Sunday, October 6, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

ความเชื่อ & ศรัทธา แห่งบาหลี

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 67
เรื่อง/ภาพ: กาญจนา หงส์ทอง

ความเชื่อ

& ศรัทธา แห่งบาหลี

ไม่ว่าคุณจะไปบาหลีเมื่อไหร่ แทบจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในผู้คนของชาวเกาะแห่งนี้ อย่างอื่นอาจจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ยุคที่สายลมพัดพาโลกดิจิทัลถาโถมใส่คนทั้งโลก แต่ราวกับว่าทำอะไรความเชื่อและความศรัทธาของชาวบาหลีไม่ได้ ทุกวันนี้เราจึงยังคงเห็นชาวบาหลีแต่งกายในชุดพื้นเมืองทั้งหญิงชายแบกตะกร้าเทินไว้บนศีรษะ เดินไปทำบุญที่วัดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ก่อนจะมาเป็นบาหลี

หากย้อนไปดูเรื่องราวในด้านความเชื่อและศาสนาของบาหลี ก็จะพบว่าราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ ศาสนาฮินดูได้เข้ามาเผยแผ่ในบาหลีและกลายเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ไปในที่สุด ซึ่งยุคนี้เองที่เจ้าจากเกาะชวาเข้ามามีอิทธิพลครอบครองเกาะบาหลี ต่อมาราวปี ค.ศ. ๑๘๔๖ ดัตช์ก็เริ่มส่งกองทหารเข้าสู่บาหลี และเข้ายึดครองอาณาจักรต่างๆ เป็นลำดับ ด้วยกองทหารที่มีกำลังมากกว่า อาวุธทันสมัยกว่า จึงเข้าล้อมเมือง เข้าปิดอ่าว ไล่เรียงทีละเมือง ทีละอาณาจักร บีบบังคับประมุขของเมืองให้ยอมจำนน ในที่สุดทั้งประมุขและราชวงศ์ทั้งหมดจึงหาทางออกด้วยการยอมพลีชีพด้วยกริชของตัวเอง จนเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๑๑ เกาะบาหลีทั้งหมดก็ตกเป็นของดัตช์โดยสิ้นเชิง และยังเป็นอาณานิคมเรื่อยมากระทั่งถึงปี ค.ศ. ๑๙๔๙ จากนั้นอินโดนีเซียทั้งหมดจึงได้รับอิสรภาพในที่สุด

และแม้ว่าหมู่เกาะแห่งนี้เคยถูกปกครองโดยประเทศทางฝั่งยุโรป แต่อารยธรรมต่างๆ ของทางยุโรปกลับไม่สามารถลบล้างวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวบาหลีลงได้เลย โดยเฉพาะกับความศรัทธาในศาสนา ผู้คนชาวบาหลียังคงดำรงวัฒนธรรมดั้งเดิม มีการทำบุญไหว้พระเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ กระทั่งวันนี้บาหลีได้กลายเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเกาะแห่งเทพเจ้าทางศาสนาฮินดูของชาวบาหลี ที่งดงามไปด้วยความงามทางธรรมชาติ ในอ้อมกอดของหมู่มวลภูเขาศักดิ์สิทธิ์และทุ่งข้าวเขียวขจี ผสมผสานกันอย่างกลมกลืนระหว่างวัฒนธรรมและจารีตประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ 

เกาะแห่งชาวฮินดู

 บาหลีเป็นเกาะแห่งเดียวในประเทศอินโดนีเซียที่ผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียกว่า ๒๗๐ ล้านคนนับถือศาสนาอิสลาม ทุกวันนี้ชาวเกาะบาหลี ๙๕% เป็นชาวฮินดู นอกนั้นเป็นชาวมุสลิม คริสต์ และพุทธ โดยชาวบาหลีสืบเชื้อสายมาจากหนึ่งในชนเผ่าที่มีอยู่กว่า ๒๕๐ เผ่าของประเทศอินโดนีเซีย บนเกาะบาหลีมีผู้คนอาศัยอยู่กว่า ๔ ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของเกาะตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

อย่างไรก็ตาม มีการเพิ่มจำนวนของชาวมุสลิมอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการอพยพเข้ามาจากเกาะชวา เกาะลอมบอก และพื้นที่อื่นๆ ในอินโดนีเซีย เพื่อเข้ามาหางานทำ ชาวบาหลีมีความเป็นมิตรและน้ำใจไมตรีสูงมาก อีกทั้งยังคงยึดหลักประเพณีแบบดั้งเดิมในการดำรงชีวิต คนบาหลีแท้ๆ ซื่อสัตย์ ใจดี ยิ้มง่าย เชื่อในเรื่องเวรกรรมบาปบุญ นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนควรให้ความเคารพต่อประเพณี วิถีชีวิต ตลอดจนทัศนคติของชาวบาหลี

ทุกเช้าต้องทำกระทงเครื่องหมู่บูชา

วิถีชีวิตอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของชาวบาหลีคือ ทุกเช้าจะมีการทำกระทงเครื่องหมู่บูชา ซึ่งกระทงนี้เรียกกันว่า Canang ผู้หญิงทุกบ้านมักจะทำกระทงเป็นกันทุกคน และใช้เวลาทำกระทงหนึ่งราวๆ ๒-๓ นาทีเท่านั้น แต่ละวันต้องทำไม่ต่ำกว่า ๑๐ กระทง  บางบ้านครอบครัวใหญ่ทำกันวันละเป็นร้อยกระทง

นั่นเพราะจุดที่เขาจะวางกระทงนั้นคือ ทุกมุมในบ้าน ไม่ใช่แค่ที่ศาลพระภูมิในบ้าน รูปปั้น ลานโล่ง ตามทางเดินและหน้าประตูเข้าบ้านเท่านั้น แต่ยังวางในห้องครัว ห้องนอน พวกที่มีร้านค้าก็จะวางบริเวณหน้าร้าน บนถนน นั่นเป็นเหตุผลให้บาหลีคือ เกาะที่ทุกที่มีกระทง และทุกเช้าชาวบาหลีจะทำกระทง และเดินนำไปวางตามจุดต่างๆ ในบริเวณบ้าน แต่หากใครไม่อยากทำ สมัยนี้ในตลาดทุกแห่งของบาหลีจึงมีกระทงสำเร็จรูปขายด้วย

ขั้นตอนการทำกระทงเครื่องหมู่บูชา ทุกบ้านก็จะนำส่วนต่างๆ ของต้นมะพร้าวมาใช้ และมีดอกไม้ ๕ สีเพื่อเตรียมมาวางในกระทง นอกจากนี้ก็จะมีข้าวสุกและธูปหนึ่งดอกใส่ในกระทงด้วย ในส่วนของดอกไม้ ๕ สีนั้น ให้วางสีเขียวไว้ตรงกลาง  ล้อมรอบด้วยสีส้ม ถ้าไม่มีใช้สีเหลืองแทนวางด้านซ้าย สีม่วงหรือถ้าไม่มีใช้ดอกไม้สีน้ำเงินวางด้านบน สีชมพูหรือใช้สีขาวแทนได้วางด้านขวาของกระทง และสีแดงวางด้านล่าง ซึ่งดอกไม้เหล่านี้สำหรับบูชาเทพองค์ๆ ต่างที่ชาวบาหลีนับถือ เช่น พระพรม พระศิวะ พระนารายณ์ พระอิศวร พระวิษณุ

ชาวบาหลีเชื่อกันว่า การบูชาเทพเจ้าทุกวันแบบนี้จะทำให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นในชีวิต และเชื่อว่าหากไม่ทำเทพเจ้าจะลงโทษ

ทำบุญแทบทุกวัน

ไม่ใช่แค่ทำกระทงทุกวันเท่านั้น แต่ชาวบาหลียังไปทำบุญอย่างสม่ำเสมอ สะท้อนให้เห็นความหนักแน่นในศรัทธาของชาวบาหลีที่ยึดมั่นต่อเทพเจ้าของพวกเขา ผู้คนเชื่อในเรื่องของจิตวิญญาณ และนับถือดวงวิญญาณของบรรพบุรุษและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย บาหลีจึงเป็นเกาะที่มีวัดเล็กวัดน้อยกระจัดกระจายอยู่กว่า ๑,๐๐๐ วัด ที่เราจะเห็นภาพผู้คนเดินไปทำบุญที่วัดได้แทบทุกวัน ฝ่ายหญิงจะนุ่งเสื้อและผ้าถุงแนบตัว เทินถาดพานดอกไม้ ผลไม้ และของทำบุญไว้บนศีรษะ ส่วนฝ่ายชายก็นุ่งโสร่งใส่เสื้อเชิ้ตสวมสบาย มีผ้าโพกศีรษะ ทำแบบนี้กันทุกเมื่อเชื่อวัน

ในมุมของนักท่องเที่ยว หากไปเยือนวัดที่บาหลี แนะนำว่าให้แต่งตัวเรียบร้อย ไม่ใส่กางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสั้น แต่โดยปกติแต่ละวัดจะมีโสร่งให้ยืมบริเวณหน้าวัดอยู่แล้ว และทุกคนต้องใช้ผ้าชิ้นเล็กๆ คาดเอวเหมือนเข็มขัด โดยหากเข้าไปในวัดขณะที่กำลังประกอบพิธีทางศาสนาอยู่ ควรนั่งชมอยู่ห่างๆ และไม่ยืนค้ำคนที่นั่งไหว้อยู่ หรือยืนค้ำเครื่องหมู่บูชาของชาวบ้าน นอกจากนี้เขายังห้ามผู้หญิงเข้าวัดในระหว่างมีประจำเดือน เพราะเขาถือว่าวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

ที่จริงบาหลียังมีเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อความศรัทธาที่น่าสนใจอีกมากมาย ลองไปดูแล้วจะรู้ว่าสายลมแห่งโลกาภิวัตน์และมรสุมแห่งโลกดิจิทัลแทบไม่มีผลให้บาหลีเปลี่ยนแปลงเลย นี่คือเกาะแห่งศรัทธาที่ทะนุถนอมความเป็นตัวตนได้อย่างคงเส้นคงวา

About the Author

Share:
Tags: ท่องเที่ยว / การท่องเที่ยว / วัด ประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น / ฉบับที่ 67 / บาหลี / bali / travel / เที่ยว /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ