นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 17
เรื่อง : ปริญญา ชาวสมุน
ภาพ : ปริญญา ชาวสมุน, โบราณสถานค่ายตากสิน
๗ โบราณสถาน
ค่ายตากสิน
ประวัติศาสตร์ที่ถูกปลุกให้ตื่น
ประวัติศาสตร์ที่เปื้อนคราบน้ำตามักจะถูกลบให้ค่อยๆ เลือนหายไปด้วยกระบวนการใดกระบวนการหนึ่ง การไม่ใส่ใจ ไม่สนใจก็นับเป็นวิธีสลายการรับรู้ที่นิยมใช้กัน ตามจังหวัดที่เคยเป็นพื้นที่พิพาทในอดีตหรือแม้กระทั่งเคยถูกยึดครองโดยชนชาติอื่น มักจะหลงเหลือร่องรอยความอัปยศอดสู จนหลายคนทำใจยอมรับไม่ได้…แล้วในที่สุดก็พยายามลบเลือน
แต่ไม่ใช่กับที่กองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ กองพลนาวิกโยธินหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หรืออีกชื่อว่า ‘ค่ายตากสิน’ จ. จันทบุรี เมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุคนั้นกองทัพฝรั่งเศสไล่ล่าอาณานิคมแถบอินโดจีน และทหารฝรั่งเศสได้กรีฑาทัพเข้ามายึดครองเมืองจันทบุรี หลังจากนั้นทหารฝรั่งเศสได้ใช้พื้นที่บริเวณค่ายตากสินในปัจจุบันเพื่อเป็นกองบัญชาการ โดยก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างทางการทหารไว้หลายหลังจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ฝรั่งเศสย้ายไปยึดครองเมืองตราด แล้วคืนเมืองจันทบุรีให้แก่ทางการไทย แน่นอนว่าสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นยังคงอยู่ เป็นทั้งร่องรอยประวัติศาสตร์และรอยแผลที่จันทบุรีเคยตกอยู่ใต้อาณัติชาติตะวันตก
วันเวลาผ่านไป คนที่มากราบไหว้สักการะศาลหลักเมืองจันทบุรี หรือศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ย่อมรู้ดีว่าศาลทั้งสองแห่งตั้งอยู่ด้านหน้าค่ายตากสิน ทว่ามีไม่มากนักที่รู้ว่าภายในนั้นมีโบราณสถานหลักๆ ถึง ๗ หลัง…อาจดูเหมือนเป็นความบอบช้ำ แต่ในทางกลับกัน นี่คือประวัติศาสตร์ของชาติไทยอีกบทหนึ่งที่พวกเราหลีกหนีไปไม่พ้น
อาคารหลังแรก อยู่ด้านหน้าใกล้ประตูทางเข้าค่าย คือ อาคารกองรักษาการณ์ทหารฝรั่งเศส อาคารทรงสี่เหลี่ยม ก่ออิฐฉาบปูนเรียบมีช่องระบายลม ทาสีน้ำตาลแดง แม้เป็นอาคารของทหาร แต่มีกลิ่นอายสถาปัตยกรรมยุโรปที่สวยงามมากทีเดียว อดีตอาคารหลังนี้ถูกทิ้งร้างจนทรุดโทรม แต่ปัจจุบันคือส่วนจัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕
ถัดไปที่อาคารข้างเคียง คือ อาคารที่พักทหารรักษาการณ์ฝรั่งเศส ภายหลังจากกองทัพเมืองน้ำหอมได้ละทิ้งค่ายนี้ไป อาคารหลังนี้ก็ถูกใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น เป็นที่ตั้งชุมนุมพลธรรมจิต ประดิษฐานองค์พระประธานเพื่อเป็นศูนย์รวมทางใจของพุทธศาสนิกชนส่วนด้านหลังใช้เป็นที่พักทหารรักษาการณ์ของกองพันฯ และด้วยความที่อาคารหลังนี้มีลักษณะเหมาะสมแก่การพักผ่อนคล้ายบ้านปัจจุบันจึงได้รับการซ่อมบำรุงเพื่อเป็นห้องสมุดนับเป็นห้องสมุดในค่ายทหารที่น่าใช้บริการมากทีเดียว
คนที่มากราบไหว้สักการะศาลหลักเมืองจันทบุรีหรือศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินย่อมรู้ดีว่าศาลทั้งสองแห่งตั้งอยู่ด้านหน้าค่ายตากสินทว่ามีไม่มากนักที่รู้ว่าภายในนั้นมีโบราณสถานหลักๆ ถึง ๗ หลัง
ส่วนอาคารหลังโตทรงเหลี่ยมดูเรียบง่ายที่อยู่ถัดไปอีก แม้ภายนอกจะราบเรียบจนรู้สึกว่าไม่น่าสนใจ แต่รายละเอียดบางอย่างเช่นบานประตูก็ชวนมองมิใช่น้อย อาคารที่ว่านี้คือ อาคารคลังพัสดุของทหารฝรั่งเศส ประโยชน์ใช้สอยในอดีตก็ตามชื่อ ดังนั้นการตกแต่งจึงไม่จำเป็นต้องหรูหรานัก ด้วยความใหญ่โตของอาคารพัสดุทำให้ปัจจุบันถูกปรับปรุงเป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการประวัติเมืองจันทบุรีและการบูรณะโบราณสถานในค่ายตากสิน
อาคารหลังนี้เคยใช้เป็นกองบังคับการกองพันทหารราบที่ ๒ อยู่ระยะหนึ่งต่อมาใช้เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ค่ายตากสิน
หากมองจากอาคารคลังพัสดุไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จะเห็นอาคารสีมัสตาร์ดทรงสี่เหลี่ยม ก่ออิฐฉาบปูนเรียบที่นี่คือ อาคารกองบัญชาการของทหารฝรั่งเศสนับเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่ชัดเจนที่สุดในบรรดาโบราณสถานทั้งหมด ทั้งรูปทรงลวดลาย และการประดับประดา หลังจากสิ้นสุดการล่าอาณานิคม อาคารหลังนี้เคยใช้เป็นกองบังคับการกองพันทหารราบที่ ๒ อยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาใช้เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ค่ายตากสิน และปัจจุบันได้รับการบูรณะเป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัชกาลที่ ๘