Wednesday, December 11, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

แม่วงก์ ดินแดนม่านหมอกห่มต้นไม้

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 2
เรื่อง/ภาพ: ธเนศ งามสม

แม่วงก์

ดินแดนม่านหมอกห่มต้นไม้

      ธรรมชาติ และสัตว์ป่า อีกทั้งนกนานาชนิด คือสิ่งที่สร้างความสมดุลและชุบชีวิตให้แก่โลกใบนี้ คนบางคนอาจไม่เห็นความสำคัญของสิ่งที่อยู่ไกลตัว ไกลเมือง เพราะเรื่องราวในป่าไม่หรูหราฟู่ฟ่าเหมือนในเมือง…ทว่พวกเราชาวอนุรักษ์ อยากให้คุณได้สัมผัสเรื่องราวที่เรียบง่ายแต่งดงามในผืนป่าแห่งนี้…แม่วงก์

๑…

      ช่องเย็น กลางฤดูหนาว ที่ความสูง 1,340 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ผมยืนอยู่ริมไหล่ดอย มองออกไป สายหมอกค่อยๆ ห่มคลุมผืนป่าราวผืนผ้า สีน้ำนม

      อุณหภูมิ 12 องศาเซลเซียส ท้องฟ้าครามใส ฝูงนกกระทุงสีขาวนวลบินลับไปทางทิศใต้ ฝูงนกพญาไฟเล็กสีสดใสบินโฉบจับแมลงตามเรือนยอดไม้

      ในโลกธรรมชาติ ฤดูหนาวคือโมงยามแห่งความรื่นรมย์ บรรดาสัตว์ป่าพร้อมกันเปลี่ยนสีสันเป็นมันเลื่อมสดใสเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม เตรียมพร้อมสำหรับให้กำเนิดทายาท

      เช่นเดียวกับนกเงือกคอแดงคู่นั้น พวกเขา เริ่มปรากฏตัวบ่อยครั้งบริเวณไหล่ดอย บางครั้ง ผมเห็นทั้งสองเกาะเคียงกันบนคบไม้ คลอเคลียกันราวคู่รักหนุ่มสาว

      นึกย้อนกลับไปเมื่อเก้าปีก่อน ผมพบพวกเขา ครั้งแรกบนยอดดอยสูง ในคราวนั้น พวกเขาเปิดโอกาสให้ได้เข้าใกล้ และนั่นทำให้ผมเริ่มเข้าใจว่าผืนป่าแม่วงก์สำคัญมากเพียงใด

“บ้าน”
      ..ปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ผมพบนิยามนั้นขณะเฝ้ารออยู่ในบังไพรแคบๆ บนยอดดอยซึ่งห่มคลุมม่านหมอกเหน็บหนาว

      แปดวันที่แล้ว ผมพบพวกเขาบินเคียงกันเหนือเรือนยอดไม้ แล้วลับหายไปบนยอดดอยสูงร่มครึ้ม

      ในวันที่ห้า พวกเขาเปิดโอกาสให้ผมเข้าใกล้ บนยอดดอยซึ่งต้นไม้ห่มคลุมด้วยมอสและ ฝอยลมระโยงระยางราวกับหนวดเคราของ ชายชรา ขณะแนบตาผ่านช่องมองภาพ ทั้งสีสันสดใส ไรขน แววตา ทุกอากัปกิริยานั้นกระจ่างชัดอยู่เบื้องหน้า

      เจ้านกเงือกคอแดงหนุ่มโผขึ้นเกาะบน กิ่งไม้ นกเงือกสาวซึ่งมีดวงตาล้อมด้วยวงสีฟ้าสดโผขึ้นตาม แล้วเจ้านกหนุ่มก็ปลิดลูกหว้าสุก “ป้อน” แด่นกเงือกสาว

      บนยอดดอยหนาวเหน็บ ขณะแนบตาผ่านช่องมองภาพ นอกจากความงดงามที่ปรากฏตรงหน้า ผมยังพบว่า กำลังมองเห็นภาพอีกใบ

      ภาพ “บ้าน” อันอุดมด้วยไม้น้อยใหญ่ ที่ซึ่ง หยดน้ำเย็นใสค่อยๆ ผุดซึมจากผืนดินจากรากไม้

ม่านหมอกขาวโอบกอดป่าดิบเขาสมบูรณ์แห่งแม่วงก์

นกพญาไฟเล็กตัวผู้ น่าชมด้วยสีแดงสดใส บ้านของนกเงือกคอแดง บ้านของเรา

๒…

      นกกางเขนน้ำหัวขาวบินลับไปตรงโค้งธาร มันเป็นนกกางเขนน้ำตัวแรกที่ผมพบในลำห้วยแม่กระสา ลำห้วยใจกลางป่าแม่วงก์

      เมื่อวานเราลงมาจากช่องเย็นแล้วใช้ทางตรวจการณ์แยกขวาไปยัง “แคมป์แม่กระสา”

      “อาทิตย์ก่อนเราก็เข้ามาครับ มาติดกล้องดักถ่ายภาพเสือ ปีนี้เราจะสำรวจประชากรเสือกันจริงจังแล้ว” วีระ เอี่ยมสอาด เพื่อนพิทักษ์ป่า เล่าพลางชี้ให้ดูจุดติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ

      วีระอยู่ในทีมถ่ายภาพเสือ การสำรวจประชากร “สัตว์ผู้ล่า” จะทำให้เรารู้ว่าควรดูแลป่าแม่วงก์ในอนาคตเช่นใด

      ตะวันบ่ายคล้อยเมื่อเรามาถึงแคมป์ แม่กระสา ตรงริมลำห้วยมีเพิงไม้ไผ่เล็กๆ 2 หลังพออาศัยทำอาหารหลบสายลมหนาว

      ขณะเพื่อนๆ จัดเตรียมอุปกรณ์เดินป่า ความทรงจำเก่าๆ ก็ค่อยๆ ผุดเข้ามา

      ระหว่างเดินข้ามลำห้วยโค้งแรก ผมเล่าให้ทุกคนฟังว่า เคยแวะพักแคมป์นี้ 2 ครั้งด้วยกัน ระหว่างทางไปโมโกจู-ดอยสูงสุดแห่งป่าแม่วงก์ และอีกครั้งคราวสำรวจน้ำตกแม่กีน้ำตกสูงชันใจกลางป่า

      คล้ายกับครั้งนี้ เรากำลังข้ามลำห้วย แม่กระสา ทวนทางขึ้นไปยังจุดซึ่งสายน้ำแม่กระสาโจนจากผาสูง

      ท้องฟ้าอึมครึมขณะเราออกจากแคมป์ ข้ามน้ำแม่กระสาครั้งแรกก็พบรอยฝูงช้างป่า วีระบอกว่าเจอรอยพวกเขาครั้งแรกเมื่อ 10 ปีก่อน ระหว่างเดินขึ้นดอยโมโกจู

      ตะวันผลุบหายอยู่ใต้เมฆหนา รอยทางรางๆ นำเราเข้าไปในป่าดิบเขา ต้นไม้สูงใหญ่แผ่เรือนยอดห่มคลุมราวอุโมงค์ซับซ้อน กว่าสิบครั้งที่เราเดินข้ามน้ำ บางช่วงไต่เลาะไปบนไหล่ดอย บางช่วงเราเดินไปบนทางด่านสัตว์ป่า

เสือไฟ สัตว์ตระกูลแมวขนาดใหญ่สุดในบ้านเรา พบอาศัยบริเวณช่องเย็น

      ใครบางคนชี้ให้ดูรอยกระทิงใหม่ๆ ทางด่านนี้ค่อนข้างใหญ่ ทอดขนานไปกับลำห้วยแม่กระสา รอยทางชัดเจนราวกับถนนสายย่อม

      บริเวณนี้คงเป็นบ้านอันสมบูรณ์ของกระทิง วีระจดจำตำแหน่ง เขาวางแผนจะเข้ามาติดตั้งกล้องในโอกาสหน้า

      เลยทางด่านของกระทิง เพื่อนป่าไม้อีกคนเดินนำขึ้นสันดอย ไม่นานเราก็ได้ยินเสียงน้ำโจนแว่วอยู่เบื้องหน้า

      ขณะแดดบ่ายฉายส่อง เราก็พบตนเองอยู่เบื้องหน้าแม่กระสาชั้นแรก ที่ซึ่งน้ำโจนตกจากแผ่นผา

      จะว่าไป ไม่เพียงแต่นกยูงไทย ซึ่งองค์การอนุรักษ์ธรรมชาติระหว่างประเทศ (IUCN) รายงานสถานการณ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ว่าอยู่ในภาวะวิกฤติ ช้างป่าซึ่งอาศัยอยู่ริมลำห้วยแม่เรวา ก็จัดอยู่ในสายพันธุ์ที่น่าห่วงใย

นกยูงสายพันธุ์ไทย รำแพนหาง อวดแววมยุรา ณ หาดทรายแก่งลานนกยูง ริมลำห้วยแม่เรวา

      แนวหน้าผานั้นตั้งตระหง่าน สีขาวเจือน้ำตาล สูงลับขึ้นไปกับท้องฟ้า มีน้ำสีขาวสองสายโจนดิ่งคู่กันลงมา

      “คนแต่ก่อนเล่าว่า ที่ชื่อแม่กระสาเพราะทั้งผาหินและน้ำตกเป็นสีขาว ขาวนวลเหมือนขน นกกระสา” วีระเล่า

      เรานั่งลงพักตามโขดหิน กินมื้อเที่ยงแบบง่ายๆ ที่ตระเตรียมมา เสียงแหลมใสของนกกางเขนน้ำหัวขาวดังแว่วบนหน้าผา

      บรรยากาศเงียบสงบ ราวกับโลกอีกใบ

      น่าแปลกใจที่ผืนป่าแม่วงก์รักษาความสมบูรณ์และความงดงามไว้เช่นนี้

นกเงือกคอแดงตัวผู้ งดงามด้วยชุดขนสีสนิมเหล็กและวงสีฟ้าสดใสรอบดวงตา

About the Author

Share:
Tags: ป่า / Mae Wong National Park / Mae Wong / แม่วงก์ / ธรรมชาติ / สัตว์ป่า / ต้นไม้ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ