Monday, October 14, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป สัมภาษณ์

ชายหลวง ดิษฐะบำรุง กับความสุข ที่ได้อยู่กับธรรมชาติ

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 21
เรื่อง: อรรยา จารุบูรณะ
ภาพ: จันทนกลาง กันทอง

ชายหลวง ดิษฐะบำรุง

กับความสุข ที่ได้อยู่กับธรรมชาติ

เส้นทางชีวิตของใครหลายคนอาจเรียกได้ว่าจาก ‘ป่าสู่เมือง’ เดินทางจากชนบทมุ่งเข้าสู่ความเจริญของเมืองหลวงตรงข้ามจากชีวิตที่เรียกได้ว่าเป็น ‘เมืองสู่ป่า’ ของ คุณซี-ชายหลวง ดิษฐะบํารุง เจ้าของศรีนวลลอดจ์ โรงแรมเล็กๆ แต่น่ารัก ซึ่งได้รับความนิยมติดอันดับท็อปของจังหวัด น่าน ที่เลือกหันหลังให้เมืองหลวงแล้วตัดสินใจไปใช้ชีวิต พร้อมสืบทอดกิจการของครอบครัวที่จังหวัดน่านมานาน กว่า ๖ ปี ในมุมหนึ่งเขาคือนักธุรกิจที่ประกอบกิจการ โรงแรม แต่ในอีกมุม เขาคือคนหนุ่มผู้หลงรักในธรรมชาติ และอุทิศตัวให้การฟื้นฟูดูแลต้นไม้ ป่า และน้ํา โดยเฉพาะ ในจังหวัดน่านที่เขาเลือกจะเรียกว่าบ้านในปัจจุบัน

“ผมเคยทํางานเป็นผู้กํากับมิวสิกวิดีโอ ทําบริษัทโพสต์โปรดักชัน ที่คลุกคลีอยู่กับแวดวงโทรทัศน์ โฆษณา แต่หลังจากที่ผมบวชให้คุณย่า ตอนที่ท่านเสีย ทําให้รู้สึกว่าทําไมชีวิตที่ผ่านมาของตัวเองมันวุ่นวาย ขนาดนี้ ประกอบกับตอนนั้นกิจการโรงแรมที่เป็นของครอบครัวไม่มี คนดูแล ผมก็เลยเลือกกลับมาอยู่ที่น่าน และพบว่ามันมีความสุขและ ความสงบกว่ามาก” คุณซีกล่าว เขาบอกว่า จริงๆ แล้วเขาเป็นเพียง คนธรรมดา เป็นผู้ประกอบการคนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในสายวิชาการ เป็นคนเรียนศิลปะที่ชอบต้นไม้ และเพราะความเป็นคนรักต้นไม้นี่เองที่ทําให้มีโอกาสได้ไปคลุกคลีอยู่กับโครงการต่างๆ จนเรียกว่าเป็นเพราะต้นไม้ที่ดึงเขาเข้าไป

โครงการที่คุณซีเข้าไปมีส่วนร่วมมากมายไม่ว่าจะเป็นการตัวแทน กลุ่มอนุรักษ์อุโมงค์ต้นไม้ เป็นหนึ่งในทีมงานของโครงการปลูกเลยหรือการเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มผู้รณรงค์ฟื้นฟูแหล่งน้ําของชุมชนบ้าน ห้วยก๋วง ที่ล้วนมีความเชื่อมโยงต่อกันทั้งในแง่ของคนทํางานและจุดประสงค์ในการรักษาธรรมชาติ แม้จะกล่าวว่าตัวเองเป็นเพียงคนธรรมดาที่รักต้นไม้ แต่ความตั้งใจของเขากลับไม่ธรรมดา และ กลายเป็นเรื่องราวที่ทําให้รู้ว่า ไม่ว่าเราจะเป็นใครก็มีส่วนช่วยในการ อนุรักษ์และพัฒนาธรรมชาติได้เช่นเดียวกัน

อุโมงค์ต้นไม้ จุดเริ่มต้นแห่งการอนุรักษ์

ความสวยงามของทิวทัศน์สองข้างทางจากตัวเมืองน่านขึ้นไปสู่ อําเภอท่าวังผาคือเส้นทางที่ร่มครึ้มด้วยไม้ใหญ่เช่นต้นสัก มะค่าโมง เหมือนเป็นอุโมงค์ต้นไม้ที่มีความยาวต่อเนื่องกันประมาณ ๑๕ กิโลเมตร จวบจนเมื่อทางราชการมีนโยบายขยายไหล่ทางถนนจําเป็นต้องตัดต้นไม้สองข้างทางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณซีเองในฐานะ คนน่านที่รักต้นไม้จึงตั้งใจอยากทําโครงการเพื่อเก็บภาพความงดงามดังกล่าวไว้ก่อนที่ไม้ใหญ่จะถูกตัดโค่นลง แต่การลงพื้นที่กลับทําให้ ทราบภายหลังว่าจริงๆแล้วยังมีหนทางที่จะรักษาไม้ใหญ่ต่างๆ ไม่ให้ถูกตัดได้

“ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ได้ต่อต้านการตัดต้นไม้ แต่ที่นี้พอมีข่าว ออกไป ก็มีคําถามกลับมาว่าแล้วทําไมทางการต้องตัด และเมื่อไปค้นหาคําตอบ ก็ทําให้รู้ว่าจริงๆแล้วต้นไม้กว่า ๙๐% จะไม่โดนตัด แต่เนื่องจากหลักทางวิศวกรรมที่ต้องเคลียร์พื้นที่เพื่อทํางานจึงทําให้ต้องตัดต้นไม้ออก”

ข้อมูลดังกล่าวทําให้มีประชาชนบางส่วนรวมตัวกันเป็นกลุ่ม อนุรักษ์อุโมงค์ต้นไม้ ลงมือสํารวจพื้นที่เพื่อหาทางออกที่พวกเขาเชื่อว่ามีมากกว่าการตัดต้นไม้ที่ถือเป็นมรดกทางธรรมชาติ “คนที่มา รวมกลุ่มกันเป็นประชาชนล้วนๆ เป็นหมอบ้าง ครูบ้าง เด็กนักเรียน ตัวผมอาสาเป็นทีมสํารวจพื้นที่ ลงไปวัดต้นไม้ทุกต้น แล้วทําตารางให้หน่วยงานราชการดูว่าเราสามารถเก็บต้นไม้บางส่วนไว้ได้นอกจากนี้ ยังเสนอมุมมองอีกด้าน ด้วยการทําถนนแบบคู่ขนานแทน โดยเว้น อุโมงค์ต้นไม้ด้านหนึ่งไว้เป็นเกาะกลาง ซึ่งจากพื้นที่แล้วสามารถทําได้ แต่ขึ้นอยู่กับทางราชการว่าจะทําหรือไม่”

จากความพยายามในการรณรงค์และหาทางออกร่วมกัน เกิดเป็น ผลสรุปโดยมีมติให้เก็บอุโมงค์ต้นไม้ช่วงที่มีต้นไม้หนาแน่นไว้ “เราขอไป ๔.๗ กิโลเมตร แต่ทางการเขาเหลือไว้ให้แค่ ๘๐๐ เมตร ส่วนเรื่องการทําถนนแบบคู่ขนานที่เราเสนอไป ยังอยู่ในขั้นตอนของ การรองบประมาณ ซึ่งยังไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร”

จากต้นไม้สู่ป่าปลูก

นอกจากอุโมงค์ต้นไม้แล้วคุณซีมีโอกาสได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งใน ทีมงานของโครงการปลูกเลย ที่มีศิลปินชื่อดังอย่างโจอี้บอย เป็นตัวตั้ง ตัวตีในการปลูกป่าบนพื้นที่ป่าของจังหวัดน่าน ซึ่งถูกทําลายลงจาก การทําไร่ข้าวโพดกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ไร่ โดยเขาเป็นสตาฟในทีม ซึ่งต้อง เข้าไปเตรียมพื้นที่ก่อนปลูก รวมถึงการขนของและหาอุปกรณ์ เรียกว่าเป็นงานเหนื่อยแต่คุ้มค่า

“ในความรู้สึกผม ปลูกป่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก อยู่ที่การดูแลรักษาที่ยากกว่า ทีมของปลูกเลยเข้าไปหาพื้นที่ที่ เหมาะสมจริงๆ ในการเริ่มโครงการ ที่เลือกหมู่บ้านยอดดอยพัฒนา เพราะชาวบ้านในพื้นที่ให้ความร่วมมือและช่วยดูแล เพราะต่อไป มันจะกลายเป็นแหล่งน้ําที่สําคัญของเขาด้วย ป่าปลูก ๒๐๐ ไร่ เมื่อเทียบกับ ๕๐๐,๐๐๐ ไร่ที่หายไปถือเป็นพื้นที่ที่เล็กมาก แต่ถ้าเรา มองว่าเล็ก มันก็จะเล็ก แล้วก็จะไม่ได้เริ่มสักที”

จากผืนป่าสู่ต้นนํ้า

ด้วยความที่คลุกคลีอยู่กับคนทํางานเรื่องป่า ต้นไม้ และธรรมชาติ มาพักใหญ่ สุดท้ายจึงโยงมาจนถึงเรื่องน้ํา ที่เขากําลังรณรงค์เรื่อง การงดใช้สารเคมีในการปลูกพืช เนื่องจากพิษสะสมที่ทําให้ชาวบ้านไม่สามารถนําน้ําจากแหล่งน้ําในธรรมชาติมาใช้อุปโภคและบริโภคได้โดยเริ่มจากที่หมู่บ้านห้วยก๋วง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถือเป็นต้นน้ําของแม่น้ําน่าน

“พอทําเรื่องป่า ผมก็มีโอกาสได้ลงพื้นที่ซึ่งเป็นหมู่บ้านต้นน้ําของน่าน ปัญหาที่พบคือ ชาวบ้านบอกว่าไม่มีน้ําใช้ เพราะฝายที่ทางการ เคยมาทําไว้เกิดพัง น้ําที่ไหลลงมามีความแรงมากเนื่องจากไม่มีป่า คอยกัน และน้ํายังชะสารเคมีที่อยู่ในดิน เช่น ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นยาที่ใช้กับข้าวโพดมาทับถม น้ําที่มีจึงบริโภคไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็น สถานการณ์ร้ายแรงจริงๆ

ชาวบ้านเองก็รู้ว่าเป็นผลที่เกิดจากสารเคมี ที่ใช้ แต่ทําอะไรไม่ได้เพราะการหยุดใช้สารเคมีแค่คนสองคน ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นจึงต้องมีคนกลางเข้าไปบอกว่าทุกคนต้องหยุดการใช้สารเคมีก่อนจึงจะฟื้นฟูสถานการณ์ได้ เริ่มที่ใกล้แหล่งน้ําเพื่อให้ มีน้ําใช้ในการอุปโภคได้ก่อน จากนั้นค่อยขยายพื้นที่ออกไป เช่น การปลูกต้นไม้ที่ช่วยดูดซับสารเคมี เช่น แฝก หรือต้นดาวเรือง”

หลากหลายโครงการที่ลงพื้นที่ไปคลุกคลีต้องใช้เวลาและแรงกายไม่ใช่น้อย และใช่ว่าคุณจะสามารถทุ่มเททําได้อย่างเต็มตัว เนื่องจาก ในอีกแง่มุมหนึ่ง เขาเองก็ยังมีงานส่วนตัวที่ต้องดูแล เราจึงอดไม่ได้ ที่จะถามว่าเพราะเหตุใดเขาจึงเลือกทําในสิ่งที่หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องในอุดมคติเกินไป

“ผมคิดว่าเมื่อเราออกไปสร้างสมดุลให้ธรรมชาติแล้ว เราก็ต้องสร้างสมดุลให้ชีวิตเราด้วย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องอธิบายให้คนในครอบครัวหรือลูกน้องเข้าใจว่า ช่วงไหนที่ผมไม่อยู่ ให้ช่วยกันดูงานผมคิดว่าชีวิตคือการสร้างสมดุล เพราะฉะนั้นเราจะไม่คิดว่าจะหยุดช่วยสังคมเพื่อกลับไปดูแลตัวเองอย่างเดียว หรือในทางกลับกันที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เรื่องไหนต้องทําก่อนก็ทําอันนั้น ไม่จําเป็น ที่เราต้องทุ่มเทลงพื้นที่ตลอดเวลา หรือไม่จําเป็นที่เราต้องอยู่ในถ้ําของตัวเองตลอดเวลา ผมว่าการช่วยรักษาธรรมชาติ ถ้าสังคมไม่ช่วยกัน แล้วใครจะช่วย ในขณะเดียวกันก็มีวิธีมากมายที่จะช่วย โซเชียลก็ ช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ การช่วยสมทบทุน ช่วยด้วยแรงอาสา ทําได้หมด และเมื่อได้ช่วยสักครั้ง เราจะรู้ว่าการที่เราได้ช่วยอีกหนึ่งชีวิตไว้ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ คน หรืออะไรก็แล้วแต่ มันจะเสพติดนะ เสพติดความดี เสพติดความอิ่มเอิบข้างในใจ

ทุกวันนี้ผมเจอแล้วว่า ความสุขที่แท้จริงคือการอยู่กับธรรมชาติ การได้ดูแลธรรมชาติ การได้พึ่งพาธรรมชาติ ธรรมชาติในที่นี้คุณ ไม่ได้ต้องเข้าไปในป่า ลองนึกดูว่าแค่มองต้นไม้เขียวๆ เราก็มีความสุข แล้ว นั่นแหละคือธรรมชาติ”

About the Author

Share:
Tags: สิ่งแวดล้อม / ต้นไม้ / ป่า / ปลูกต้นไม้ / ชายหลวง ดิษฐะบำรุง / ฉบับที่ 21 / ธรรมชาติ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ