห็นจะเป็นตอนปลายรัชกาลที่ 4 หม่อมฉันนึกจำได้เป็นเงาๆ ว่า เมื่อหม่อมฉันบวชเณร เก๋งนั้นยังไม่แล้ว ท่านก็เสด็จประทับอยู่วัดนั้น เมื่อทรงผนวชจะทรงจำได้บ้างดอกกระมัง แต่พระพุทธรูปองค์นี้จะมีใครถวาย หรือจะทรงได้มาจากไหนไม่ทราบ

เมื่อวินิจฉัยพุทธลักษณะของพระไพรีพินาศสันนิษฐานว่าเป็นรูปปฏิมากรของพระรัตนสัมภวพุทธะซึ่งเป็นพระธยานิพุทธ ๑ ใน ๕ พระองค์ของมหายาน พระนาม “รัตนสัมภวะ” หมายถึงพระผู้เป็นต้นกำเนิดแห่งรัตนะทั้งปวง ทรงประทับอยู่ทางทิศใต้ของมณฑล มีพระกายสีเหลืองทอง เป็นต้นตระกูลพระโพธิสัตว์ตระกูลรัตนะ ซึ่งเปรียบได้กับปัญญาอันประเสริฐ เป็นสัญญลักษณ์ของพระรัตนตรัย สัญญลักษณ์ประจำพระองค์คือ แก้วจินดามณี หมายถึงการเข้าถึงความรู้แจ้ง มโนวิญญาณธาตุและจิตตรัสรู้  พระหัตถ์ทำท่าทานมุทรา คือพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลาอยู่ในท่าทำสมาธิ พระหัตถ์ขวาเหยียดลง แบพระหัตถ์ออก ปลายนิ้วชี้จดนิ้วโป้ง

สำหรับพระกริ่งไพรีพินาศที่สร้างขึ้นในปีพ.ศ. ๒๔๙๕ ในวาระที่กรมหลวงวิชรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกมีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับบำเพ็ญกุศลฉลองพระชนมายุถวายเป็นพระราชกุศลได้มีการประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธปฏิมา ทีฆายุมหามงคล จัดสร้างพระบูชาและพระเครื่องคือพระกริ่งและพระชัยวัฒน์พระไพรีพินาศพิมพ์ต่างๆ ใช้กรรมวิธีการสร้างตามแบบโบราณ และมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะคือ เนื้อโลหะที่สร้างเป็นเนื้อทองผสมวรรณะออกเหลืองเมื่อผ่านกาลเวลากว่าครึ่งศตวรรษแต่วรรณะของพระกลับไม่หมองเท่าใดยังคงเหลืองอมเขียวเล็กน้อย ส่วนกรรมวิธีการสร้างเป็นการเทหล่อแบบโบราณ ไม่มีการแต่งผิวหรือแต่งองค์พระ โดยใช้ “ดินขี้วัว” อันเป็นสูตรสำคัญในการหล่อพระมาแต่สมัยอดีตหลายร้อยปี ทำให้เกิดเอกลักษณ์สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ที่ผิวขององค์พระจะปรากฏดินขี้วัวที่จับบนผิวพระซึ่งจะปรากฏร่องรอยอยู่ในรูพรุนละเอียดทั้งองค์พระ และสีของดินขี้วัวจะเป็นสีเขียวอมดำ วัตถุมงคลที่สร้างในคราวดังกล่าวประกอบด้วย

๑. พระบูชาไพรีพินาศ
๒. พระกริ่งไพรีพินาศ พิมพ์บัวเหลี่ยม
๓. พระกริ่งไพรีพินาศ พิมพ์บัวแหลม
๔. พระชัยวัฒน์ไพรีพินาศ
๕. เหรียญพระไพรีพินาศ
๖. หม้อน้ำมนต์

สำหรับพระกริ่งไพรีพินาศแบ่งเป็น ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์ฐานบัวเหลี่ยม และพิมพ์ฐานบัวแหลม ซึ่งต่างกันตรงฐานบัว ตามชื่อของพิมพ์ นอกจากนี้จุดสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือเกสรบัวของพิมพ์บัวแหลมจะค่อนข้างชัดกว่า เม็ดพระศกด้านหลังของพิมพ์บัวเหลี่ยมจะเป็นเม็ดกลมโตเหมือนด้านหน้า แต่พิมพ์บัวแหลมจะไม่ติดเป็นเม็ดกลมฐาน ด้านหลังมีตัวหนังสือจารึกเป็นร่องลึกลงไปเขียนว่า “ไพรีพินาศ” ซึ่งติดคมชัด นอกจากนี้ยังมีมีตำหนิที่ก้นของพระซึ่งจะปรากฏเป็นรอยตะไบและรอยเสี้ยน อันเกิดจากร่องรอยของการตะไบให้เรียบหลังจากการอุดก้นหลังใส่เม็ดพระกริ่งลง ไป อันนับเป็นตำหนิสำคัญของการดูพระแท้และสัณฐานขององค์พระด้านขวาจะยกสูงส่วนด้านซ้ายเล็กน้อย     

วัตถุมงคลชุดไพรีพินาศที่ได้จัดสร้างในครั้งนั้น พระชุดไพรีพินาศยังเป็นองค์จำลองของพระพุทธรูปที่เปี่ยมด้วยพุทธบารมีอันศักดิ์สิทธ์ เป็นที่เคารพสักการะขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะคำ”พระไพรีพินาศ”ปัจจุบันเป็นที่นิยมบูชาของผู้สนใจในพระเครื่องเป็นอย่างสูงผู้สร้างเป็นถึงสมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นประมุขแห่งสงฆ์และนอกเหนือจากความเป็นพระเครื่องที่สร้างในโอกาสมงคลอันสำคัญบริบูรณ์ด้วยพิธีกรรมและพิธีพุทธาภิเษกแล้ว เชื่อกันว่าผู้ที่ได้บูชาจะเปี่ยมด้วยสิริมงคลชีวิตร่มเย็นผาสุกรอดพ้นพิบัติภัยเอาชนะอุปสรรคได้นานาประการ

ความนิยมของพระไพรีพินาศที่มีมากขึ้นก็เนื่องมาจากมงคลนามที่สื่อความหมายถึงความพินาศย่อยยับของศัตรูที่คิดปองร้ายนั่นเอง

ชมคลิปสารคดีสั้น พระไพรีพินาศ …. ใครพินาศ

แขกรับเชิญ

พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมมสากิโย)

เจ้าคณะภาค 6 – 7 (ธรรมยุต), ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และอธิการบดีกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก

อ.ธงทอง จันทราศุ

อดีตที่ปรึกษากฎหมายของนายกรัฐมนตรีเชี่ยวชาญในด้านประวัติศาสตร์ ศาสนาและวัฒนธรรม

ดร.ณัฐธัญ มณีรัตน์

ผู้เชี่ยวชาญพุทธศาสนา นักเขียน นักวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาวิเคราะห์ระบบยันต์ในภาคกลางของประเทศไทย

ชมสารคดีชุด พุทธธรรม พุทธศิลป์ พุทธคุณ ค้ำจุนโลก ได้ที่ www.youtube.com/@anurakmagazine

About the Author

Share:
Tags: ฉบับที่ 66 / คลิปสารคดี / โครงการพุทธธรรม พุทธศิลป์ พุทธคุณ ค้ำจุนโลก / พระไพรีพินาศ / ep8 / ตอนที่ 8 / พระ / พระเครื่อง /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ