Monday, September 9, 2024
เพื่อสังคม ทิพยประกันภัย

ทิพยประกันภัยแกร่ง โชว์ผลงานกำไรปี 64 ทะลุ 1.8 พันล้าน

ด้าน TIPH รอรับปันผลเดือนเมษา คาดจ่ายปันผลได้กลางปี พร้อมเปิดแผนธุรกิจปี 2565 ลุยจัดทัพบริษัทลูกพลิกโฉมธุรกิจประกันภัย

ทิพยประกันภัย หรือ TIP ประกาศกำไรสุทธิ ปี 2564 ที่ 1,843 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 3.07 บาท โชว์เบี้ยประกันภัยรับทำนิวไฮใหม่ที่ 2.9 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้นในทุกประเภทผลิตภัณฑ์  ในส่วนของ ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ TIPH ดร. สมพร สืบถวิลกุล ประกาศแผนธุรกิจประจำปี 2565 เดินหน้าการลงทุนใหม่ ผลักดันให้บริษัทลูกภายใต้ปีกของ TIPH สร้างมิติใหม่ให้กับธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย ยืนยันถึงความพร้อมด้านเงินทุน และจะสามารถรักษาอัตราการจ่ายเงินปันผล เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านการลงทุนให้ผู้ถือหุ้นในอนาคตได้

ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยังคงมีกำไรสุทธิรวม 1,843 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 3.07 บาท ในส่วนของรายได้ TIP มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 29,410 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 15.79 เทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นเบี้ยประกันภัยรับต่อปีที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับในทุกผลิตภัณฑ์ ประกอบกับมีรายได้และกำไรจากเงินลงทุนรวม 864 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 14.48 ส่งผลให้ TIP มีรายได้รวมทั้งหมดที่ 13,614 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในส่วนของงบการเงินรวมของบริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิสำหรับปี 2564 เท่ากับ 1,829 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 3.05 บาท ทั้งนี้เนื่องจากการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการเพิ่งแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564 และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทย่อยอยู่ระหว่างการพิจารณาการจ่ายเงินปันผล ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทของ TIPH จึงเห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาและอนุมัติงดการจัดสรรกำไรเพื่อเป็นทุนสำรองตามกฎหมายและงดการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2564 อย่างไรก็ดี ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัททิพยประกันภัย ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีมติเห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของทิพยประกันภัยพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตรา 1.50 บาทต่อหุ้นแล้ว ซึ่งเมื่อ TIPH ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของทิพยประกันภัย ได้รับเงินปันผลจากทิพยประกันภัยแล้ว คณะกรรมการบริษัทจะพิจารณาการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นของ TIPH ตามความเหมาะสมและตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับปีที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดผลกระทบกับภาพรวมของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยในวงกว้าง แต่เนื่องจาก TIP ไม่มีการขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด ประเภท เจอ จ่าย จบ ทำให้สามารถควบคุมความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดขึ้นให้อยู่ในวงจำกัด อีกทั้ง กรมธรรม์ประกันภัยโควิด ส่วนใหญ่ที่ให้ความคุ้มครองอยู่จะทยอยหมดอายุความคุ้มครองในไตรมาสที่ 2/2565 แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน TIP จึงยังคงมีการขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิดอยู่ แต่มีการปรับรูปแบบความคุ้มครองเฉพาะกรณีโคม่าเท่านั้น 

ในปี 2565 ถือเป็นปีแห่งการขยายธุรกิจของ TIPH หลังจากที่ในเดือน ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา TIPH เดินหมากแรกของปีด้วยการประกาศเข้าซื้อกิจการรวดเดียว 2 บริษัท เข้ามาอยู่ภายใต้โครงสร้างของกลุ่มธุรกิจสนับสนุนประกันภัย (Insurance Supported Business) ของกลุ่ม TIPH ได้แก่ บริษัท อะมิตี้ อินชัวร์รันซ์ โบรคเกอร์ จำกัด หรือ Amity ซึ่งประกอบธุรกิจตัวแทนและนายหน้าประกันวินาศภัย รวมถึงให้บริการงานที่เกี่ยวข้องกับงานสนับสนุนธุรกิจประกันภัย และผลิตภัณฑ์ประกันภัยครบวงจร และ บริษัท ดีพี เซอร์เวย์ แอนด์ลอว์ จำกัด หรือ DP Survey ซึ่งประกอบธุรกิจสำรวจอุบัติเหตุและประเมินความเสียหายในธุรกิจประกันวินาศภัย ตรวจสภาพรถยนต์ก่อนทำประกันภัย และบริการสนับสนุนงานประกันภัยแบบครบวงจร ซึ่งการเข้าลงทุนดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อวางโครงสร้างของกลุ่มธุรกิจสนับสนุนประกันภัย (Insurance Supported Business) ของกลุ่ม TIPH เพื่อพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) ในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มธุรกิจอย่างครบวงจร และรองรับการขยายธุรกิจของ TIP ในฐานะบริษัทแกนหลักของกลุ่ม และบริษัทประกันใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ให้กับการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม TIPH ในระยะยาว 

นอกจากนี้สำหรับแผนการลงทุนของ TIPH ในปี 2565 นั้น ดร. สมพร กล่าวว่า ก้าวต่อไปของ TIPH คือการเดินหน้าสร้างมิติใหม่ให้กับวงการประกันภัยในประเทศไทยให้ได้ภายในปี 2565 ด้วยการเร่งดำเนินการการศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าซื้อกิจการของบริษัทประกันภัย เพื่อรองรับการแยกหน่วยธุรกิจประกันภัยที่มีศักยภาพของบริษัทในกลุ่มออกเป็นบริษัทประกันภัยใหม่ (Spin-Off) อย่างน้อย 2 บริษัทในปีนี้ ในรูปแบบของบริษัทประกันภัยดิจิทัล 100% แห่งแรกของประเทศไทย และบริษัทประกันภัยตะกาฟุล (Takaful) แห่งแรกของประเทศไทย รวมทั้งการตั้งบริษัทด้านเทคโนโลยีสำหรับกลุ่มธุรกิจประกันภัย 100% หรือ Technology Company for Insurance Business แห่งแรกของประเทศไทย ให้เกิดขึ้นภายในปี 2565 นี้

ทั้งนี้ ความพร้อมของบริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่จะสยายปีกเพื่อเดินหน้าสู่การเป็นกลุ่มธุรกิจประกันภัยชั้นนำในภูมิภาคอย่างแท้จริงจากความแข็งแกร่งของโครงสร้างกลุ่มธุรกิจ และบริษัทลูกใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งโครงสร้างกลุ่มผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่ง ที่พร้อมสนับสนุนแผนการขยายธุรกิจ และ TIPH ยังได้รับการสนับสนุนแหล่งเงินทุนเป็นอย่างดีจากธนาคารพาณิชย์ชั้นนำในประเทศไทย ส่งผลให้มีต้นทุนทางการเงินที่แข่งขันได้ และยังมีแผนที่จะระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้ในอนาคตอีกด้วย ดังนั้น TIPH ยังคงยืนยันถึงความพร้อมด้านเงินทุนสำหรับการดำเนินธุรกิจตามแผนการดังกล่าว และไม่มีแผนที่จะเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นแน่นอน รวมทั้งเป้าหมายที่ทุกธุรกิจภายใต้กลุ่มของ TIPH ต้องเป็นธุรกิจที่มีกำไรเท่านั้น TIPH จึงมั่นใจว่าจะสามารถรักษาอัตราการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในระดับที่ไม่ต่ำกว่าเดิม และสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างยั่งยืนในอนาคตได้ ดร. สมพร กล่าวทิ้งท้าย

About the Author

Share:
Tags: นิตยสารอนุรักษ์ / อนุรักษ์ / anurakmagazine / อนุรักษ์แท็บลอยด์ / ทิพยประกันภัย / อนุรักษ์ออนไลน์ / เพื่อสังคม /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ