Thursday, November 7, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ เก็บคุณค่าความงามงดไว้บนผืนแผ่นดิน

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 4
เรื่อง: เจนจบ ยิ่งสุมล
ภาพ: พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้

เก็บคุณค่าความงามงดไว้บนผืนแผ่นดิน

คุณสกุล อินทกุล

พิธภัณฑ์ จึงเป็นสถานที่รวบรวมสิ่งมีคุณค่าในด้านต่างๆ ของกลุ่มชน ในดินแดนต่างๆ และเป็นสิ่งที่แสดงถึงอีกบริบทหนึ่ง แห่งอารยธรรมความภาคภูมิใจ ของมนุษย์กลุ่มนั้น สําหรับในเมืองไทย เรามีพิพิธภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ทั้งของราชการ และเอกชน จัดทํารูปแบบดั้งเดิม และรูปแบบ ใหม่ ที่น่าตื่นตาตื่นใจในการศึกษาเที่ยวชม

สถานที่ล่าสุด ที่อยากแนะนําให้รู้จักกัน ในวันนี้คือพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่ง ที่เพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อสักปีเศษๆ บนใจกลางกรุงเทพมหานคร นั่นคือ “พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรม ดอกไม้” เป็นสถานที่ซึ่งรวบรวมเรื่องราววัฒนธรรมของดอกไม้ แห่งแรกของเมืองไทย และแห่งเดียวในโลก โดยจัดแสดงหลักฐาน ทางประวัติศาสตร์ และความเป็นมาเป็นไป ที่เกี่ยวข้องกับการจัดดอกไม้ จากอดีตถึง ปัจจุบัน ทั้งของเมืองไทย และเพื่อนบ้าน ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ ตั้งอยู่เลขที่ ๓๑๕ ซอยสามเสน ๒๘ ถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

เจ้าของ และผู้ริเริ่มรังสรรค์ พิพิธภัณฑ์ที่ แปลกใหม่แห่งนี้ขึ้นมาคือ คุณสกุล อินทกุล ศิลปินนักออกแบบจัดดอกไม้ชาวไทย ผู้มี ชื่อเสียงทางด้านนี้มาเนิ่นนาน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้แห่งนี้เกิดขึ้น เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคล เจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษาในวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ในฐานะ ที่ทรงเป็นองค์อัครศิลปิน พระผู้ทรงอนุรักษ์และส่งเสริมวิวัฒนาการแห่งงานศิลปกรรม และงานหัตถกรรมของชาติ รวมทั้งงาน วัฒนธรรมดอกไม้ไทย บนพื้นที่อันกว้างขวาง กว่า ๑ ไร่ มีจุดเด่นด้วยบ้านโบราณสไตล์ โคโรเนียล ที่มีอายุเก่ากาลนานถึง ๑๐๐ ปี สร้างขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

อย่าเพิ่งเข้าใจผิดคิดว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จัดแสดงเพียงแค่ดอกไม้นานาชนิดแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่นี่ไม่ใช่สวนดอกไม้สวยๆ ทั่วๆ ไป หากแต่เป็นที่รวบรวมชีวิต ความเป็นมา ทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ที่เกี่ยวข้องกับ ดอกไม้ ทั้งของประเทศไทย และอีกหลายชาติ ในทวีปเอเชีย เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาว่า ในอดีตที่ผ่านมา มีการใช้ดอกไม้ในวิถีชีวิต ของชนชาติต่างๆ อย่างไรบ้าง ในปัจจุบัน ความผูกพันของดอกไม้กับวิถีชีวิตของคนเราได้เริ่มลดน้อยถอยลง การจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ แห่งนี้ขึ้นมา เพื่อให้ท่านที่สนใจได้เรียนรู้ และ ต่อยอดออกไปไม่ให้สูญสลาย

คุณสกุลบอกว่า เขาเป็นคนชอบเดินทาง เป็นชีวิตจิตใจ ในทุกทริป เมื่อเดินทางไปถึง สถานที่แต่ละแห่ง เขาจะต้องแวะไปชมตลาด ดอกไม้ ของชุมชนนั้นๆ ก่อนเสมอ เพราะด้วย อาชีพนักจัดดอกไม้ จึงจําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องไปศึกษาให้เข้าใจวัฒนธรรมของแต่ละสถานที่ ก่อน ยกตัวอย่างเช่น งานดอกไม้ จะต้องอยู่ ในบริบทวัฒนธรรมของคนไทยเสมอ เช่น ร้อยพวงมาลัยเอาไว้อวยพร ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ไว้บูชาพระ หรือใช้ตกแต่งโต๊ะอาหาร รวม ทั้งไว้มอบให้แขกบ้านแขกเมือง เป็นต้น

ในอนาคต คุณสกุลวาดหวังไว้ว่า อยาก ให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นเสมือนสถาบัน ซึ่งเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับวัฒนธรรมดอกไม้ มีเวิร์คช็อป เรียนและ สอนจัดดอกไม้ ทั้งยังมีการให้ทุน เพื่อ ให้นักศึกษาได้ไปทําวิจัยต่อไปในอนาคตอีกด้วย

ภายในตัวอาคารงามงดทรงคุณค่า สไตล์โคโรเนียล โอบล้อมด้วยพันธุ์ไม้ น้อยใหญ่นานาชนิด อันแสนร่มรื่น พิพิธภัณฑ์ วัฒนธรรมดอกไม้แห่งนี้ จัดแบ่งห้องจัด นิทรรศการ ทั้งชัน ๑ และชั้น ๒ ออกเป็น ๒ ห้อง ได้อย่างงามสง่าน่าสนใจ

ห้องที่ ๑ ชื่อหอภาพดุสิต ห้องนี้จัดแสดงภาพถ่ายโบราณของงานดอกไม้ไทย ในอดีต ที่ค้นคว้า และเสาะแสวงหาจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพิ่มเสริมเติมแต่ง ด้วยภาพงานดอกไม้แบบไทยแท้แต่โบราณ ที่หาชมที่ไหนไม่ได้ เช่น ระย้าโคม จีน ดอกไม้ตาข่าย มาลัยเถาเครื่องแขวน งานพานพุ่ม งานพวกระย้าน้อย ระย้าสาม ชั้น กรวยอุปัชฌาย์ มีภาพการนําดอกไม้ มาประกอบขบวนรถอย่างสวยงาม ถือว่าเป็นขบวนรถบุปผชาติยุคเริ่มต้น ของกรุง รัตนโกสินทร์มาจนถึงทุกวันนี้

รวมทั้งภาพผลงานการจัดดอกไม้ของ กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ ซึ่งดํารงตําแหน่ง อธิบดีราชการฝ่ายใน ในแผ่นดินพระปิยะมหาราช ซึ่งท่านเป็นผู้มีพระปรีชาสามารถ ในการจัดดอกไม้ตกแต่งพระแท่น มณฑล ในพระราชพิธีสําคัญๆ รวมทั้ง ควบคุมการจัดดอกไม้ ตกแต่งพระทวาร พระบัญชรในพระที่นั่งต่างๆ ด้วย

นอกจากจะทําแบบโบราณแล้ว ท่านยัง ทรงคิดดัดแปลงการทําดอกไม้แบบใหม่ๆ อาทิแบบร้อยตาข่าย ร้อยเฟือง ติดโครงไม้ หุ้มผ้าขาว บันไดแก้ว ฟูกลิ่น กลิ่นคว่ํา กลิ่น ตะแคง กลิ่นจีน เป็นต้น ได้ทรงคิดทําโครง ลวดสีขาว และประดิษฐ์ดอกไม้ ให้มีรูปร่าง แปลกพิสดารงดงามออกไป เช่น ระย้าแปลง พวงแก้ว ทรงแปลงบันไดแก้ว เป็นรูปวิมาน พระอินทร์ วิมานแท่น เป็นต้น

ในห้องนี้ ยังมีภาพถ่ายโบราณอันทรง คุณค่า ภาพวิถีชีวิตของชาวเมือง และ งานสถาปัตยกรรมในอดีต ภาพที่มีคุณค่าหาใดเทียบคือ ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จากฝีมือการรังสรรค์ของ ม.ล.จิราธร จิรประวัติ ซึ่งหาชมที่ไหนไม่ได้

ห้องที่ ๒ ชื่อ โลกแห่งวัฒนธรรม ดอกไม้ ห้องนี้จัดแสดงตัวอย่างของงาน วัฒนธรรมดอกไม้ที่ทรงคุณค่า จากประเทศ ต่างๆ ทั่วโลก ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่องของงานวัฒนธรรมดอกไม้ ในทวีปเอเชียเช่น อินเดีย จีน ญี่ปุ่น บาหลี ลาว และธิเบต สําหรับส่วนของประเทศอินเดีย มีการประดับธงรังโกลี โดยนําด้ายมามัดกับดอกไม้สดมีการพับริบบิ้นประดับลูกปัด และพวงมาลัยดอกดาวเรือง

ในประเพณีการแต่งงานของคนอินเดียจะมีการนําเงินรูปีมาพับ แล้วร้อยเป็นพวง สําหรับคล้องคอเจ้าบ่าว หรือในส่วนของชาวบาหลี ก็มีการประดิดประดอยดอกไม้ เป็นศิราภรณ์ สวมเดินบนศีรษะของหญิงสาวประดับด้วยข้าวโพด ดอกไม้ประดิษฐ์ และของบูชาต่างๆ หรือในประเพณีของกัมพูชาก็มีวัฒนธรรมดอกไม้ ปรากฏอยู่ในภาพสลักนางอัปสรา ที่ปราสาทหินต่างๆ มงกุฎดอกไม้ จะประกอบด้วย ดอกไม้ตระกูลอากาเว่ ดอกมะพร้าว และมาลัยดอกลําดวน เป็นต้น

ที่ล้ําค่าอีกอย่างหนึ่งในห้องนี้คือ หนังสือ คัมภีร์ลับแห่งการจัดดอกไม้แบบโชกะ ของ อิเคโนโบะ รวมทั้งหนังสือม้วนโบราณ อายุกว่า ๒๕๔ ปี ที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๒๙๙ เป็นการ รวบรวมเรื่องของการจัดดอกไม้แบบอิเคบานะซึ่งมีความหมายถึง การดําเนินชีวิตด้วยการส่งผ่านทางดอกไม้ โดยการจัดดอกไม้ใช้ในการประกอบพิธีชงชาของชาวญี่ปุ่น การสืบทอดงานดอกไม้ของญี่ปุ่นจากวัด และจัดแสดงปิ่นปักผมดอกไม้ทองคํา จากบาหลี,เครื่องบูชาชื่อ “ทอร์มา” ในศาสนาพุทธ ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับดอกไม้จากธิเบต เป็นต้น

ห้องที่ ๓ ชื่อ อุโบสถแห่งดอกไม้ จัด แสดงบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่าง ป่าไม้ สายน้ํา ชุมชน และวัฒนธรรมดอกไม้ โดย คุณสกุล อินทกุล ออกแบบห้องนี้ด้วยการ จําลองป่า ของอุทยานแห่งชาติภูสวนทราย และจําลองอุโบสถของวัดศรีโพธิ์ชัย จังหวัด เลย มาผสมผสานเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว เมื่อได้เข้าไปแล้ว จะรู้สึกสงบ ร่มเย็น ด้วย บรรยากาศแบบป่าผสานวัดอย่างแท้จริง

ห้องที่ ๔ และห้องที่ ๕ ชื่อ หอมรดกวัฒนธรรมดอกไม้ จัดแสดงงานฝีมือทาง วัฒนธรรมดอกไม้ของไทย ทั้งเรื่องราวของ งานมาลัย งานเครื่องแขวน งานพานดอกไม้ งานบายศรี งานกระทง และงานใบตองแบบ ไทยแท้แต่โบราณ ตัวอย่างงานวัฒนธรรมดอกไม้ไทยร่วมสมัยในปัจจุบัน โดยใช้เนื้อหาบางส่วนจาก หนังสือ ดอกไม้ไทยวัฒนธรรม ดอกไม้แห่งชาติ

ส่วนชั้น ๒ ของอาคาร เมื่อขึ้นบันไดไป แล้ว จะแบ่งห้องออกเป็น

ห้องที่ ๖ ชื่อ ห้องปากกาและดินสอ จัดแสดงภาพร่างในอดีตบางส่วนของคุณสกุล ในงานต่างๆ ที่เคยสรรสร้างมา ที่น่าสนใจคือภาพร่างของงานตกแต่งดอกไม้สด สําหรับงาน พระราชทานเลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง ครั้งเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ และผลงานจากหนังสือ “ดอกไม้ไทย” ซึ่งคุณสกุลได้จัดพิมพ์ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๗ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒

ห้องที่ ๗ ชื่อ หัวใจแห่งงานจัดดอกไม้ สมัยใหม่ จัดแสดงปฐมบททั้ง ๙ แห่งงาน จัดดอกไม้สมัยใหม่ ซึ่งเจ้าของพิพิธภัณฑ์ คิดค้นขึ้น

กลับลงมาชั้นล่าง ในส่วนเรือนไทย หลังบ้าน ที่นี่คุณสกุล สร้างขึ้นเพื่อใช้สําหรับ สอนงานดอกไม้ สําหรับท่านที่สนใจ โดย การสอน มีการเปิดคอร์สในวันเสาร์แรก ของเดือน เป็นการเปิดสอนฟรีสําหรับเด็กๆ อายุ ๗-๑๔ ปี

วันเสาร์ที่สองของเดือน เปิดสอนสําหรับ บุคคลทั่วไป หลักสูตรที่สอนมีมากมาย ซึ่ง จะไม่ซ้ํากันในแต่ละเดือน ได้แก่ มาลัยสาม ชาย งานดอกไม้บูชาบาหลี พุ่มดอกไม้ชนิด ต่างๆ การจัดพาน อุบะทรงเครื่อง มาลัยแขก กระทงชนิดต่างๆ ถักตาข่ายดอกพุด ฯลฯ

นอกจากนั้น ยังมี “Living Exhibition” หอจัดแสดงงานมีชีวิต ที่ร่มรื่นไปด้วยพรรณไม้ หายากหลากหลายชนิด ที่ปลูกตามความเชื่อ ของไทยโบราณ ซึ่งคุณสกุล ลงทุนปลูก ขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด โดยเสาะแสวงหา และ รวบรวมไม้ดอกไม้ประดับมากคุณค่ามาปลูก ไว้ เช่น ดอกแก้ว ดอกพิกุล ดอกรัก จําปี จําปา มะลิ และดอกพุด รวมทั้งกล้วย ตานีดํา ที่นิยมใช้ในงานใบตองของไทย ในสมัยโบราณด้วย

ถัดไปคือสวนดอกไม้แสนงาม ที่ บรรจงแสวงหามาอย่างตั้งใจ ในความ งดงามอันล้ําค่า เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาชม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้ตื่นตาตื่นใจ กับธรรมชาติแห่งสีสันของดอกไม้นานา พันธุ์ เช่น กล้วยไม้แวนด้าหลากหลาย ตระกูลว่านเสน่ห์จันทร์แดง เสน่ห์จันทร์ ขาว ไผ่สีดํา ไผ่สีทอง เฟิร์นสไบนาง ดอกหน้าวัว ดอกพุด พระยาสัตบรรณ หมากผู้ หมากเมีย ปาริชาติ มะแว้ง ปักษาสวรรค์ ไอริส กล้วยแคระ หมาก แดง พลับพลึงสีชมพู บัวราชินี ดอกมะลิ ดอกแก้ว ดอกรักม่วง ฯลฯ

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ มี วิทยากรนําท่านชม ทุกชั้นทุกห้อง พร้อม คําอธิบายในทุกสิ่งอย่างครบครัน ด้วย ความรู้แห่งประวัติศาสตร์ และความ เป็นมา ในเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับดอกไม้ได้อย่างแจ่มชัด และร้างไร้ข้อสงสัย

ที่นี่ คือมิติใหม่ของพิพิธภัณฑ์ไทย ที่น่าสนใจ น่าศึกษา และน่าทัศนาอีกแห่งหนึ่ง ก่อนเข้าไป และหลังกลับ ออกมา ความรู้สึกของคุณจะเปลี่ยนไป

สําหรับความล้ําค่าของวัฒนธรรม ดอกไม้ไทย มรดกไทยแท้แต่บรรพกาลที่ซุกซ่อนตัวเองอยู่อย่างเกริกไกร ทรงคุณค่าในวันนี้ ณ ที่แห่งนี้

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ (The Museum of Floral Culture)

๓๑๕ ซอยสามเสน ๒๘ เขตดุสิต กรุงเทพฯ เลี้ยวเข้าซอยสามเสน ๒๘ ไป ๕๐๐ เมตร เลี้ยว ซ้ายเข้าแยกซอยองครักษ์ ๑๓ เข้ามาประมาณ ๓๐ เมตร พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ อยู่ทางขวามือ เปิดให้ชมทุกวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุด วันจันทร์) ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ – ๑๘:๐๐ น.

www.floralmuseum.com/mfcmap.pdf

บัตรเข้าชมราคาท่านละ ๑๕๐ บาท
ค่าชุดอาหารว่าง น้ําชา และขนม ท่านละ ๒๔๐ บาท
หากซื้อรวม เหลือเพียงท่านละ ๓๕๐ บาท

สอบถามรายละเอียด
โทร. ๐ ๒๖๖๙ ๓๖๓๓
โทรสาร. ๐ ๒๖๖๙ ๓๖๓๒

About the Author

Share:
Tags: พิพิธภัณฑ์ / ฉบับที่ 4 / ดอกไม้ / พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ / สกุล อินทกุล /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ