นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2567
เรื่อง: ชาธร โชคภัทระ
ภาพ: Shutterstock
ภูเก็ตโอลด์ทาวน์
สถาปัตย์งามข้ามกาลเวลา
เมืองจะมีชีวิตได้ก็เพราะผู้อยู่อาศัยสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น สถาปัตยกรรมที่ก่อตัวด้วยความบรรจง กลายเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละถิ่น สะท้อนวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อ และประเพณีนิยมสืบต่อ “เมืองเก่าภูเก็ต” คือหนึ่งในนั้น เมืองที่มีสถาปัตยกรรมเป็นเอกลักษณ์ ตอบสนองการใช้ชีวิตของผู้คน ขณะเดียวกันก็งดงามด้วยศิลปะกรรมการออกแบบ และบอกเล่าร่องรอยของยุคล่าอาณานิคมตะวันตก ซึ่งแผ่เข้ามาในสยามเมื่อร้อยกว่าปีก่อนได้เป็นอย่างดี
จังซีลอน ไข่มุกอันดามัน
ภูเก็ต คือเกาะใหญ่ที่สุดของไทย รวมถึงเป็นความเมืองใหญ่ที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูด้วยการค้า มีคนหลากเชื้อชาติเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่นับร้อยปีแล้ว ในอดีตภูเก็ตคือสวรรค์ของการทำเหมืองแร่ดีบุก เป็นที่รู้จักของนักเดินเรือระหว่างจีนกับอินเดีย ยุคที่ยุโรปเดินเรือมาค้าขายและแสวงหาอาณานิคมเรียกเกาะภูเก็ตว่า “จังซีลอน” (Jungceylon) เป็นท่าเรือและศูนย์กลางการค้าในบริเวณภาคใต้ของสยาม จึงอาจกล่าวได้ว่าจังซีลอนเฟื่องฟูขึ้นด้วยแร่ดีบุก กระทั่งหลังจากพม่าตกเป็นอาณานิคมอังกฤษ ราคาดีบุกพุ่งสูง ภูเก็ตก็ยิ่งคึกคัก ชาวจีนจากปีนังและสิงคโปร์เริ่มอพยพเข้ามาทำเหมือง
โคโลเนียลสไตล์ สถาปัตย์สะท้อนชีวิต
คนเชื้อสายจีนจำนวนมากที่สุดในภูเก็ตคือ“ฮกเกี้ยน” โดยในยุคแรกเริ่มเหล่าเจ้าสัวนิยมส่งลูกหลานไปเรียนที่เมืองปีนัง เพราะเป็นศูนย์กลางการค้าของแหลมมลายู ลูกหลานจีนฮกเกี้ยนจึงได้รับอิทธิพลต่างๆ จากปีนัง ที่เห็นชัดบนเกาะภูเก็ตคือ “สถาปัตยกรรมยุคอาณานิคม” (Colonial Architecture) ลักษณะเป็นอาคารครึ่งจีนครึ่งยุโรปเรียกว่า “ตึกชิโน-โปรตุกีส” (Chino-Portuguese) หรือ “ตึกชิโน-ยุโรเปียน” (Chino-European) แม้ภายหลังจะมีอิทธิพลของอังกฤษและดัชต์แผ่เข้ามา แต่ก็ยังนิยมเรียกว่าชิโน-โปรตุกีสอยู่ดี การเรียกอาคารโบราณเหล่านี้ว่า ชิโน-โปรตุกีส เพราะชาวโปรตุเกสคือประเทศนักล่าอาณานิคม ผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำการค้าบริเวณเมืองท่ามะละกา แล้วนำวิทยาการตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ด้วย ในด้านสถาปัตยกรรมนั้นช่างชาวจีนได้นำผังก่อสร้างของโปรตุเกสไปดำเนินการ แต่มีการดัดแปลงด้วยการตกแต่งลวดลายบางส่วนตามคติความเชื่อจีน เกิดการผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมจีนและโปรตุเกส กลายเป็นศิลปะแนวใหม่อันมีเอกลักษณ์ ส่วนในเมืองเก่าภูเก็ตมีศัพท์เฉพาะใช้เรียกลูกครึ่งจีนผสมมลายูท้องถิ่นว่า “บาบ๋า ย่าหยา” หรือ “เปอรานากัน” (Peranakan)
สถาปัตยกรรมโคโลเนียลชิโน-โปรตุกีสในเมืองเก่าภูเก็ต มีลักษณะเด่นด้านการออกแบบอาคาร พอสังเกตได้ ๕ อย่าง คือ อาคารมักเป็นสี่เหลี่ยมสมมาตร (Square and Symmetrical Shape) มีการเน้นประตูทางเข้าที่กึ่งกลางอาคาร (Central Door) มีการใช้ชุดเสาสูงเป็นแนวรับชายคากว้าง (Colonnade) ป้องกันแดด ลม ฝน และเป็นซุ้มเพื่อเน้นทางเข้าออก ประการถัดมาคือมีการออกแบบแนวเส้นประตูหน้าต่างให้เป็นระเบียบในแนวเดียวกัน ผนังส่วนใหญ่ใช้ไม้ตีซ้อนเกล็ดสลับโครงสร้างปูน นิยมตกแต่งด้วยบัวปูนปั้นรอบชายคา บัวหัวเสา และรอบกรอบหน้าต่าง สุดท้ายคืออาคารแบบนี้มักมีระเบียงโดยรอบ
อาคารชิโน-โปรตุกีสในภูเก็ตมีอายุร้อยปีแล้ว สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕-๗ พบมากบริเวณถนนรัษฎา ถนนถลางถนนกระบี่ ถนนดีบุก ถนนเทพกระษัตรี และถนนเยาวราช โดยแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ “เตี้ยมฉู่” (ตึกแถว) และ “อั่งม้อหลาว” (คฤหาสน์) เตี้ยมฉู่เป็นตึกแถวสองชั้นกึ่งที่อยู่อาศัยกึ่งร้านค้า ลักษณะหน้าแคบแต่ลึก ชั้นล่างแบ่งตามความลึกได้ถึง ๕ ส่วน ด้านหน้าเป็นร้านค้าหรือสำนักงาน ถัดเข้าไปเป็นห้องรับแขก ห้องพักผ่อน ห้องอาหาร ห้องครัว ภายในอาคารมักมี “ฉิ่มแจ้” หรือบ่อน้ำบาดาลหนึ่งบ่อ ใช้ทั้งเพื่ออุปโภคบริโภคและสร้างความเย็นให้อากาศภายในบ้าน นอกจากนี้ยังมีการเจาะช่องให้อากาศถ่ายเท แสงส่องถึง ตึกแถวในภูเก็ตจึงเย็นสบาย ส่วนที่ชั้นสองใช้เป็นห้องนอน
จุดเด่นอีกอย่างของตึกชิโน-โปรตุกีส คือหน้าตึกแถวมีทางเดิน (ฟุตพาท-Footpath) สร้างเป็นซุ้มโค้งเชื่อมกันไปตลอดแนว เรียกว่า “อาเขต” (Arcade) หรืภาษาจีนฮกเกี้ยนว่า “หง่อคาขี่” แปลว่า “ทางเดินห้าฟุต” เทียบเท่าระยะ ๑.๕ เมตร โดยมีชั้นบนยื่นล้ำออกมาเป็นหลังคากันแดดกันฝนซึ่งตกเกือบตลอดปี อาเขตจึงนับเป็นสถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับภูมิอากาศของปักษ์ใต้ อีกทั้งยังแสดงความเอื้ออารีของเจ้าบ้าน ที่ห่วงใยผู้สัญจรไปมาว่าจะร้อนหรือเปียกฝนหรือไม่ เหลือบมองสูงขึ้นไปบนชั้นสอง จะเห็นการเจาะช่องหน้าต่างเป็นซุ้มโค้งเกือกม้าคูหาละ ๓ ช่อง ขนาบข้างด้วยเสากรีกและโรมันยุคคลาสสิก หัวเสาเป็นแบบดอริก (Doric) ไอโอนิก (Ionic) และโครินเธียน (Corinthian) เรียกงานศิลป์แนวนี้ว่า “นีโอ-คลาสสิก” (Neo-classic) ส่วนบนผนังและเหนือบานประตูหน้าต่าง นิยมประดับลายปูนปั้นนูนต่ำสไตล์จีนผสมตะวันตกอย่างวิจิตร เอกลักษณ์อีกอย่างของอาคารชิโน-โปรตุกีส คือนิยมสร้างซุ้มโค้งครอบเชื่อมเหนือหัวเสา เรียกว่า “โคลอนเนด” (Colonnade) เพิ่มความอ่อนช้อยให้รูปลักษณ์โดยรวมอันแข็งแกร่งของสถาปัตยกรรมกรีกและโรมัน หน้าต่างด้านหน้าอาคารสร้างให้โค้งยาวลงเกือบจรดพื้น ชั้นสองสร้างราวระเบียงตามแบบตะวันตก สำหรับหลังคาบ้านนิยมสร้างให้สูงและลาดชันเพื่อให้บ้านเย็น มุงหลังคาด้วยกระเบื้องกาบู เป็นกระเบื้องดินเผารูปทรงคล้ายไม้ไผ่ผ่าซีกเรียงสลับไปมา
ตึกโบราณ ในม่านกาลเวลา
อาคารลูกผสมจีนยุโรปในเมืองเก่าภูเก็ตผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน จนบางส่วนทรุดโทรมไปตามสภาพ เมื่อมีการปรับปรุงก็อาจถูกทุบทิ้งหรือเปลี่ยนแบบแปลนจนเสียเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีส เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เทศบาลนครภูเก็ตจึงเริ่มอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า กำหนดให้พื้นที่ประมาณ ๒๑๐ ไร่ ครอบคลุมถนนรัษฎา ถนนพังงา ถนนเยาวราช ถนนกระบี่ ถนนดีบุก ถนนถลาง และถนนเทพกระษัตรี เป็นพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ควบคุมให้อาคารต้องสูงไม่เกิน ๑๒ เมตร และส่งเสริมให้อนุรักษ์อาคารดั้งเดิมไว้
ย่านตึกเก่ามีการซ่อนแซมปรับปรุง ทาสีใหม่แบบวินเทจในโทนเดียวกัน และมีการตกแต่งไฟในยามราตรี เปิดรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาสัมผัส โดยเฉพาะช่วงเย็นวันเสาร์อาทิตย์ที่มีการปิดถนนย่านเมืองเก่าเป็นถนนคนเดิน ออกร้านขายของ ทำให้คนท้องถิ่นเห็นคุณค่าในมรดกศิลป์ของตน ขณะเดียวกันผู้มาเยือนก็ได้ซึมซับสีสันทางวัฒนธรรม ตราบเท่าที่ลูกหลานชาวภูเก็ตยังคงรักษ์และปกป้อง “ภูเก็ต Old Town” ของพวกเขาไว้ ตราบนานเท่านาน