ฝนตกติดต่อกันมาหลายวัน ทำให้น้ำในคลองเปลี่ยนเป็นสีขุ่นแดง ตัดกับท้องฟ้าสีครามขนาบด้วยความเขียวขจีของป่าโกงกางซ้ายขวา บริเวณนี้คือพื้นที่ป่าชายเลนผืนใหญ่ เนื้อที่ประมาณ ๖,๐๐๐ ไร่ ที่ชาวบ้านตำบลหนองคันทรง อำเภอเมือง จังหวัดตราด ได้ร่วมกันดูแลรักษาเพราะเป็นแหล่งทำมาหากิน หล่อเลี้ยงชีวิตมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ
ผู้ใหญ่สายชล สุเนตร ผู้ใหญ่บ้านท่าระแนะ หมู่ ๒ เล่าให้ฟังระหว่างล่องเรือว่า เฉพาะป่าชายเลนที่อยู่ในเขตบ้านท่าระแนะมีประมาณ ๒,๕๐๐ ไร่ ด้านในมีคลองย่อยสายเล็กๆ เชื่อมกันเป็นใยแมงมุม เส้นทางล่องเรือที่เรากำลังไปจะผ่าน ๓ ป่า คือ ป่าโกงกาง ป่าตะบูน และป่าจาก ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลนผืนที่ยังอุดมสมบูรณ์ของตราด ซึ่งชาวบ้านได้รวมตัวกันในนาม “กลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนบ้านท่าระแนะ” ร้อยเรียงเรื่องราวเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิต พร้อมชิมเมนูอร่อยของท้องถิ่น
บ้านท่าระแนะ
อู่ข้าวอู่น้ำที่ชุมชนร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษา
เรื่อง / ภาพ: ธนิสร หลักชัย
เดิมบริเวณนี้เป็นที่จอดเรือหลบคลื่นลมและเทียบท่าค้าขาย เมื่อเรือเสียก็จอดทิ้งจนผุพังเหลือแต่ซากระแนะหรือท้องเรือเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านท่าระแนะ จากคลองสายใหญ่แยกเข้าคลองเล็ก ผู้ใหญ่สายชลทักทายลุงกับป้าที่ล่องเรือเข้ามาวางลอบปู ดูจากลอบจำนวนไม่น้อย บอกได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำที่นี่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวบ้านจะหวงแหนรักษาพื้นที่ซึ่งเปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของพวกเขา เรือเทียบท่าเกือบสุดปลายคลอง เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนพาเราไปสุดทางที่ลานตะบูน มองเห็นรากของต้นตะบูนพันเกี่ยวถักทอกันไปมา เป็นภาพแปลกตาของธรรมชาติที่สวยงามลึกลับราวกับป่าในเทพนิยาย จึงถูกเรียกว่า “มหัศจรรย์ลานตะบูน” มีชิงช้าให้นั่งรับลมและมีกิจกรรมเล็กๆ โดยนำรากไม้มาแทนพิน ใช้ลูกตะบูนแทนลูกโบว์ลิ่ง ให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมสนุก
ต้นตะบูนบริเวณนี้ได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมให้เป็น “รุกข มรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี” เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษา ผู้ใหญ่สายชลชี้ให้ดูไม้กาฝากชนิดหนึ่ง เมื่อต้นแก่จะมีลักษณะเป็นหัวกลมโตขนาดเท่าผลมะพร้าว ผ่าออกมาจะเป็นรูพรุน เรียกว่า หัวร้อยรูหรือว่านหัวร้อยรู สมุนไพรที่นำมาทำ “ชาร้อยรู” ซึ่งว่านหัวร้อยรูได้รับการวิจัยว่า มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระและลดน้ำตาลในเลือด ที่นี่จึงมีสโลแกนว่า “ดื่มชาร้อยรู แล้วจะอยู่ร้อยปี” พืชพันธุ์ในป่าชายเลนแต่ละชนิดล้วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน อย่างลูกตะบูนที่นำมาต้มเป็นสีย้อมผ้า ย้อมแห อวน เพราะสีสวยคงทน ซักแล้วสีไม่ตก ถูกต่อยอดมาทำเป็นเสื้อมัดย้อมเพื่อจำหน่าย และยังจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ออกแบบลวดลาย ต้มย้อมด้วยตัวเองแล้วนำเสื้อที่เรียกได้ว่าเป็นตัวเดียวในโลกกลับไปด้วย
ชาวบ้านในชุมชนยังสืบสานภูมิปัญญาการเย็บหมวกงอบด้วยใบของต้นจาก โดยดีไซน์ออกมาหลายรูปแบบตามลักษณะการใช้งาน ใส่ไปทำสวน วางลอบปู ออกไปวางตาข่ายดัก ส่วนเมนูท้องถิ่นที่ต้องลองชิมก็คือ แกงส้มปลากระบอกใส่สับปะรด ต้มปลากระบอกระกำ น้ำพริกไข่ปู บอกได้คำเดียวว่า รสมือของคนบ้านท่าระแนะถูกปากจนลืมว่าเติมข้าวไปแล้วกี่รอบ
ข้อมูลท่องเที่ยว
– บ้านท่าระแนะ หมู่ ๒ ต.หนองคันทรง อ.เมือง จ.ตราดโทร. ๐๘ ๑๑๖๑ ๖๖๙๔ (ผู้ใหญ่สายชล สุเนตร)
– พื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านท่าระแนะตั้งอยู่ในเขตป่าชายเลน การเข้าถึงในบางพื้นที่ของกิจกรรมท่องเที่ยวต้องดูเวลาขึ้น-ลง ของระดับน้ำทะเล จึงควรโทรสอบถามรายละเอียดจากทางชุมชนก่อนล่วงหน้า