เรื่อง: โครงการพุทธธรรม พุทธศิลป์ พุทธคุณ ค้ำจุนโลก (ผลงานผู้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์)
ภาพ: Shutterstock
นครศรีธรรมราชมีศิลปวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ มีประเพณีอันเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาที่น่าสนใจมากมาย อีกทั้งประเพณีของเมืองนครก็มีความแตกต่างจากเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประเพณีตักบาตรธูปเทียนซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่มากับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ทุกวันนี้ยังคงมีอยู่แม้ว่ารูปแบบอาจจะแตกต่างออกไปจากเดิมบ้างก็ตาม
ประเพณีตักบาตรธูปเทียน เป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีมากับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารแม้ปัจจุบันรูปแบบอาจจะแตกต่างออกไปจากเดิมบ้างก็ตาม เป็นการถวายสังฆทานในโอกาสเข้าพรรษาคือ วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ สันนิษฐานว่าประเพณีนี้เกิดขึ้นที่นครศรีธรรมราชก่อน และได้ถ่ายทอดไปสู่สมัยสุโขทัยด้วย เมื่อตักบาตรธูปเทียนแล้ว ชาวเมืองก็พร้อมใจกันไป จุดเปรียง (การจุดเปรียงก็คือ “จองเปรียง” เป็นพิธีจุดโคมรับเทพเจ้าของพราหมณ์ ชาวพุทธรับมาทำในวันเพ็ญเดือนสิบสองเพื่อบูชาพระบรมธาตุเจดีย์และพระพุทธรูป) ตามหน้าพระพุทธรูปและฐานเจดีย์ในวัดพระมหาธาตุ โดยใช้วิธีการง่ายๆคือเอาด้ายดิบใส่ลงไปในภาชนะเล็กๆ ส่วนใหญ่เป็นเปลือกหอยแครง จากนั้นหยดน้ำมันสัตว์หรือน้ำมันมะพร้าวลงไปแล้วจุดไฟที่ด้ายเป็นอันว่าไฟจะสว่างวอมแวมไปทั่วทุกวิหารและฐานเจดีย์ทุกฐานในวัดพระมหาธาตุ
ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่รับมาจากอินเดีย ซึ่งในศาสนาพราหมณ์มีประเพณีที่เรียกว่า “เปตพลี” จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่ผู้วายชนม์ ประเพณีนี้สืบทอดกันมาก่อน
สมัยพุทธกาล ครั้งถึงสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าพิธีนี้ควรแก่การเก็บรักษาไว้ จึงทรงอนุญาตให้อุบาสกอุบาสิกากระทำต่อไป ประเพณีสารทเดือนสิบของเมืองนครก็เกิดขึ้นตามพุทธานุญาตของพระพุทธองค์ และด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกันกับที่ชาวอินเดียมีประเพณีเปตพลี เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบุพการีนั่นเอง
ประเพณีลากพระ บางครั้งก็เรียกว่า“ประเพณีชักพระ” บางครั้งก็เรียก “ประเพณีแห่พระ” ชาวนครปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ประเพณีลากพระของเมืองนครมีอยู่ ๒ ประเภท คือ ลากพระบกกับลากพระน้ำลากพระบกเป็นการอัญเชิญพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐานบนบุษบก แล้วแห่โดยการลากไปบนบก วัดส่วนใหญ่ที่อยู่ไกลแม่น้ำลำคลองมักกระทำวิธีนี้ ส่วนลากพระน้ำเป็น การอัญเชิญ พระพุทธรปูปางอุ้มบาตรขึ้ประดิษฐานบนบุษบกในเรือแล้วแห่แหนไปทางน้ำ วัดส่วนใหญ่ที่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลองมักกระทำวิธีนี้